คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

5 กรกฎาคม 2023
223   0

  1. ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายในทัศนะของผู้สูงอายุ

ความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นประเด็นถกเถียงในปัจจุบันที่มีการกล่าวอยู่เสมอว่าสังคมทั่วๆ ไป รวมทั้งสังคมไทยได้กำหนดให้ผู้ชายมีอำนาจและมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังถือว่าผู้หญิงเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของผู้ชาย ผู้หญิงสูญเสียสิทธิเสรีภาพรวมทั้งยังได้รับการข่มเหงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ เพราะสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่จะสร้างกฎเกณฑ์ และระเบียบทางสังคมขึ้นมาเพื่อกลุ่มผู้ชาย ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศจึงเป็นประเด็นที่คณะผู้วิจัยต้องการศึกษาว่าสถานภาพทางสังคมของผู้สูงอายุหญิงและผู้สูงอายุชายมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีความไม่เท่าเทียมตามที่ได้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่ ถ้าหากมีความเท่าเทียมกันมีเหตุผลและตัวอย่างที่จะอธิบายได้อย่างไร เช่นเดียวกันถ้าหากไม่มีความเท่าเทียมกันจะมีเหตุผลและคำอธิบายอย่างไร การศึกษาครั้งนี้ ได้ขอให้ผู้สูงอายุแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระอย่างเต็มที่

เมื่อได้สรุปรวมคำตอบจากผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งมีผู้สูงอายุหญิงมากกว่าผู้สูงอายุชายกว่าสองเท่านั้น ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าในสังคมไทยผู้หญิงและผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน (ร้อยละ 57.4) ส่วนผู้สูงอายุชายก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่เห็นว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลทั้งสองกลุ่มสามารถเปรียบเทียบได้ ดังนี้

เมื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างความเท่าเทียมกันและไม่เท่าเทียมกันของ “เพศชาย” และ “เพศหญิง” ในทัศนะของผู้สูงอายุ ดังที่ได้แสดงในตารางข้างต้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นดัชนีบ่งชี้ความเท่าเทียมกันและไม่เท่าเทียมกันดังนี้คือ

  1. การศึกษา ผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มได้ชี้ให้เห็นว่า ในอดีตผู้ชายจะได้รับการศึกษาทำให้ผู้ชายได้มีโอกาสได้รับความรู้ จึงมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงเมื่อไม่ได้รับการศึกษาจึงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ทำหน้าที่ปรนนิบัติสามีเพราะเป็นผู้มีความรู้ ผู้สูงอายุจึงสามารถทำงานนอกบ้านได้ ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงได้รับโอกาสได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชาย ความทัดเทียมจึงเกิดขึ้น ผู้หญิงบางคนเก่งกว่าผู้ชาย หรือได้รับการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย ดังนั้น “การศึกษา” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีความทัดเทียมกันและมีสิทธิ์ ศักดิ์ศรี และเสมอภาคมากขึ้น
  2. สภาพร่างกาย ผู้สูงอายุที่เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเป็นเพราะผู้ชายมีสรีระที่แข็งแรงมากกว่าจึงเป็นผู้ที่ทำงานได้มากกว่า การที่ผู้ชายมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงนี้เป็นปัจจัยที่แบ่งหน้าที่การงานระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ความไม่เท่าเทียมในนัยนี้มีความหมายสองนัย คือ นัยแรกผู้ชายซึ่งเป็นผู้ที่แข็งแรงกว่าจะทำงานมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า โดยที่งานบางอย่างผู้หญิงไม่สามารถทำได้คือ ขึ้นต้นไม้ ตัดต้นไม้ ยกของหนักๆ ส่วนผู้หญิงจะทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ลักษณะของการทำงานจึงไม่เท่าเทียมกันในแง่ของการใช้แรงงาน สำหรับนัยที่สองนั้น ผู้สูงอายุได้อธิบายว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะทำงานที่ไม่ได้แยกตามกำลังแรงงานโดยเด็ดขาด ผู้หญิงก็ทำงานช่วยในไร่นาหรือใช้แรงงานได้เช่นผู้ชาย แต่ความไม่เท่าเทียมกัน คือ ผู้หญิงจะทำงานมากกว่าผู้ชาย คือ ทั้งงานในไร่นาและงานบ้าน จึงมองเห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมกนเป็นการเอาเปรียบผู้หญิง เหตุผลที่ผู้สูงอายุหญิงได้อธิบาย คือ ผู้ชายที่ไม่ทำงานบ้านโดยอ้างอยู่เสมอว่าทำงานหนักในไร่นามาแล้ว พอกลับมาถึงบ้านต้องการพักผ่อน
  3. สถานภาพทางสังคม ในสังคมทั่วๆ ไป รวมทั้งสังคมไทยยกย่องผู้ชายให้เป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าผู้หญิง ผู้สูงอายุหลายคนยกตัวอย่างการให้ผู้ชายมีศักดิ์ศรีและมีสถานภาพที่สูงกว่าหญิง ในด้านศาสนา คือ สามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้ ส่วนผู้หญิงถูกสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจอยู่กีดกันและกำหนดให้อยู่ในหน้าที่ตามที่สังคมกำหนด เช่นผู้ชายจะคุยกับพระในโบสถ์ ผู้หญิงต้องทำงานในครัว ทำหน้าที่บริการผู้ชาย นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องคอยรับคำสั่งและอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชายตามที่ผู้ชายได้สร้างบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของผู้ชายเอง อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีความคิดเห็นและเชื่อว่าปัจจุบันนี้สถานภาพของผู้หญิงในสังคมดีขึ้น เพราะการศึกษาและความรู้ความสามรถ ทำให้ผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมสูงขึ้น จนเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้แทนราษฎร หรือมีตำแหน่งทางราชการสูงๆ เช่นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
  4. เศรษฐกิจ การที่ผู้ชายเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำของครอบครัว และเป็นผู้กุมอำนาจทางการผลิต การตัดสอนใจในการประกอบอาชีพจึงมอบหมายให้ผู้ชายเป็นหลัก ในความหมายนี้ ผู้สูงอายุจึงเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้ที่เก่งและมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง มีความคิดความอ่านเหนือกว่าผู้หญิง ด้วยเหตุผลนี้จึงเชื่อว่าผู้ชายมีความแตกต่างไปจากผู้หญิงซึ่งเปรียบเสมือนผู้พึ่งพิงผู้ชายในด้านเศรษฐกิจตลอดมา ผู้สูงอายุหลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันผู้ชายคือผู้หญิง มีความเท่าเทียมในแง่เศรษฐกิจ เพราะผู้หญิงก็เก่งในการทำมาหากิน มีความคิดความอ่านเช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงมีความขยันและอดทน ทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานและมีความสามารถทำมาหากินได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
  5. บรรทัดฐานทางสังคม แต่เดิมสังคมไทยได้กำหนดโครงสร้างให้ผู้หญิงและผู้ชายมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน ตามกรอบที่สังคมเขียนวงให้มีพฤติกรรมตามที่สังคมต้องการ เช่น ผู้หญิงต้องเชื่อฟังผู้ชาย ขาดความอิสระในการคิดและการกระทำ หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ จึงทำให้ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว เรียบร้อย หรือถ้าหากสามีตายจะแต่งงานใหม่ไม่ได้ จะถูกตำหนิหาว่าเป็นคนไม่ดี ผู้สูงอายุได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันสังคมเจริญขึ้น ผู้หญิงได้รับการศึกษา มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถมากกว่าเดิม ทำงานนอกบ้านได้เช่นเดียวกับผู้ชาย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน หน้าที่ของการเป็นผู้หญิงก็ยังคงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นแม่บ้าน ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สามี และเลี้ยงลูกอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม คือ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีการแบ่งงานกันทำตามความสามารถ ที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้านก็เพราะเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ มีทักษะฝีมือ ผู้สูงอายุหลายคนเสริมว่าการทำงานบ้านของผู้ชายก็มี ไม่ว่าจะต้องซักผ้า ทำอาหาร หรือทำความสะอาดบ้านก็ทำได้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

