- การให้คำปรึกษาแก่สมาชิกในครอบครัว
สืบเนื่องต่อจากการให้ความเคารพผู้สูงอายุ การให้เกียรติและแสดงความกตัญญูรู้คุณแล้ว คณะผู้วิจัยต้องการที่จะทราบถึงบทบาทของผู้สูงอายุว่าได้มีบทบาททางสังคมหรือไม่อย่างไร หรือบทบาทนี้มีขอบเขตเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น เพราะเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยสูงอายุบทบาทที่ผู้สูงอายุจะรับผิดชอบต่อครอบครัวย่อมลดน้อยลงไปตามลำดับ ในอดีตนั้นผู้สูงอายุ คือ ผู้ตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน การส่งเสียเลี้ยงดูลูกหลาน การซื้อขายทรัพย์สิน เป็นหน้าทีโดยตรงของผู้สูงอายุที่เป็นผู้นำของครอบครัวในเวลาขณะนั้น การสอบถามเรื่องการให้คำปรึกษาหรือตัดสินกิจกรรมของครอบครัวจึงเป็นประเด็นที่จะสะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้สูงอายุว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด ลูกหลานยังคงเห็นความสำคัญในฐานะที่เคยเป็นผู้นำอยู่ หรือได้ลดบทบาทลงไปเพราะการเป็นผู้สูงอายุ ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยืนยันว่ายังคงให้คำปรึกษา ช่วยตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของลูกหลานอยู่ แม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วก็ตาม ส่วนผู้สูงอายุที่เหลือไม่ได้ให้คำปรึกษาแก่ลูกหลาน
เมื่อถามต่อไปว่า การให้คำปรึกษาแก่ลูกหลานเรื่องอะไรบ้าง และระหว่างพ่อหรือแม่ที่ลูกหลานเลือกขอคำตัดสินใจ รายละเอียดของคำตอบที่ได้รับ มีประเด็นเรื่องต่างๆ ดังนี้ คือ
- ปรึกษาเรื่องการทำไรทำนา
- ปรึกษาเรื่องการเลือกสถานที่และประเภทของการทำงาน
- ปรึกษาเรื่องการซื้อรถ เลือกสีรถ และช่วยดูฤกษ์ยาม
- ปรึกษาเรื่องการจัดการด้านการเรียนการศึกษาของหลาน
- ปรึกษาเรื่องการแต่งงาน การเลือกคู่ครอง
- ปรึกษาเรื่องการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง
- ปรึกษาเรื่องการปลูกบ้าน การขึ้นบ้านใหม่
- ปรึกษาเรื่องการบวช
- ปรึกษาเรื่องการเงิน
- ปรึกษาเรื่องการซ่อมแซมยานพาหนะ
- ปรึกษาเรื่องการซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน
- ปรึกษาเรื่องการเปลี่ยนงาน ย้ายงาน
- ปรึกษาเรื่องปัญหาครอบครัว
- ปรึกษาทุกเรื่องทั่วๆ ไป
การขอคำปรึกษาหรือขอคำตัดสินใจจากผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลานที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกันหรืออาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน ผู้สูงอายุยังได้เพิ่มเติมว่า ผู้ที่มาขอคำปรึกษานั้นไม่เฉพาะลูกหลาน แต่เพื่อนบ้านที่รู้จักกันก็มาขอคำปรึกษาด้วย ไม่จำกัดเฉพาะญาติ หรือลูกหลานเท่านั้น สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีใครมาขอคำปรึกษานั้น ได้ให้เหตุผลดังนี้
- ลูกหลานย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ไม่ค่อยได้พบกันจึงไม่มีใครมาปรึกษา
- ลูกหลานโตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว
- ลูกหลานมีการศึกษาสูง ช่วยตัวเองได้
- ลูกหลานจะปรึกษาคู่สมรสของเขาเอง
- ลูกหลานไม่ปรึกษา นอกจากมาขอเงินใช้
- ลูกหลานตัดสินใจเองได้ ไม่กล้ามารบกวน
- ลูกหลานไม่เคยมาปรึกษา นอกจากจะไต่ถามทุกข์-สุข
- ลูกหลานไม่มาปรึกษาเพราะเห็นว่าเป็นคนหัวโบราณ
- ลูกหลานไม่มีเพราะตายไปหมดแล้ว
ประเด็นเรื่องที่ลูกหลานมาขอคำปรึกษา และขอคำตัดสินใจจากผู้สูงอายุนั้น แม้จะมีความหมายหลากหลาย แต่ก็มีเนื้อหาคล้ายๆ กันคือ (1) มาขอคำปรึกษาด้านการทำมาหากิน (2) มาขอคำปรึกษาเพื่อช่วยตัดสินใจการดำเนินชีวิตในหน้าที่การงาน (3) มาขอคำตัดสินใจเรื่องประเพณี การบวช การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การปลูกบ้าน (4) มาขอคำปรึกษาด้านการเล่าเรียนของลูกหลานหรือการศึกษาต่อ (5) มาขอคำปรึกษาและช่วยเหลือด้านเงินทอง
