ข่าวทั่วไป » รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลื้มการสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมร่วมสมัยในงานแสดงผลงานพุทธศิลป์สมโภช 250 ปี วัดสุทธวราราม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลื้มการสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมร่วมสมัยในงานแสดงผลงานพุทธศิลป์สมโภช 250 ปี วัดสุทธวราราม

29 ธันวาคม 2021
607   0

วันที่ 26 ธันวาคม 2564 ที่วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดสุทธิวราราม และขัวศิลป์ จังหวัดเชียงราย ได้เปิดนิทรรศการพุทธศิลปกรรมร่วมสมัยเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปี วัดสุทธิวรราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมีผลงานพุทธศิลป์จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย

  1. ชุด “พุทธจักษุ ดวงตาแห่งการตื่นรู้” ผลงาน ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงราย จำนวน 12 ภาพ โดยเป็นภาพจิตรกรรมแสดง “ดวงตาแห่งพุทธะ” คือ พระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้าที่หยั่งรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง ทรงเปิดดวงตาแห่งเวไนยสัตว์ให้เห็นความจริงของจักรวาล ได้ตื่นรู้และเบิกบาน
  2. ชุด “เส้นทางสู่มรรค” ผลงาน พระปัญญาชัย พุทธรกขิโต เป็นประติมากรรมปูนปั้นของใบเสมา ที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม แสดงถึงมรรคมีองค์ 8 ผ่านเรื่องราวของสัตว์สัญลักณ์และหนทางไปสู่มรรคผลนิพพาน
  3. ชุด “ทศบารมีแห่งแผ่นดิน ผลงาน พระปัญญาชัย พุทธรกขิโต เป็นประติมากรรมงานปูนปั้นจำนวน 10 ผลงาน ที่แสดงถึง “ทศบารมี” บารมีอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์และพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมโดยเป็นผลงานที่มีความวิจิตรสวยงามสมกับเป็นทศบารมีแห่งแผ่นดิน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดนิทรรศการสมโภช 250 ปี วัดสุทธิวรารามดังกล่าว โดยนายอิทธิพล ระบุว่า “ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความรุ่งเรือง ทางมรดกทางวัฒนธรรมในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งศิลปะเหล่านั้นอยู่ในวัด ดังนั้น ภาครัฐจึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยดำเนินการ ส่งเสริม อนุรักษ์ และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า “พุทธศิลป์บ่งบอกถึงอารยธรรมของพระพุทธศาสนาที่ได้มาจากความศรัทธาเลื่อมใสแล้วสรรค์สร้างผลงานออกมา เพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความรู้ และแนวปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งศิลปะเป็นเครื่องจรรโลงใจให้คนเข้าถึงความดีงามและสัจธรรม”

พระเมธีวชิโรดม (ว.วิชรเมธี) กล่าวว่า “พุทธศิลป์เป็นเครื่องสื่อใจให้คนได้เข้าใจถึงหลักพุทธธรรมผ่านความงดงามเพื่อเข้าถึงความดีและความจริง การสร้างสรรค์พุทธศิลป์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ยังคงปรัชญาแห่งการเข้าถึงธรรมะ”

ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า “ศิลปะเป็นความงดงามภายนอกที่สะท้อนเข้าถึงความงามภายใน ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาคนที่เริ่มต้นจาก “จิตใจ ” เมื่อคนมีจิตใจที่ดีงาม และร่วมขับเคลื่อนพลัง “บวร” แล้ว การพัฒนาสังคมไทยย่อมไปสู่ความยั่งยืนที่มีความงดงามทั้งด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม

ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชื่อดัง กล่าวว่า “ผลงานชุด “พุทธจักษุ ดวงตาแห่งการตื่นรู้”  ใช้เวลาในสร้างสรรค์จำนวน 7 ปี โดยเป็นงานเขียนภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่มีความคงทน สามารถดำรงอยู่ได้นานหลายร้อยปี ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากคำกล่าวที่ว่า “ดวงตาเห็นธรรม” ดังนั้น จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างผลงานเหล่านี้ถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างสรรค์ศิลปกรรมร่วมสมัยในสังคมไทย”

พระปัญญาชัย พุทธรกุชิโต พระสงฆ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานชุด “เส้นทางสู่มรรค” และ “ทศบารมีแห่งแผ่นดิน” กล่าวว่า “ตนเองเป็นพระสงฆ์ที่เติบโตกับงานพุทธศิลป์ในวัด จึงไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อสร้างสรรค์และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีความงดงาม เมื่อได้สร้างผลงานชุดนี้ จึงคิดว่า ขอถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงทศบารมีธรรมอันเป็นพลังของแผ่นดิน”

พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสสมโภช 250 ปี วัดสุทธิวราราม (พ.ศ.2314-2564) คณะสงฆ์และประชาชนอยากเห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและการสร้างผลงานพุทธศิลป์ จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่าออกมา เพื่อให้คนได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะไทยและการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา”

โดยนิทรรศการพุทธศิลป์ สมโภช 250 ปี วัดสุทธิวราราม ดังกล่าว จะมีไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 จากนั้นจะนำไปติดตั้งถาวรภายในอุโบสถวัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในงานสมโภชดังกล่าว ยังมีการแสดง “งานวัดย้อนยุค วัฒนธรรม 4 ภาค” การจำหน่ายสินค้าชุมชน และ Street Food ย่านถนนเจริญกรุง เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ด้วย

 

นิทรรศการพุทธศิลปกรรม ในโอกาสสมโภชอาราม ๒๕๐ ปี

วัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

ชุด “พุทธจักษุ : ดวงตาแห่งการตื่นรู้” ผลงาน ทรงเดช ทิพย์ทอง จำนวน ๑๒ ภาพ

ชุด “เส้นทางสู่มรรค” ผลงาน พระปัญญาชัย พุทธรกขิโต จำนวน ๘ ผลงาน

ชุด “ทศบารมีแห่งแผ่นดิน” ผลงาน พระปัญญาชัย พุทธรกขิไต จำนวน ๑๐ ผลงาน

คำอธิบายผลงานจิตรกรรมชุด “พุทธจักษุ : ดวงตาแห่งการตื่นรู้” ผลงานทรงเดช ทิพย์ทอง

ภาพที่ ๑ ดวงตาแห่งพุทธะ

ดวงตาแห่งพุทธะ คือ พระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้าที่หยั่งรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่ง พระองค์ทรงเปิดดวงตาแห่งเวไนยสัตว์ให้เห็นความจริงของจักรวาล ตื่นรู้ และเบิกบาน

ภาพที่ ๒ วัฎสงสาร

วัฎสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิดของโลกและจักรวาลที่เหล่าเวไนยสัตว์ลุ่มหลงคิดว่าเป็นสิ่งสวยงามดุจราชรถ ร้อยรัดพันเกี่ยวสรรพสิ่งเอาไว้ในท่ามกลางเวลาและจักรวาล

ภาพที่ ๓ ศีล

ศีล คือ จิตสำนึกแห่งความดีงามในการอยู่ร่วมกัน เป็นหลักมนุษยธรรมเพื่อให้สังคมเกิดสันติสุข การจะข้ามพ้นวัฏสงสารมนุษย์จำเป็นต้องรักษาศีลเพื่อความรักในตนเองและเพื่อนมนุษย์

ภาพที่ ๔ สมาธิ

สมาธิ คือสภาวะแห่งจิตที่มีความสงบสุข ตั้งมั่นในหนทางแห่งอริยมรรค จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำไปความรู้แจ้ง การสำรวมระวังจิตและมีสติทุกชั่วโมงยาม คือ พลังแห่งการตื่นรู้

ภาพที่ ๕ ปัญญา

ปัญญา คือ การรู้เท่าทันกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง หยั่งรู้เหตุและผลที่นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เป็นธรรม ปัญญาเป็นรัตนะที่ส่องสว่างน้ำพานรชนไปสู่ความรู้แจ้ง

ภาพที่ ๖ กรรม กิเลส วิบาก

กรรมเกิดขึ้นจากเจตจำนงภายในตัวเรา ปรุงแต่งด้วยกิเลสตัณหา จึงส่งผลให้เกิดความสุข ความทุกข์หรือวิบากตามมา การเดินข้ามผ่านกรรม กิเลส วิบากด้วยสติจึงเป็นหนทางสู่มรรคา

ภาพที่ ๗ ทศบารมี

การบำเพ็ญบารมีหรือคุณธรรมอันทำได้ยากยิ่ง ๑๐ ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา เป็นการก้าวเดินเพื่อไปสู่ฝั่งแห่งการตื่นรู้