การแสดงความคิดเห็นของผู้สูงอายุในการศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่าแนวคิด เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายนั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าในอดีตค่อนข้างจะมีความชัดเจนที่ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียง และต้องคอยฟังคำสั่งอย่างเดียว ผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจแท้จริง แต่ปัจจุบันสังคมเจริญขึ้นมีการพูดถึงสิทธิ ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันมากขึ้นในสังคม เพราะมีการใช้เหตุผล เช่นถ้าเรื่องในบ้านผู้หญิงจะเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเป็นผู้ตัดสินใจทุกเรื่อง แต่ถ้าเป็นเรื่องนอกบ้านผู้ชายจะมีอำนาจตัดสินใจมากกว่า จึงเป็นการทำงานคนละหน้าที่ แตกต่างในอดีตผู้ชายจะมีบทบาทมากกว่าผู้หญิงเพราะมีความแข็งแรงเป็นผู้ใช้แรงงานมากกว่า แต่ปัจจุบันมีการใช้ความรู้ความสามารถโดยเฉพาะผู้หญิงก็ได้รับการศึกษาเหมือนกัน จึงมีอำนาจต่อรองและทำให้มีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

สำหรับผู้สูงอายุที่ยืนยันว่า ไม่มีความเท่าเทียมกันและเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะว่าเป็นค่านิยมของสังคม และเป็นสิ่งที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วนานแล้ว ส่วนการที่ไม่มีข้อพิพาทหรือมีความขัดแย้งก็เพราะแต่ละครอบครัวมีการตกลงกันด้วยเหตุผล อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในภาพรวมของสังคมผู้สูงอายุส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจุบันนี้ต้องถือว่าเท่าเทียมกัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิหน้าที่เหมือนกัน ผู้ชายทำอะไรได้ผู้หญิงก็ทำได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักปกครอง หมอ นักการเมืองที่มีความไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ขายจะเหมือนกว่ากันเพราะได้เรียนหนังสือมากกว่า

ในส่วนสุดท้ายของคำถามนี้ได้สอบถามผู้สูงอายุว่า ถ้าไม่มีคามเท่าเทียมกัน จะทำให้มีความเท่าเทียมกันได้อย่างไร ผู้สูงอายุส่วนมากเชื่อว่าสังคมพยายามทำให้ผู้ชายและผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันในด้านการให้สิทธิ ความเสมอภาค ทั้งทางกฎหมาย และโอกาสทางสังคมที่ไม่กีดกันผู้หญิง เช่น การศึกษามีแต่เพียงทางด้านศาสนาเท่านั้น ที่ผู้หญิงไม่สามารถบวชเรียนเป็นภิกษุณีได้ ผู้หญิงจึงไม่สามารถทดแทนคุณบิดามารดาด้วยการบวช จึงทำได้เพียงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แทน

ผู้สูงอายุที่เชื่อว่าไม่มีวิธีใดที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค และจะยังคงมีความแตกต่างเช่นนี้อยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาช้านาน แต่ถ้าหากจะลดความแตกต่าง และให้มีความเสมอภาคกันมากขึ้น จะทำได้เหมือนกัน คือ ต้องลดความเป็นหญิงเป็นชายลง เจรจาและฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือกันทำมาหากิน ทำงานบ้าน ทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่ควรถือว่างานนั้นเป็นของผู้ชายงานนี้เป็นของผู้หญิง แต่จะต้องยอมรับฟังเหตุผล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน สำหรับในแง่กฎหมาย ควรมีการแก้ไขให้สิทธิผู้หญิงมากขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้หญิงให้พ้นไปจากการถูกรังแก เอารัดเอาเปรียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า