ผมเขียนบทความนี้เนื่องจากปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุ หลายคนอยู่บ้านตามลำพัง คนหนุ่มสาวไปทำงานในเมืองใหญ่ไม่มีคนดูแลใกล้ชิด ทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปด้วยความลำบาก บางครั้งไม่สามารถทานยาตามที่แพทย์สั่ง ทำให้อาการไม่หาย การมีทีมเยี่ยมบ้านที่ทำงานประสานกันตั้งแต่อสม. รพสต. รพช. ชุมชนและทีม รพ.จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วยหลากหลายวิชาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเยี่ยมบ้านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และนับวันจะยิ่งมีความจำเป็นในทุกชุมชน
ปัจจุบันการเยี่ยมบ้านถือเป็นภาระกิจสำคัญอันหนึ่งของสาธารณสุข เนื่องจากเป็นการให้บริการทางการแพทย์เชิงรุกเพื่อลดความแออัดในรพ.(ทั้งผู้ป่วยที่รับนอนในรพ.และผู้ป่วยนอก) เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่รพ.ลำบากเช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้
ทีมผู้เยี่ยมบ้านควรประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ นักสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักโภชนาการ ฯลฯ เพื่อเป็นการดูแลแบบองค์รวม สามารถให้คำแนะนำได้ทุกเรื่องทั้งสุขภาพผู้ป่วย สภาพที่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสอนให้ญาติหรือผู้ดูแลเข้าใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยจะต้องมีการเตรียมงานล่วงหน้าก่อนว่าจะไปเยี่ยมดูอะไรบ้าง ต้องทราบรายละเอียดข้อมูลต่างๆที่สำคัญ จึงจำเป็นต้องมีการทำงานเป็นเครือข่าย เช่นอาศัยอสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เพื่อนบ้านในชุมชนโดยมี จนท.รพสต. เป็นผู้ประสานงาน ยึดเอาประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
การเยี่ยมบ้านนั้นไม่เพียงทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเท่านั้น ถ้าเราทำให้เป็นเครือข่ายที่แท้จริงจะเป็นการบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องในทุกด้านเช่นกระทรวงพัฒนาสังคมฯมี อพม.(อาสาสมัครพัฒนาสังคม)เป็นผู้ประสานงานสามารถเยี่ยมเพื่อช่วยเหลือเรื่องรายได้และสวัสดิการ กระทรวงเกษตรสามารถมาให้ความรู้ด้านการใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชผักสวนครัวให้ผู้ป่วย ญาติใช้รับประทานหรือเพิ่มรายได้ มีอปท.เช่นเทศบาล อบต.ร่วมทีมเพื่อทำโครงการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในชุมชนโดยจ้างคนในท้องถิ่นเป็นการเพิ่มงานให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานในเมือง เป็นต้น
ผมพบว่าผลพลอยได้ที่มีมากกว่าการเยี่ยมบ้านของทีมรพ.ก็คือเกิดความสัมพันธ์ที่ดีงามของคนในครอบครัวซึ่งขาดหายไปในบางครอบครัวกลับคืนมาใหม่ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างพี่น้องเพื่อดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว ทั้งยังเกิดความสัมพันธ์ในชุมชน ช่วยกันดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งเหมือนเมื่อครั้งในอดีต จะเป็นการแก้ไขปัญหาสังคมหลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือชุมชนเช่นความรุนแรงในครอบครัวและยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามหลายๆครั้งที่ทีมเยี่ยมบ้านรู้สึกท้อใจเนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่ยอมให้ความร่วมมือในการดูแลตนเอง ไม่ยอมทานยาหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อแล้วเนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าอะไรหรือไม่ต้องการเป็นภาระของคนอื่น ผมเคยได้ยินพยาบาลท่านหนึ่งที่อยู่ในทีมเยี่ยมบ้านเล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุคนหนึ่ง ป่วยเป็นโรควัณโรคปอด อาศัยอยู่ในบ้านคนเดียว ทานยารักษาวัณโรคนานเป็นเดือนแล้วไม่ดีขึ้น ยังคงตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ ซึ่งจะเป็นเหตุให้แพร่กระจายเชื้อวัณโรคให้คนอื่นๆได้ พยาบาลท่านนี้เกิดความสงสัยว่าทำไมเชื้อวัณโรคจึงไม่หายทั้งที่รักษามานานพอควรแล้ว จึงเอาใจใส่ไปเยี่ยมทุกวันเช้าเย็น จนพบว่าผู้ป่วยไม่ได้ทานยาเลยเมื่อให้ทานยาต่อหน้าก็จะไม่ยอมกลืนยาเนื่องจากไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ผู้ป่วยเล่าให้เธอฟังว่าภรรยาเสียชีวิตนานแล้วเดิมอยู่กับลูกสาวที่มีเพียงคนเดียวแต่ครึ่งปีก่อนเข้าไปทำงานในเมืองและไม่ติดต่อมาอีกเลย ทำให้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อเธอรู้ความจริงจึงขอให้ทานยาทุกวันโดยเธอจะมาดูแลตลอด