สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ที่เห็นว่าอดีตและปัจจุบันมีลักษณะเหมือนๆ กัน โดยผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตกับปัจจุบันเหมือนกัน คือ ยังคงลำบากเช่นเดิมหรือผู้สูงอายุบางคนที่คิดว่าปัจจุบันนี้ยิ่งแย่กว่าอดีตที่ว่าแย่อยู่แล้ว เพราะไปไหนมาไหนลำบาก ไม่มีแรงต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา
การที่ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นและเปรียบเทียบดังตัวอย่างข้างต้น สามารถจำแนกให้เห็นประเด็นเหตุผลหลักๆ ทั้งกลุ่มที่ตอบว่าชีวิตในปัจจุบันดีกว่าอดีต และชีวิตในอดีตดีกว่าปัจจุบัน ได้ดังนี้
- ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุคิดว่าชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ดีกว่าเดิมเพราะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตซึ่งเป็นวัยที่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ปัจจุบันมีทรัพย์สินสมบัติที่ดิน ที่นา และเงินฝากในธนาคาร ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่มี ความสะดวกสบายขึ้นยังเกิดจากการช่วยเหลือของลูกหลานที่ส่งเสียเลี้ยงดูปลูกบ้านให้อยู่ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนเดิม หรืออดอยากต้องหุงข้าวผสมมันเทศ อดมื้อกินมื้ออีกต่อไป
- มีเครื่องอำนวยความสะดวก ชีวิตในปัจจุบันมีความสะดวกรวดเร็ว มีอุปกรณ์ไฟฟ้า มีโทรทัศน์ มีถนนหนทางที่ไปไหนมาไหนได้สะดวกรวดเร็ว มีเครื่องสูบน้ำ มีรถไถ รถยนต์ ไฟฟ้า น้ำประปา มีความทันสมัยไม่ลำบากเหมือนในอดีต ที่ต้องตักน้ำ หาฟืน ตำข้าว หาผัก เพื่อยังชีพ ปัจจุบันอยากได้อะไรก็หาซื้อได้ในตลาด
- ไม่ต้องทำงาน ผู้สูงอายุมีความเห็นว่าการเป็นผู้สูงอายุเป็นช่วงเวลาที่ได้พักผ่อนไม่ต้องทำงานหาเงิน ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตในครอบครัวเหมือนในอดีต ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงลูกๆ ปัจจุบันลูกหลานเป็นผู้ทำงานแทน ไม่มีภาระที่จะรับผิดชอบเรื่องใดของครอบครัว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ อยากทำอะไรก็ทำ
- มีผู้อุปการะเลี้ยงดู ผู้สูงอายุส่วนมากจะชื่นชมต่อลูกหลานที่เอาใจใส่ดูแล ลูกหลานส่งเสียเลี้ยงดู เวลาเจ็บป่วยก็พอไปโรงพยาบาล เวลาต้องการไปไหนลูกหลานจะรับผิดชอบพาไปทุกแห่ง ลูกหลานเอาใจใส่ไม่ปล่อยให้อดอยาก
ผู้สูงอายุที่คิดว่า อดีตดีกว่าปัจจุบันได้ให้เหตุผลและสาเหตุที่เป็นปัญหา คือ
- ปัญหาด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุให้ความเห็นว่าสุขภาพในอดีตจะดีกว่า ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรค แต่ปัจจุบันมีสุขภาพไม่ดีเพราะมีอายุมากขึ้น ทำงานหนักไม่ได้ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ไม่มีความคล่องแคล่ว ไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย
