วันนี้ (26 มีนาคม 2567) ที่ศูนย์การเรียนรู้ ซี.ซี.เอฟ.เชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายไชยรัตน์ จินะราช รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ร่วมกันลงนาม MOU ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชนในจังหวัดเชียงราย (ทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน) ระหว่าง มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 เพื่อร่วมกันส่งเสริมรูปแบบการศึกษาด้านธุรกิจและชมรมทักษะอาชีพในโรงเรียน เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวและยั่งยืนสำหรับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่แสวงหาทางเลือกอาชีพสำหรับอนาคต เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพทางเลือก รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพที่มีคุณค่าให้กับนักเรียน ส่งเสริมให้ครูมีทักษะเป็นผู้ประกอบการในการขยายองค์ความรู้เพิ่มเติม สร้างรายได้เพิ่มและลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และจัดตั้งกลุ่มอาชีพชมรมอาชีพเพื่อการสำรวจและปฏิบัติของรุ่นน้องในอนาคต โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะผู้บริหาร บุคคลากรครู และทางมูลนิธิฯ ร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย
ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ กล่าวว่า มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส จำนวน 34 จังหวัด 35 โครงการฯ มีเด็กในความดูแลของมูลนิธิฯ จำนวน 44,000 คนทั่วประเทศ ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา ทุนการศึกษาประจำปี ด้านสุขภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแก่เด็กและเยาวชน โดยครั้งนี้ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จะดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชนในจังหวัดเชียงราย (ทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน) จำนวน 10 โรงเรียนในสังกัดพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 745,600 บาท (เจ็ดแสนสี่หมื่นห้าพันหกร้อยบาทถ้วน) ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการนี้ จำนวน 10 โรงเรียน โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน ได้แก่ 1.กลุ่มไส้อั่วยูนนานท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านแม่หม้อ 2.พวงกุญแจผ้าทอชาวเขา โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง 3.คุกกี้ดอกไม้/ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ ชุมชนศึกษา โรงเรียนบ้านแม่สะแลป 4.คุกกี้ชาเขียว/งาขี้ม่อน โรงเรียนบ้านกลาง 5.ผลิตภัณฑ์แกะสลักเลซิ่ง โรงเรียนพญาไพรไตรมิตร 6.ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาดินเผา โรงเรียนบ้านพญาไพร 7.คุ๊กกี้หว่านหอมแดง โรงเรียนบ้านจะตี 8.ของที่ระลึกจากเครื่อง CNC โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) 9.ของที่ระลึกจากเครื่องเลเซอร์ โรงเรียนบ้านปางมะหัน และ 10.หมอนรองคอ ผ้าปักชนเผ่า โรงเรียนบ้านมนตรีวิทยา
ดังนั้น มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นในการพัฒนาส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จึงได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากความยากจน ความขาดแคลนในการดำรงชีวิต และความซับซ้อนทางสังคม โดยการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
ขอบคุณ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย