คอลัมน์ » เล่าเล่นๆ… เป็น… ธรรมทาน

เล่าเล่นๆ… เป็น… ธรรมทาน

6 พฤศจิกายน 2023
48   0

กรรมฐาน 40

เราได้รู้จักกรรมฐาน 40 กันไปแล้วว่ามีถึง 40 วิธีด้วยกัน และว่าเพราะคนเรามีจริตที่ไม่เหมือนกันจึงใช้กรรมฐานที่ต่างกันเพื่อเป็นฐานในการเข้าถึงวิปัสสนาญาณเพื่อการรู้แจ้งในธรรม โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแบ่งจริตของผู้ฝึกจิตปฏิบัติธรรมออกเป็น 6  แบบด้วยกัน

จริต แปลว่าจิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น 6 สายทางด้วยกันคือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต สัทธาจริต พุทธจริต ซึ่งผู้ที่หนักไปทางราคจริต คือผู้ที่รักสวย รักงาม มักส่งอารมณ์ไปชอบใจ ไม่ชอบใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสจนลืมพิจารณาใจตน เหล่านี้ท่านให้ใช้อสุภกรรมฐาน ๑๐ และกายคตาสติ ๑ รวมเป็น 11 แนวทางด้วยกัน

โทสจริต เป็นผู้มักโกรธอยู่เป็นนิจ อะไรนิด อะไรหน่อยก็โกรธเป็นฟืน เป็นไฟ หรือประเภทพูดเสียงดัง เดินลงส้นแรงๆ ทำงานหยาบไม่พิถีพิถัน ใจเร็ว มักพลั้งพลาดอยู่เสมอ ท่านให้ใช้กรรมฐาน 8 คือ พรหมวิหาร 4 และวัณณกสิณ 4 พรหมวิหารก็คือการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานี่เอง ส่วนวัณณกสิณ ก็คือกสิณสีเลือกมาแค่ 4 คือสีแดง สีเขียว สีเหลืองและสีขาว ทั้ง 8 กสิณนี้เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับอารมณ์ความพอของตน

โมหจริต และวิตกจริต เป็นอารมณ์ที่ตกอยู่ในความลุ่มหลงไปสารพัด ชอบเก็บสะสมสารพัดสมบัติรกทั้งหลาย ไม่ยอมจะตัดใจทิ้งสักที ส่วนพวกวิตกจริตก็ความคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด คิดฟุ้งซ่านไปสารพัด ทั้ง 2 จริตนี้ท่านให้ใช้อานาปานสติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นกรรมฐานที่ระงับความฟุ้งซ่าน และขตัดความมืดในใจได้อย่างเป็นผล

สัทธาจริต มีจิตโน้มไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ มักเชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผลจนถูกหลอกลวงได้ง่าย ท่านให้ใช้อนุสติ 6 คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ กรรมฐานทั้ง 6 นี้จะช่วยดำรงสติให้ผ่องใส มีจิตใจที่มั่นคงดีงามได้

พุทธจริต เป็นผู้มีปัญญา เจ้าความคิด มีความฉลาดอยู่ประจำใจ การคิดอ่าน การทรงจำดี ปฏิภาณดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน 4 อย่างคือ มรณานุสติกรรมฐาน อุปสมานุสติกรรมฐาน คือการนึกถึงนิพพานเป็นอารมณ์ อาหารปฏิกูลสัญญากรรมฐาน คือการพิจารณาอาหารที่ทานว่ามีที่มาจากความสกปรก แม้เข้าไปอยู่ในการก็ยังคงความเป็นของสกปรกก่อความเน่าเหม็นในกายต่อไป และจตุธาตุววัฏฐาน การพิจารณาร่างกายในความเป็นธาตุ 4 แยกกองออกมาคล้ายกายคตาสติ

รวมแล้วได้ 30 อย่างหรือ 30 กองให้เหมาะกับจริตทั้ง 5 สายทาง 6 จริต ส่วนที่เหลืออยู่ 10 กอง คืออรูป 4 และภูตกสิณ 4 คือปถวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ หรือ ดิน ไฟ ลม น้ำ นั่นเอง ท่านเรียกว่าภูตกสิณ และอีก 2 คือ อาโลกกสิณ คือกสิณเพ่งความว่าง และอากาศกสิณ คือกสิณเพ่งเพ่งความว่างเช่นเดียวกับอาโลกกสิณ เพียงเป็นตัวรู้ว่าเป็นอากาสกสิณังแทนคำว่าอาโลกกสิณังในอาโลกกสิณ เป็นกสิณเฉพาะทางที่ฝึกเพื่อให้ได้ฤทธิ์ต่างๆตามแนวทางของการใช้ฤทธิ์ในแต่ละประเภท ผู้ฝึกต้องฝึกภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์โดยเฉพาะ

เรียบเรียงจากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยพระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี) ศิษย์หลวงพ่อปานวัดบางนมโค อยุธยา

หนังสือเล่มนี้ซื้อมาจากบ้านซอยสายลม ตั้งแต่ปี 2526 อาจยังพอมีพิมพ์ออกมาทดแทนอยู่ หากสนใจลองไปถามได้ที่ตึกรับแขก วัดท่าซุงค่ะ