- ความสัมพันธ์ทางสังคม ในอดีตผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี มีเพื่อนฝูงมาก เมื่ออายุมากขึ้นจำนวนพรรคพวกตายจากกันไปมาก มีความโดดเดี่ยวทำให้ต้องอยู่บ้าน ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่น ไม่เหมือนอดีตที่เคยสนุกสนานครื้นเครง ผู้สูงอายุบางรายเสียใจที่คู่สมรสตายจากไป ทำให้ต้องอยู่กับลูกหลาน
- สูญเสียบทบาทของตนเอง ผู้สูงอายุยอมรับว่าเมื่อเป็นผู้สูงอายุบทบาทและสถานภาพทางสังคมเปลี่ยนไป ในอดีตชีวิตมีความหมาย สามารถทำงานหาเงินได้ ปัจจุบันต้องรอให้ลูกหลานเลี้ยงดู แม้จะมีความสะดวกสบายแต่เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ส่วนจิตใจนั้น ท้อแท้ มีความลำบากใจ เพราะไม่มีบทบาทเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ เพราะทำงานไม่ได้บทบาทที่เคยมีความสำคัญถูกจำกัดและลดลงจนไม่มีความหมาย
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ ความสุขของผู้สูงอายุในปัจจุบันเปรียบเทียบกับชีวิตในอดีตว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะต้องการจะทราบว่าผู้สูงอายุกำลังมีความสุขหรือมีความทุกข์และมีเหตุผลอย่างไร ผลจากการสัมภาษณ์หัวข้อนี้ได้รับคำตอบคล้ายคลึงกับสิ่งที่ผู้สูงอายุได้ตอบว่าชีวิตในปัจจุบันดีกว่าในอดีตหรืออดีตดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้งเหตุผลที่ผสมผสานระหว่างสิ่งที่ดีและไม่ดี ซึ่งในหัวข้อนี้จะหมายถึง “ความสุข” ที่ผู้สูงอายุได้รับในชีวิตปัจจุบัน
ปัจจุบันมีความสุขมากกว่าอดีต
- สุขที่ไม่ต้องทำงานหนัก
- สุขที่มีคนคอยดูแล
- สุขที่มีทรัพย์สินเงินทอง
- สุขที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
- สุขที่มีเวลาว่างเข้าวัดปฏิบัติธรรม
- สุขที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้
- สุขที่ลูกหลานดีครอบครัวดี
- สุขที่ไม่ต้องรับผิดชอบครอบครัว
- สุขที่มีอิสรภาพ เสรีมากขึ้น
อดีตมีความสุขมากกว่าปัจจุบัน
- สุขที่ร่างกายแข็งแรง
- สุขที่ทำงานได้หาเงินได้
- สุขที่มีความสนุกสนานรื่นเริง
- สุขที่ได้อยู่กับพ่อแม่พี่น้อง
- สุขที่สามารถไปไหนมาไหนสะดวก
- สุขที่มีเงินใช้จากพ่อแม่
- สุขที่ได้อยู่กับคู่สมรส และลูกหลาน
- สุขที่มีจิตใจเบิกบาน สุขภาพดี
- สุขที่มีเพื่อนๆ ไปมาหาสู่สม่ำเสมอ
ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นว่าความสุขในปัจจุบันกับอดีตไม่เหมือนกันความสุขในอดีต เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีความสมบูรณ์ แข็งแรง ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ต้องทำงานหนัก ปัจจุบันมีความรู้สึกที่สบายขึ้นเพราะไม่ต้องทำงานหนัก ผู้สูงอายุที่เน้นเรื่องความสุขในด้านอื่น เช่น เชื่อว่าในสมัยก่อนมีความสุขเพราะได้คบเพื่อน เฮฮา แต่ปัจจุบันก็มีความสุขเช่นกันที่ได้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงาน โดยมีลูกหลานคอยเลี้ยงดู ผู้สูงอายุที่เชื่อว่าปัจจุบันมีความสุขเพียงที่ร่างกายเท่านั้นที่ได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ก็ทุกข์ใจเพราะช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที่ ทำงานไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่นคอยเลี้ยงดู ผู้สูงอายุได้เปรียบเทียบความสุขที่ในอดีตได้สนุกสนานเฮฮา แต่ปัจจุบันมีความสุขที่ได้เข้าวัด ฟังธรรม และอยู่กับลูกหลาน หรือในอดีตมีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ปัจจุบันก็มีความสุขที่ได้อยู่กับลูกหลาน หรือในอดีตมีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ปัจจุบันก็มีความสุขที่ได้อยู่กับลูกหลานและในอดีตแม้จะทำงานหนักแต่ก็ได้เฮฮากับเพื่อนฝูง ปัจจุบันไม่ต้องทำงานหนัก มีความสะดวกสบายแต่มีความเหงาเพราะไม่มีเพื่อน
กล่าวโดยสรุป “การมีความสุข” ตามที่ผู้สูงอายุให้ความหมายนั้น หมายถึง ความสุขในด้านความเป็นอยู่อันเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต จากคำตอบที่รวมรวมได้พบว่า ผู้สูงอายุได้ตอบก้ำกึ่งระหว่าง ความสุขในปัจจุบันและความสุขในอดีต แต่เหตุผลที่เสนอมีความแตกต่างกัน ผู้สูงอายุที่คิดว่าปัจจุบันมีความสุขมากกว่านั้นจะให้ความสำคัญในเรื่องความสบายที่ไม่ต้องทำงานหนัก ชีวิตปัจจุบันมีสิ่งที่ดีกว่า ฐานะความเป็นอยู่สะดวกสบาย ไม่ต้องทำงานหนัก ลูกหลานช่วยทำมาหากิน ในอดีตต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง แต่ปัจจุบันลูกหลานเอาในใส่ไม่ขาดเหลือ เมื่อก่อนยากจนไม่มีเงินทอง ต้องอดออมและประหยัด ปัจจุบันดีขึ้นก็เพราะลูกหลานช่วยเหลือหาเลี้ยง ตรงกันข้ามกับในอดีตที่ต้องหาเลี้ยงพวกเขา พอลูกหลานโตขึ้นรับภาระเลี้ยงดู จากเหตุผลดังกล่าวผู้สูงอายุต่างมั่นใจว่าปัจจุบันเป็นระยะเวลาที่มีความสุข ทั้งกายและใจ สามารถไปวัดทำบุญ มีอิสระ ไม่ต้องแบกภาระใดๆ ในบ้านเพราะในช่วงเป็นผู้หาเลี้ยงลูกหลานต้องใช้ชีวิตกับการทำงาน เมื่อคิดถึงตอนทำงานจะรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยมาก ปัจจุบันไม่มีอะไรขาดแคลน นับว่ามีความสมบูรณ์และดีใจที่เป็นผู้สูงอายุ สบายใจและมีความสุข
สำหรับผู้สูงอายุที่คิดว่า สมัยก่อนมีความสุขมากกว่าปัจจุบัน ได้ให้เหตุผล คือ สุขภาพร่างกายในสมัยเป็นหนุ่มสาวนั้นแข็งแรง สามารถทำอะไรก็ได้ ปัจจุบันร่างกายทรุดโทรมเพราะการเป็นผู้สูงอายุ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ไม่คล่องแคล่วว่องไว รวมทั้งมีสุขภาพที่ไม่ดี เจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัว ทำมาหากินไม่ได้ จึงไม่มีความสุข ผู้สูงอายุที่ได้ให้เหตุผลดังกล่าว เน้นเรื่องความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของร่างกาย หูตาดี เมื่อเป็นผู้สูงอายุ สังขารร่วงโรย ไม่มีพละกำลังทำงาน สมัยก่อนทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีโรค ตรงกันข้ามปัจจุบันจะรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ต้องอาศัยผู้อื่น จะไปไหนก็ไปไม่ได้ ชีวิตมีความอับเฉา ทำอะไรก็ไม่สดชื่น ไม่รู้สึกสนุกกับชีวิต เหมือนรอวันตาย มีทุกข์มากเพราะการเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้จิตใจและอารมณ์ยังว้าวุ่น หงุดหงิด