ภาพที่ ๘ ทิพยวิมาน

ทิพยวิมาน เป็นความสุขในระหว่างทางสู่การตื่นรู้ที่เวไนยสัตว์ปรารถนา คือ มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยมนุษยธรรมและเทวธรรม คือ หิริ โอตัปปะ ละอายต่อการทำชั่ว

ภาพที่ ๙ ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท คือ วงจรแห่งดับทุกข์สร้างสุขขึ้นในใจ เพราะจำกัดซึ่งอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ความเศร้าโศรก เสียใจ ข้ามพ้นไปสู่ฝั่งโน้นอันเกษมศานต์

ภาพที่ ๑๐ อนิจจัง

อนิจจัง คือ ความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน สิ่งใดมีชีวิต สิ่งนั้นย่อมมีวันแตกสลาย สิ่งที่งดงาม ก็แปรเปลี่ยนซึ่งเป็นสัจธรรมของจักรวาล เมื่อมนุษย์แสวงหาแน่นอน ความไม่ตาย จึงเป็นทุกข์ เมื่อไม่ยึดติดกับความเกิดตับ ใจจึงสงบ ร่มเย็น และเป็นสุข  

ภาพ ๑๑ ทุกขัง

ความทุกข์เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เมื่อเรามองเห็นประโยชน์ระยะสั้น ไม่เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ยึดมั่นในอัตตาตัวตน ความทุกข์จึงเกิดขึ้นไป ขอเพียงปล่อยวาง ทำจิตให้ว่าง ความสุขเล็ก ๆ ก็สัมผัสได้

ภาพที่ ๑๒ อนัตตา

สิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนประกอบขึ้นด้วยเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ผันแปรไม่แน่นอนตามสภาวะนั้น ๆ อย่าเป็นทุกข์เสียใจกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน รูปปรากฏเพียงชั่วคราว ที่เหลือคือความว่าง ความว่างคือรูป รูปคือความว่าง อนัตตา

คำอธิบาย ประติมากรรม ชุดใบเสมา “เส้นทางสู่มรรค” ผลงานพระปัญญาชัย พุทธรักขิโต 

สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นที่ถูกต้อง

มีความเห็นขอบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต มองเห็นสัจธรรมและความเป็นจริงด้วยปัญญา ดุจดั่งพญาครุฑที่มองกว้าง มองไกล และใฝ่สูงในการดำรงชีวิต

สัมมาสังกัปปะ : ความคิดที่ถูกต้อง

คิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดุจดั่งเสือและธรรมชาติที่พึ่งพากัน ตามคำกล่าวที่ว่า “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี” 

สัมมาวาจา : วาจาที่ถูกต้อง

มีเจตจำนงในการพูด การฟัง การสื่อสารด้วยความรักและความเข้าใจ พูดจาในสิ่งที่เป็นจริง เป็นประโยชน์ ดุจดั่งโคนันทวิศาลพูดและฟังในวาจาที่ไพเราะ อ่อนหวาน และสร้างสรรค์

สัมมากัมมันตะ : การกระทำที่ถูกต้องมีความเพียรพยายามในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง เป็นธรรม มีความสุจริตโปร่งใส มีใจเป็นกุศล ดุจดั่งพญานาคที่เฝ้าระวังมิให้การกระทำของตนเองก่อความเสียหายต่อผู้อื่น

สัมมาอาชีวะ : การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง

ตั้งใจประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีงามของสังคมคุงดั่งกิเลนซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชอบส่งความสุขและความโชคดีให้แก่มนุษย์ 

สัมมาวายามะ : ความพยายามที่ถูกต้อง

มีความตั้งใจพยายามในการละอกุศล พยายามในการสร้างสิ่งที่เป็นกุศล รักษาความดีงามให้เกิดขึ้นในใจเสมอ เหมือนม้าที่พยายามเดินและวิ่งอย่างบากบั่นไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค 

สัมมาสติ : ตื่นรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง

ตั้งสติ รู้ตัว ไม่ให้จิตไหลไปในทางที่ชั่ว มีสติเป็นเครื่องประคองตน ตื่นรู้ในทุกชั่วโมงยาม เหมือนดังพระอริยบุคคลมีสติและปัญญามั่นคงในการดำเนินชีวิต

