จากกรณีเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ที่มีผู้โดยสาร 211 คน ลูกเรือ18 คน ตกหลุมอากาศจากความสูง 3.7 หมื่นฟุตลงมาที่ 3.1 หมื่นฟุตเมื่อหลายวันก่อน นับเป็นอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรงในการคมนาคมทางอากาศอีกเหตุการณ์หนึ่ง
เพราะอุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บจำนวนมาก นับเป็นข่าวใหญ่ที่ทั้งคนเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย และคนที่ไม่ชอบบิน ต่างให้ความสนใจและติดตามกันอย่างคึกคัก
ไทยเราได้รับความดีความชอบเป็นกระบุง เพราะเครื่องตัวนั้นขอลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเราให้การช่วยเหลืออย่างดีเยี่ยมทุกกรณี
จะว่าไปก็เหมือน…ความดีลอยมาตกตรงหน้าตัก !!
งานนี้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมพึ่บพั่บกันอย่างพร้อมเพรียง ออกให้ความรู้ ความเห็น แก่คนไม่รู้อย่างเราๆเสียเต็มกระบุง
เขาบอกว่าอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกสูงขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศก็จะมีมากขึ้น ซึ่งอัตราการเกิดหลุมอากาศเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในปี 2550 เครื่องบินต้องเสี่ยงกับการเผชิญหลุมอากาศเพิ่มขึ้น 40% แม้ท้องฟ้าปลอดโปร่งก็อย่าได้วางใจ มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นแหละ
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐ ระบุระหว่างปี 2552-2556 เที่ยวบินตามกำหนดเวลา 162 เที่ยวบินทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นสายการบินในสหรัฐ, เครื่องบินในภูมิภาค และเครื่องบินขนส่งสินค้า ตกหลุมอากาศ มีผู้บาดเจ็บสาหัสมากถึง 185 คน
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อาจทำให้การตกหลุมอากาศรุนแรงเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต งานวิจัยเผยแพร่ใน Geophysical Research Letters เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า อากาศเคลื่อนไหวผิดปกติอาจเพิ่มมากขึ้นเรียบร้อยแล้วในหลายพื้นที่ของโลก…แม้ยังฟันธงไม่ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ แต่การศึกษาหลายชิ้นช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดหลุมอากาศที่เลวร้ายมากขึ้นไปอีก
โลกทุกวันนี้ไม่มีอะไรอยู่คงที่ ไม่ว่าความร้อน-ความเย็น, ความแห้งแล้ง-ความชุ่มชื้น เพราะจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ทรัพยากรที่มีค่าสิ้นเปลืองขึ้น ขณะเดียวกันการร่วมกันสร้างสิ่งชดเชยยังไม่เพียงพอ
เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจกันมากนักสำหรับคนที่ยังจำเป็นต้องบิน ทั้งเพื่องานและท่องเที่ยว มาฟังสิ่งที่ชวนให้คลายกังวล
นักวิชาการด้านการบินและนักบินพาณิชย์ท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า…เครื่องบินที่เราอาศัยบินกันอยู่ทุกวันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับความปั่นป่วนที่รุนแรงที่สุดของอากาศที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในขณะบิน การ“ตกหลุมอากาศ”ไม่น่าจะทำลายเครื่องบินได้ อย่างไรก็ตามความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลดีนักกับตัวเครื่องบิน ซึ่งเป็นเหตุผลที่นักบินพยายามหลีกเลี่ยง หรือชะลอความเร็ว และเปิดสัญญาณเข็มขัดนิรภัย
การตกหลุมอากาศรุนแรงเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารเครื่องบิน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยกระเด็นไปทั่วห้องโดยสาร
แต่ข้อมูลยืนยันว่า…การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากกรณีตกหลุมอากาศ “ยังคงพบได้น้อย“
แม้จะมีข้อมูลข้างต้นว่าเราจะมีการเผชิญกับความปั่นป่วนของอากาศ หรือหลุมอากาศ ที่บ่อยครั้งมากขึ้นนับจากนี้ไป สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือคนเดินทางโดยสารเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเหตุให้ในห้วงอากาศมีการจราจรที่หนาแน่นตามมา ทำให้การตัดสินใจของนักบินในการหลีกเลี่ยงการตกหลุมอากาศ ยุ่งยากขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องรักษาระยะห่างขั้นต่ำที่ปลอดภัยจากเครื่องบินลำอื่นในพื้นที่บินเดียวกัน
สิ่งที่น่าจะเป็นความสบายใจได้ของคนที่ยังต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็จากสมาคมการบินพลเรือนทั่วโลกไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ มีการขยับรับมือเพื่อให้ความเสียหายที่อาจเกิดกับผู้โดยสารเบาบางที่สุด
มาถึงตรงนี้…ก็อยู่ที่ตัวท่านเองแล้วละครับ ว่าเมื่อก้าวสู่เครื่องบินแล้ว ได้ยอมรับปฏิบัติตัวตามกฎการบินเขาแค่ไหน ? ให้ความร่วมมือกับบรรดาลูกเรือเขาแค่ไหน เอะอะมะเทิ่งก็ปานนั้น เอาเด็กขึ้นไปร้องไห้กระจองอแงก็ปานนั้น เครื่องจะขึ้นจะลงข้าเดินไปห้องน้ำให้ขวักไขว่ก็ปานนั้น ฯลฯ
เข็มขัดนิรภัยก็ไม่คาด…ตกหลุมอากาศ…หัวลอยฟาดเพดาน ถึงจะรู้สึก !!!!