คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

6 พฤศจิกายน 2023
28   0

  1. การทำงานทดแทนภาระหน้าที่ที่สูญเสียไป

เมื่อต่างยอมรับสภาพการเป็นผู้สูงอายุ และต้องถูกลดภาระหน้าที่การงานที่เคยทำประจะ จึงสอบถามว่าได้ทำอะไรบ้าง เพื่อเป็นการทดแทนหน้าที่ที่สูญเสียไป ผลจากการสอบถามพบว่าภายหลังเมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้ว ส่วนใหญ่จะทำงานบ้าน ทั้งหญิงและชาย ที่ยังคงทำงานเหมือนเดิมมีเพียงร้อยละ 10 ของทั้งหมด

เมื่อผู้สูงอายุตอบว่าทำงานบ้าน ผู้วิจัยได้ถามต่อไปโดยขอให้แจกแจงรายละเอียดว่า “การทำงานบ้าน” หมายถึงอะไร และทำอะไรบ้าง ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 10 กิจกรรม คือ รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหลาน ปลูกดอกไม้ เลี้ยงเป็ดไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว เฝ้าบ้าน ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้า และถางหญ้าดายหญ้า กิจกรรมทั้งหมดนี้ ผู้สูงอายุทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ทำมากกว่า 1 กิจกรรมขึ้นไป แต่บางคนก็ทำเพียงอย่างเดียว ดังตารางที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่ทำหลายอย่างประกอบกัน

การทำงานทดแทนภายหลังเป็นผู้สูงอายุนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ได้หยุดทำงานประจำที่เคยได้ทำมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และได้ทำงานอื่นๆ ทดแทนเวลาใจชีวิตประจำบัน ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดได้ตอบว่า “ทำงานบ้าน” ซึ่งหมายถึง งานในบ้าน และ/หรือ บริเวณบ้าน โดยไม่ถือเป็นงานที่มีรายได้เพื่อยังชีพ แต่เป็นงานที่ทำเพื่อจะได้ไม่อยู่ว่างๆ โดยเปล่าประโยชน์

ผู้สูงอายุได้ให้ความหมายของ “ทำงานบ้าน” หมายถึงทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ต้องใช้แรง หรือเป็นงานเบาๆ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมีกิจกรรมหลายๆ อย่างภายในวันๆ หนึ่ง กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุพอใจ แม้จะมีปริมาณงานที่ลดลงไปงานที่ผู้สูงอายุทำอยู่นี้จะเรียกว่าเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ หรือเรียกว่างานใจยามว่าง บางคนจะทำทุกวัน บางคนจะทำเฉพาะที่ตนเองถนัด เช่น ผู้สูงอายุชายจะถางหญ้า ตัดกิ่งไม้ ปลูกต้นไม้ ส่วนงานในบ้าน ผู้สูงอายุหญิงและลูกสาวจะเป็นผู้รับผิดชอบจากการสังเกตการณ์ พบว่า ผู้สูงอายุหญิงค่อนข้างจะมีภาระหน้าที่มากกว่าผู้สูงอายุชาย โดยเฉพาะในเรื่องการเลี้ยงหลาน ส่วนผู้สูงอายุชายจะใช้เวลาในชีวิตประจำวันไปวัด สนทนาธรรม และเสวนากับเพื่อนๆ ในละแวกบ้าน สำหรับการเลี้ยงหลานเล็กๆ จะเป็นแรงงานเสริมลูกสาว เช่น ไกวเปล ป้อนข้าว หรือถ้ามีสุขภาพดี ก็สามารถอุ้มหลานๆ ได้