สัมมาสมาธิ : ตั้งใจมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง

มีจิตใจที่สดใส เบิกบาน ตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล เข้าใจสุข เข้าใจทุกข์ พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มุ่งมั่นสู่วิถีแห่งการฝึกฝน เหมือนดั่งพระอริยบุคคลมุ่งมั่นก้าวเดินสู่หนทางแห่งมรรคา

คำอธิบาย “ทศบารมีแห่งแผ่นดิน”

ผลงานประติมากรรม ๑๐ ชิ้น ของพระปัญญาชัย พุทรกซิโต 

ทานบารมี

การให้และการแบ่งปันคือจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณธรรมในสังคม การให้ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกันยอมสร้างโลกนี้ให้สวยงาม ดั่งพระเวสันดรที่เป็นต้นแบบของการเสียสละเพื่อเป็นหนทางสู่มรรคา

ศีลบารมี

ศีล คือ การมีจิตสำนึกแห่งความดีงามไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ปรารถนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังนั้น ศีล จึงเป็นใหญ่ในโลกที่บ่งบอกถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตั้งพระภูริทัตที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลของตนเอง

เนกขัมมบารมี

เนกขัมมะ คือ การก้าวเดินด้วยกายและใจออกไปสู่การหนทางแห่งการไม่เบียดเบียน มองโลกและสรรพสิ่งด้วยความเมตตา ดั่งพระเตมีย์ที่ตั้งใจออกบวชแสวงหาแนวทางเพื่อให้พ้นจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนต่อผู้อื่น

ปัญญาบารมี

การเกิดขึ้นของปัญญา คือ การทำลายอวิชชาความไม่รู้ในเหตุปัจจัย ปัญญาจึงเป็นรัตนะของนรชนที่ผ่านการฝึกฝน เรียนรู้ และสร้างสรรค์ ผู้มีปัญญาดั่งพระมโหสถย่อมพิจารณาสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง เพื่อดับทุกข์ คลายโศกและสร้างโลกให้สวยงาม

วิริยบารมี

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ผู้ที่มีความเพียรพยายามไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรคต่อมถึงจุดหมาย เหมือนคำที่ว่า ไม่สำคัญจะเดินช้าแค่ไหน ตราบใดที่ไม่หยุดเดิน ดั่งเช่น พระมหาชนกที่ว่ายน้ำโต้คลื่นในมหาสมุทรเพื่อทำความเพียรของตนเองให้ถึงที่สุด

ขันติบารมี

ความอดทนเป็นธงชัยแห่งผู้กล้าที่พร้อมเดินหน้าสู่ความท้าทายในอำนาจแห่งกิเลสตัณหาการอดทนต่อความลำบาก การดูหมิ่นเหยืดหยามเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกตนให้แข็งแกร่ง ตั้งพระจันทกุมารทอดทนต่อการมุ่งร้าย ประหัตประหารเพื่อรักษาคุณธรรมของสังคมเอาไว้

สัจจบารมี

สัจจะ คือ ความจริงใจเป็นรากฐานสำคัญของมิตรภาพ บุคคลที่มีสัจจะย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย ดั่งวิฑูรบัณฑิตที่มีความจริงใจ รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเพื่อรักษาบุคคลและสังคมให้ยั่งยืน

อธิษฐานบารมี

อธิษฐานบารมี มิใช่เป็นการอธิษฐานเพื่อตนเองให้มีความสุขเท่านั้น แต่เป็นการอธิษฐานเพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งความสงบสุข เป็นความตั้งใจแน่วแน่เพื่อประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ชอบธรรมดั่งพระเนมิราชที่อธิษฐานเพื่อได้เพียรสร้างความดี ละเว้นความชั่วในตนเอง

เมตตาบารมี

ความเมตตาและปรานีดุจดั่งน้ำทิพย์ชะโลมใจ บุคคลที่มีความเมตตาย่อมเกื้อกูลและส่งความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ดั่งพระสุวรรณสามที่ไม่คิดปองร้าย จองเวร ผูกโกรธต่อบุคคลอื่นแม้จะถูกทำร้ายด้วยลูกศรจนแทบสิ้นชีวิต

อุเบกขาบารมี

การวางใจให้เป็นกลาง มิให้ยินดียินร้ายในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ลำเอียงเข้าข้างความผิดแต่ยึดมั่นในความเที่ยงธรรม ดั่งพระนารทที่ยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรม จึงสามารถปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบเรียบร้อย



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า