คอลัมน์ » เล่าเล่นๆ… เป็น… ธรรมทาน

เล่าเล่นๆ… เป็น… ธรรมทาน

6 พฤศจิกายน 2023
21   0

เราได้พูดกันถึงเรื่องสัมมาทิฏฐิกันมาแล้วว่าในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเราต้องวางสัมมาทิฏฐิไว้เป็นเบื้องต้น เพราะหากไม่เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติดีพอแล้ว ต่อให้ตั้งใจปฏิบัติดีเพียงใด ก็ไม่อาจเข้าถึงธรรมได้ เพราะอาจหลงทางเป็นมิจฉาสมาธิได้

เปรียบเหมือนการกลัดกระดุม หากกลัดเม็ดแรกผิดแล้ว เม็ดต่อไปก็ไม่อาจถูกได้ การปฏิบัติสมาธิก็เช่นกัน หากไม่ศึกษาให้ดีก่อนก็อาจหลงปฏิบัติผิดได้เช่นกัน เพราะหนทางในการปฏิบัติสมาธินั้น มีทั้งหลุมพลางและขวากหน๋ามอย่างมากมาย ที่ล้วนต้องพบปะทั้งสิ้น และแม้จะเข้าใจหนทางการปฏิบัติดีแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถไปถึงทางได้โดยง่าย ดังนั้น เก่งอย่างเดียวก็อาจพลาดได้เพราะอัตตาตน หนทางนี้จึงต้องมีกัลยาณมิตรคอยชี้แนะด้วย นั่นคือ ควรมีครูผู้ฝึกสอนให้รู้แนวทางนั่นเอง

เราจะมารู้จักหนทางการปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางและจะได้เป็นหลักยึดในการหาครูบาอาจารย์ได้ไม่ผิดทาง เพราะในปัจจุบันนี้มีผู้สนใจการปฏิบัติธรรมกันมาก และสำนักปฏิบัติก็ผุดขึ้นมามากตามไปด้วย ซึ่งในสื่อโซเชียลเองก็สามารถสืบค้นได้นับไม่ถ้วนและมีหลายสำนักที่สอนผิดเพี้ยนไปจนแทบจะหาทางธรรมไม่พบก็มี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาหลักที่ถูกต้องไว้เป็นเครื่องป้องกันตนไม่ให้หลงไปเข้าฝึกปฏิบัติผิดทางเสียเอง

อันดับแรกต้องเข้าใจคำสอนที่เป็นแก่นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้คือ ละชั่ว ปฏิบัติ และทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว คือบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและความยึดถือในอัตตาตัวตน ด้วยการถือปฏิบัติใน ทาน ศีล ภาวนา นี่เป็นหลักยึดเบื้องต้น หรืออาจกล่าวได้ว่านี่เป็นข้อปฏิบัติที่ควรทำสำหรับฆราวาส หรือชาวบ้านอย่างเราๆ แต่เราก็ยังเห็นพระสงฆ์ท่านก็มีการให้ทานด้วยเข่นกัน

และยังมีข้อปฏิบัติอีกระดับที่เข้มข้นขึ้นไป เรียกว่าไตรสิกขาคือศีล สมาธิ ปัญญา อาจมีผู้กล่าวว่านี่เป็นข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่ความจริง ชาวบ้านอย่างเราก็สามารถปฏิบัติได้ไม่ต่างกับที่พระสงฆ์ท่านก็สามารถให้ทานได้ หากจะว่าไปทั้งสองทางล้วนไม่ต่างกันเพราะเมื่อถึงเวลาจริง ผู้ปฏิบัติที่มีใจชุ่มด้วยกุศลล้วนมีความอิ่มใจที่ได้ให้ทานพร้อมไปกับการรักษาศีล เมื่อมีศีลมั่นคงย่อมใฝ่หาการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญาตามมา

ทานและศีลดูเหมือนจะง่ายต่อการเข้าใจว่า ทานคือการให้และศีลเราก็จะมุ่งกันที่ศีล ๕ แต่จริงหรือว่าเข้าใจกันถูกต้อง วันนี้เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องนี้กันเพราะยังไม่ลงในรายละเอียดกัน ส่วนสมาธิทุกคนเข้าใจว่าคือการทำกรรมฐาน อันนี้ก็ใช่อยู่ แต่สมาธิในการงานและสมาธิในการใช้ชีวิตประจำวัน เราก็เรียกสมาธิ แล้วอย่างไรถึงจะทำให้เข้าถึงคำว่าปัญญาได้ เพราะท่านว่าสมาธิมาปัญญาเกิด แน่ะ แล้วปัญญาละใช่ความฉลาดไหม

ในหนทางธรรม ปัญญาในทางธรรมกับปัญญาในทางโลกกลับต่างกัน ปัญญาในทางโลกคือความฉลาดในการทำมาหากิน ฉลาดในการคิดเข้าสังคมทางโลก นี่ถือว่าเป็นความฉลาด เป็นฉลาดรู้ไปทั่วๆ รู้ไปได้ทั้งโลก แต่ขาดการรู้ในตัวเองว่าก่อนมาเป็นตัวตนนั้นตนมาจากไหน ขาดการรู้ว่าข้างหน้าตนจะเป็นอย่างไร ขาดการรู้ว่าการเป็นอยู่นั้นทุกข์หรือสุขอย่างไร แต่ปัญญาในทางธรรมนั้นกลับไปศึกษาเข้าในตัวของตน รู้ตัวของตน แต่เมื่อเข้าใจตนแล้ว กลับเข้าใจได้ทั้งโลก นี่คือปัญญาในทางธรรม

ซึ่งการจะเข้าถึงปัญญานี้ได้จึงต้องรู้จักสมาธิก่อนจึงจะมีปัญญาเกิดขึ้นได้ ท่านเรียกปัญญาตัวนี้ว่า ญาณ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสมาธิที่ตั้งมั่นในระดับ ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวไม่หวั่นไหววอกแวก ซึ่งนั่นหมายถึงสมาธิลึกกว่าสมาธิปกติที่ใช้ในการทำงาน และการใช้สมาธิในระดับลึกแบบนี้ได้จึงต้องมีการฝึก ท่านเรียกว่าการฝึกจิต เพื่อให้ได้จิตที่มีคุณภาพที่มั่นคง ไม่ไหวไปด้วยอารมณ์ต่างๆ และมีกำลังพอให้เกิดญาณอันเป็นเครื่องรู้นี้ได้ ท่านเรียกว่ากรรมฐาน

กรรมฐาน คือการทำฐานที่ตั้งให้กับใจสามารถทำได้ 2 แบบ คือ สมถะ และวิปัสสนา จึงมีชื่อเรียกว่า สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน นี่เป็นสองแบบ แต่ไม่ว่าจะทำแบบไหนก่อน สุดท้ายก็ต้องมาลงที่เดียวกัน คือต้องเกื้อกูลแก่กัน ผู้ทำสมถะก่อนเมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้วจึงนำมาทำวิปัสสนาเพื่อให้ได้ญาณอันเป็นเครื่องรู้ ส่วนผู้ที่ทำวิปัสสนาก่อนเมื่อทำไปจนจิตตัดอารมณ์ทั้งหลายได้แล้ว จึงมีกำลังของจิตขึ้น จิตตั้งมั่นจนดิ่งลงในสมาธิไม่หวั่นไหวจึงเกิดญาณตามมา นี่จึงต้องอาศัยกันอย่างนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในครั้งต่อไป