มีผู้สูงอายุหญิงส่วนใหญ่ที่ตอบว่า “ขณะนี้ยังคงทำงานบ้านเหมือนเดิม เช่น หุงข้าว ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า เลี้ยงหลาน และเลี้ยงไก่” และยืนยันว่างานประเภทนี้ได้ทำมานานแล้ว ตั้งแต่อยู่กันกับผู้สูงอายุชาย จึงมิใช่งานใหญ่แต่อย่างใดและบางคนได้ตอบว่าสามีซึ่งเป็นผู้สูงอายุเหมือนกัน เมื่อทำงานในไร่นาไม่ไหวก็ช่วยเหลือทำงานบ้านด้วย แต่จะหนักไปในด้านที่ใช้ฝีมือ เช่น จักสาน ผู้สูงอายุชายบางคนทำงานบ้านช่วยตัวเองได้ เช่น ซักผ้าของตนเอง หุงข้าว ตักน้ำ เผาถ่านและไปช่วยทำงานที่วัด มีเพียงจำนวนไม่กี่รายที่ตอบว่า ภาระงานเดิมยังไม่หมดไปโดยเด็ดขาดเพราะถ้าหากมีใครมาว่าจ้างทำงานด้านการใช้แรงงานก็ไปทำแต่นานๆ ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุชาย

การทำงานเพื่อทดแทนภาระหน้าที่ที่สูญเสียไปของผู้สูงอายุไทยในภาคกลางสะท้อนให้เห็นแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีความเป็นชนบท ภาระหน้าที่การงานเปลี่ยนจากงานในไร่นามาทำงานทดแทนใหม่แต่ก็ยังคงเป็นงานที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ดไก่ ปลูกดอกไม้ เพียงแต่เป็นงานที่ใช้แรงงานน้อยลง และเป็นงานที่ทำในบริเวณบ้าน ซึ่งถ้าหากพิจารณาสภาพดังกล่าวนี้ ภาระหน้าที่ยังมีลักษณะเหมือนเดิม จะแตกต่างก็เพียงไม่สามารถมีรายได้เหมือนงานที่เคยทำมาก่อน สำหรับผู้สูงอายุหญิงส่วนใหญ่จะตอบเช่นเดียวกัน คือ หน้าที่การงานไม่ได้เปลี่ยนแปลงลงไป หรือสูญเสียไป เพียงอาจลดลงไปจากเดิม แต่ก็มีลูกหลานที่มาช่วยทำงานพอช่วยแบ่งเบาภาระที่เคยทำมาตลอดไปได้บ้าง

นอกจาก “การทำงานบ้าน” ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักแล้ว พบว่ายังมีกิจกรรมอื่นๆ คือ จักสาน ขายของ รับจ้าง หาปลา พับถุง เผาถ่าน ปลูกผักขาย กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว บางกิจกรรมเป็นการหาเงินเพื่อเสริมรายได้ เพราะมีทักษะพิเศษ เช่น จักสาน เผาถ่าน ซึ่งเป็นงานที่ได้ทำทดแทนภาระหน้าที่ที่สูญเสียไป แต่ก็ได้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น

ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุทั้งหมดได้ตอบว่าตนเองไม่สามารถทำงานได้เลย ซึ่งมีจำนวนเท่ากับผู้ที่คิดว่าทำงานได้บ้าง ส่วนผู้สูงอายุที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ 75 เปอร์เซ็นขึ้นไปนั้นมีเพียงร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ผู้ที่ตอบว่าไม่มีโอกาสทำงานเลย ส่วนมากจะมีอายุสูงมากหรือเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่แข็งแรง จะเฝ้าบ้านและทำงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน ซึ่งปรากฏว่าผู้สูงอายุกว่าครึ่งได้ทำอย่างอื่นทดแทนหน้าที่การงานเดิม เช่น จากการที่เคยทำนาทำไร่จะมารับจ้างเบาๆ เช่น ปอกแห้ว หว่านข้าว เลี้ยงเป็ดไก่ รับจ้างสาวเรือข้ามฟาก ปลูกพืชผักสวนครัว ทำของชำร่วย ส่วนผู้ที่ตอบว่าทำงานเหมือนเดิม 3 รายนั้น คือ ทำเฟอร์นิเจอร์ ค้าขาย และมีเพียงรายเดียวที่ทำนาอยู่ กล่าวโดยสรุป ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่และบทบาทจากอาชีพเดิมมาทำอย่างอื่นแทนซึ่งเป็นด้านเกษตรกรรม ส่วนผู้ที่ยังคงทำงานเหมือนเดิมจะเป็นงานเบา ผู้สูงอายุแทบทุกคนรู้สึกเสียดายที่หมดโอกาสได้ทำงานอย่างเดิมอีก