ทำหน้าที่แทนลูกสาวและจะพยายามหาทางติดต่อลูกสาวให้พบ เธอพบว่าสองสัปดาห์ต่อมาตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะผู้ป่วย ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหน้าตาแจ่มใส สามารถลุกจากเตียงมาทำงานบ้านและสานตะกร้าขายได้ ทั้งยังบอกเธอว่าอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกครั้งที่เห็นเธอมาดูแลเอาใจใส่เหมือนเป็นลูกสาวตนเองและมีความหวังที่จะพบกับลูกสาวด้วย เธอสามารถติดต่อลูกสาวได้ในที่สุดและหลังจากทราบเรื่องก็ได้เดินทางมาเยี่ยมพ่อเป็นประจำ ผมชื่นชมพยาบาลคนนี้มากที่ทำงานด้วยหัวใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วยด้วยความเห็นอกเห็นใจและปรารถนาดีจนผู้ป่วยยอมแพ้ต่อความพยายามของเธอ ผมอยากเห็นพวกเราทุกคนเป็นเช่นนี้ เพราะเรามีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นทุกข์จากความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความมีคุณค่าในชีวิตและการเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย
ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้วการที่เราจะรักษาให้ได้ผลจำที่จะต้องทำให้มีศรัทธาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยการรู้สึกว่ายังมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในสังคม ผมเคยเสนอทีมงานว่าอยากให้ทำโครงการ”มิตรต่างวัย” นำเอาเด็กและเยาวชนไปเยี่ยมในวันหยุด อ่านหนังสือให้ฟัง ชวนพูดคุยและถามถึงเรื่องราวต่างๆในอดีต ให้ผู้ป่วยซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมายได้เล่าให้คนรุ่นหลังฟังเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังมีประโยชน์ต่อสังคม ชีวิตยังมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า อยากที่จะมีชีวิตต่อไป การรักษาจึงจะประสบความสำเร็จ
เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานเป็นผอ.รพ.น่านนั้นผมจำได้ว่าในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำป่าหลาก ระดับน้ำจะสูงขึ้นเร็วมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ครั้งหนึ่งที่มีการเตือนเรื่องน้ำท่วมฉับพลัน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เป็นหัวหน้าทีมเยี่ยมบ้านได้โทรฯหาผมเพื่อปรึกษาเรื่องผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาอยู่ที่บ้านบางคน บ้านอยู่ใกล้น้ำน่านจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ ซึ่งจะทำให้การคมนาคมถูกตัดขาด การเยี่ยมบ้านคงเป็นไปด้วยความลำบาก อาจก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยได้ จึงอยากขออนุญาตใช้รถรพ.ออกไปรับผู้ป่วยเหล่านี้ที่มีอยู่3-4คนมานอนในรพ.จนกว่าภาวะวิกฤติจะผ่านไป ผมอนุญาตพร้อมกับชื่นชมและขอบคุณแทนคนไข้ที่คุณหมอยังนึกถึงและเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลาเป็นการดูแลผู้ป่วยดุจญาติมิตรอย่างแท้จริง
ผมจึงคิดว่าการเยี่ยมบ้านที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความแออัดในรพ.และในการดูแลผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามในสังคมเนื่องจากหลายๆครอบครัวในปัจจุบันมีแต่ผู้ป่วยผู้สูงอายุที่ดูแลกันเอง คนหนุ่มคนสาวต่างแยกตัวไปทำงานไกลบ้าน ผู้สูงอายุก็ไม่อยากย้ายไปอยู่ด้วยเนื่องจากคุ้นเคยกับสังคมที่บ้านซึ่งอยู่มานานตลอดชีวิต ในรายที่ลูกหลานมีฐานะก็จะจ้างคนมาช่วยดูแลที่บ้านได้แต่ส่วนใหญ่ไม่มีกำลังพอที่จะจ้างคนช่วยดูแล จึงต้องอาศัยคนในชุมชนช่วยกันดูแลแทน อาจใช้เงินบางส่วนของงบประมาณส่วนท้องถิ่นช่วยบ้าง อย่างไรก็ตามผู้ที่ช่วยดูแลเหล่านี้จำเป็นต้องรู้หลักของการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจบนพื้นฐานความรู้เป็นสำคัญ ทีมเยี่ยมบ้านจึงต้องมีการอบรมและเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาที่สามารถทำงานประสานกันได้ตลอดเวลา จึงจะทำให้ได้ผลและควรบูรณาการกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกษตรฯ มหาดไทย เทคโนโลยีสารสนเทศน์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในสังคมเกิดเป็นสังคมเอื้ออาทรเหมือนในอดีต
ผมขอขอบคุณทีมเยี่ยมบ้านที่ประกอบไปด้วยแพทย์ทันตแพทย์พยาบาลเภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแทนผู้ป่วยและญาติที่ทำให้การเยี่ยมบ้านประสบผลสำเร็จและขอให้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อความสุขของผู้ป่วยทุกคน
“ขอบคุณที่เป็นคนดี”
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์