จะเห็นได้ว่าการมาขอคำปรึกษาผู้สูงอายุ ได้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับใน คุณค่าของการเป็นผู้มีอาวุโส การเคารพยกย่อง และให้เกียรติ ผู้สูงอายุช่วยให้คำปรึกษาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งในบางเรื่องลูกหลานก็อาจตัดสินใจเองได้ แต่ก็ยังเห็นว่าผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรอบรู้ สามารถสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้น จะเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง ผู้สูงอายุหลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่า “เมื่อบุตรหลานแยกครัวออกไปใหม่ๆ มีปัญหาอะไรจะมาปรึกษาหลังจากนั้นอีก 10 ปี คือในปัจจุบันนี้ บุตรหลานก็จะตัดสินใจกันเองได้ เวลาบวชหรือแต่งงาน หลานๆ ก็ไม่มาปรึกษา แต่ก็ได้รับเชิญให้ไปผูกแขนเท่านั้น” ผู้สูงอายุต่างเชื่อว่า บุตรหลานของตนสามารถดูแลตนเองและตัดสินใจให้หลานๆ ได้แล้ว ไม่ต้องมาถึงปู่ ย่า ตา ยาย
ผู้สูงอายุส่วนมากจะตอบว่าผู้ที่มาขอคำปรึกษาจะเป็นทั้งลูกสาวและลูกชาย ทั้งที่อาศัยอยู่ร่วมกันในครัวเรือน หรือแยกครัวไปแล้ว แต่สำหรับบางคนก็ตัดสินใจเองได้ไม่ต้องมาขอคำปรึกษาทุกครั้ง นอกจากเรื่องสำคัญๆ หรือสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจไม่ได้ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี หรือต้องใช้เงินทองมาก มักจะขอคำปรึกษา เช่น ซื้อบ้าน ปลูกบ้าน ซื้อรถ เป็นต้น สำหรับผู้สูงอายุที่มีลูกหลานที่อยู่ห่างไกลบางคนจะใช้โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาในเรื่องสำคัญๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นประโยชน์ และได้รับการยอมรับจากลูกหลาน
สำหรับคำถามต่อมา คือ ใครเป็นผู้ให้คำแนะนำระหว่างผู้สูงอายุชายหรือผู้สูงอายุหญิง รากฐานแนวคิดนี้ก็คือ ต้องการทราบว่าลูกหลานได้ให้ความสำคัญกับผู้ใดเป็นหลัก เนื่องจากผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างนี้ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุหญิง ดังนั้นคำตอบที่ได้รับอาจมีความลำเอียงเพราะผู้ตอบส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผลจากการศึกษากลับพบว่าผู้สูงอายุได้ตอบว่าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวมาขอคำปรึกษาเพื่อตัดสินใจ ส่วนใหญ่จะปรึกษาทั้งสองคน คือ ทั้งพ่อและแม่ ส่วนที่เหลือจะเป็นแม่ โดยให้เหตุผลเพราะพ่อเสียชีวิตแล้วบ้าง สุขภาพไม่ดีบ้าง สำหรับเหตุผลของการเลือกปรึกษาระหว่างพ่อหรือแม่ ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น
- ลูกๆ จะปรึกษาพ่อในหลายๆ เรื่อง แต่จะเชื่อฟังแม่มากกว่า
- ลูกหลานมักจะใกล้ชิดแม่มาก ดังนั้น ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะปรึกษาแม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่จะต้องให้พ่อเป็นผู้ตัดสินใจ
- ผู้สูงอายุชายมักจะไม่สนใจลูกหลาน จึงต้องเป็นหน้าที่ของผู้สูงอายุหญิงให้คำปรึกษา
- ปรึกษาทั้งพ่อและแม่โดยเริ่มต้นที่แม่ และตัดสินสุดท้ายโดยพ่อเป็นคนสุดท้าย
- ปรึกษาได้ทั้งคู่ เพราะเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้มีพระคุณ มีประสบการณ์ ย่อมจะทำให้การปรึกษามีคุณค่าและเป็นประโยชน์
- เป็นเรื่องธุรกิจจะปรึกษาพ่อเพราะมีประสบการณ์มากกว่าแม่
- ถ้าส่วนมากจะปรึกษาแม่ เพราะอยู่บ้านมากกว่าพ่อ
- ปรึกษาพ่อเพราะใจดีกว่าแม่
ตัวอย่างเหตุผลข้างต้นเป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่าผู้สูงอายุที่เป็นหญิงมีความสำคัญเพราะมีความใกล้ชิดลูกหลาน แต่การตัดสินใจใจเรื่องสำคัญๆ ทั้งผู้สูงอายุหญิงและชายจะมีส่วนร่วม หรือเริ่มต้นที่ผู้หญิง และสรุปสุดท้ายจะเป็นผู้สูงอายุชาย ผู้สูงอายุชายจะรับผิดชอบในการตัดสินใจ หรือให้คำปรึกษาในปัญหาที่สำคัญๆ แต่ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุหญิงมีมากกว่าทั้งในตัวอย่างที่ศึกษาและสภาพที่เป็นจริงของชุมชน ภาระการตัดสินใจจึงเป็นหน้าที่ของผู้สูงอายุหญิงทั้งหมด เช่น ผู้สูงอายุบางคนกล่าวว่า “ป้ารับผิดชอบและเป็นหัวหน้าครัวเรือนตั้งแต่ลุงตาย” “ลุงมัวแต่ดื่มเหล้า ไม่อยู่บ้าน ป้าจึงเป็นผู้ให้คำปรึกษา” หรือ “สมัยตาอยู่ก็ปรึกษาทั้งสองคน ตอนนี้ตาตายแล้วเลยเหลือยายคนเดียว” อย่างไรก็ตามการตั้งคำถามนี้ช่วยให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงว่ามีบทบาทอย่างไรต่อครอบครัว เมื่ออยู่ร่วมกันหรือเมื่อคนใดคนหนึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว ใครจะเป็นผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้าน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุหญิงที่ทำหน้าที่แทบทุกอย่าง และยิ่งเพิ่มบทบาทขึ้นเมื่อต้องเป็นหม้าย ภายหลังที่สามีได้ตายไป