คิดว่ายิ่งแก่ก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้นไปทุกขณะ รู้สึกมีความลำบากใจที่ต้องอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไม่สบายรู้สึกว่าทรมานตัวเอง เป็นภาระของคนอื่น ผู้สูงอายุหลายคนคิดว่าตนเองลดคุณค่าลงไป เพราะไม่สามารถหาเงินได้ ลูกหลานไม่ค่อยมาเยี่ยม กลัดกลุ้มใจ ไม่มีความสุข ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดไป ไม่มีโอกาสได้กลับไปมีชีวิตที่มีความสุขเหมือนสมัยก่อนที่เป็นหนุ่มเป็นสาวได้อีก
กลุ่มสุดท้าย ได้แสดงความคิดเห็นแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างการมีความสุขในปัจจุบันกับการมีความสุขในอดีตเมื่อเป็นหนุ่มสาว ผู้สูงอายุได้แยกแยะเหตุผลว่า ความสุขนั้นเป็นคนละแบบกัน ในวัยหนุ่มสาวบางคนอาจรื่นเริงแต่ในปัจจุบันมีความสุขกับความสงบ ถือศีลและสวดมนต์ ผู้สูงอายุบางคนที่มีทัศนคติในทางบวกจะตอบว่าตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มีความสุขเพราะได้ทำงานแต่พอเป็นคนแก่ก็มีความสุขเหมือนกัน คือ สุขที่ไม่ต้องทำงาน มีความสะดวกสบาย มีลูกหลานคอยช่วยเหลือหรือหาเลี้ยง แต่ก็มีความทุกข์ที่ไปไหนมาไหนไม่สะดวกคล่องแคล่ว ไปไหนไกลๆ ไม่ได้ ยิ่งถ้าคนที่มีโรคประจำตัว สุขภาพไม่ดีอาจจะสุขแต่ใจแต่ทุกข์กาย ผู้สูงอายุที่ตอบเช่นนี้จะให้เหตุผลที่หักล้างกัน เช่น ผู้สูงอายุรายหนึ่งคิดว่าความสุขมีความหมายไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการตีความบางคน มีความสุขที่ได้ทำงานแต่ถ้าทำมากไปก็จะเรียกว่ามีความทุกข์ บางคนเมื่อไม่มีงานทำก็บ่นว่ามีความทุกข์ที่ไม่ได้ทำงาน ขณะที่บางคนตอบว่าการที่ไม่ต้องทำงานคือความสุขที่ได้พักผ่อนและได้อยู่บ้านกับลูกหลาน
ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ความสุข” ของผู้สูงอายุจึงหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุผลและการตีความเป็นสำคัญ กล่าวโดยสรุปอาจแบ่ง “ความสุข” ของผู้สูงอายุออกดังนี้
- ความสุขที่มีทรัพย์สินเงินทอง
- ความสุขที่ไม่ต้องทำงานหนัก
- ความสุขที่ได้เข้าวัดถือศีล
- ความสุขที่ได้อยู่กับลูกหลาน
- ความสุขที่ชีวิตมีความสะดวกสบาย
ส่วนผู้สูงอายุที่คิดว่าไม่มีความสุขในปัจจุบันและเชื่อว่าในอดีตมีความสุขมากกว่าเพราะ
- ปัจจุบันมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง
- ปัจจุบันไม่มีโอกาสได้ทำงานเหมือนเดิม
- ปัจจุบันมีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคประจำตัว
- มีอายุมากขึ้นๆ
เมื่อพิจารณาเหตุผลการมีความสุขเปรียบเทียบระหว่างอดีตและปัจจุบันและเมื่อรวมเอากลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่แบ่งรับแบ่งสู้ระหว่าง ความสุขทั้งในปัจจุบันกับอดีต ผู้สูงอายุที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะมีความสุขตามอัตภาพ ส่วนผู้ที่เชื่อว่า อดีตมีความสุขมากกว่า มิได้หมายถึงปัจจุบันมีแต่ความทุกข์ เพียงแต่มีความสุขน้อยกว่าในอดีตเพราะสุขภาพยิ่งนับวันจะเสื่อมโทรมลงทุกวัน ไม่มีโอกาสกลับคืนมาดังเดิมได้