คอลัมน์ » อ่านใจรัฐบาลใหม่ ทิศทางการศึกษาไทยอนาคต

อ่านใจรัฐบาลใหม่ ทิศทางการศึกษาไทยอนาคต

2 มิถุนายน 2023
141   0

ขณะปั่นต้นฉบับ “ปักหมุดการศึกษา”นี้ รัฐบาล “พิธา 1” ยังไม่สะเด็ดน้ำ !

ต้องฝ่าด่านอีกหลายกระบวนยุทธ ทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญในกรณีมีนักร้องโฟกัสคุณพิธากับหุ้นสื่อ สว.กรณีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ กระแส IO กรณี ม.112 และพรรคการเมืองหอกข้างแคร่ และฝ่ายตรงข้ามที่ดาหน้าตีวงปากว่าตาขยิบกันพึ่บพั่บ

ดาหน้าถาโถม…จนพรรคเต็ง 1 จ๋า อย่างพร­รคก้าวไกลโดยการนำของหัวหน้าพรรค ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องออกแรงเดินสายขอบคุณขอใจมวลชนสีส้มและลดเพดานประเด็นนโยบายที่ว่าละเอียดอ่อนลงมา ให้เป็นภาระพรรคในสภามากกว่าเจราจาบนโต๊ะกลม

โดยเฉพาะประเด็น ม.112 จัดกรอบให้อยู่นอก MOU ไปอยู่ในประเด็นพรรคการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อ“ปะจะฉะดะ” กันในสภา หรือผ่านรัฐมนตรีจากพรรคนั้นๆ ไปลำเลียงผ่านกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ และภาคส่วนอื่นๆตามระบบต่อไป

ผมจับตา MOU 23 ข้อ” ข้อตกลงร่วมของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า จะมีประเด็น “การศึกษา” ปรากฏไหม ?

ก็ไม่ผิดหวัง ยังปรากฏในข้อ 21 แม้จะเป็น wording เดิมๆคุ้นหูคุ้นตา คือ “การยกระดับคุณภาพ” “การลดความเหลื่อมล้ำ” และ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” แต่ได้เห็นอยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะค่อยไปขยายผลในองค์คณะบุคคลอื่นๆต่อไป ซึ่งหากคาดการณ์ไม่ผิด คนจากพรรคก้าวไกลน่าจะเข้ามานั่งเป็นเสนาบดีหลัก ส่วนรมช.จะมาจากพรรคใดก็แล้วแต่ข้อตกลง อาจจะเป็นคนนอกก็ได้

พลพรรคก้าวไกล ล้วนมีวิชั่น วิธีคิด และวิธีการที่ “ก้าวกระโดด”จริงๆ เรื่องการศึกษาก็คงมีทิศทางที่สนองตอบต่อยุคสมัย และเครื่องไม้เครื่องมือที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน “การปฏิรูปการศึกษา” น่าจะเป็นวาทกรรมทางการศึกษาที่หวนคืนกลับมาหลอกหลอนวงการครู ส่วนจะเป็นในรูปแบบหรืออรรถรสใดนั้น โปรดติดตามต่อไปด้วยใจระทึก ! ว่าเนื้อหาสาระการบริหารจัดการศึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่จะปักหมุดที่จุดคีมึ้งใด “คน งาน หรือเงิน” 

ที่เชียงรายมีว่าที่ส.ส.สายการศึกษาท่านหนึ่ง คือ ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์  ส.ส.เขต 5 พรรคเพื่อไทย ซึ่งเปิดดูปูมประวัติการทำงานของดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ แล้ว ไม่ธรรมดา เรียกว่าไต่เต้าจากครูภูธร สู่ผู้บริหารสถานศึกษา นักบริหารการศึกษา ตำแหน่งล่าสุดคือ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เชื่อว่า ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ จะทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนเชียงราย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส.ส.น้ำดีที่มีคุณภาพของเชียงราย และถ้าเข้าตากรรมการก็น่าจะลากยาวเข้าสภาได้อีกหลายยุคหลายสมัย นำนโยบายสังคมและการศึกษาของรัฐบาล หรือของพรรคลงสู่พื้นที่แบบเข้มข้น เชิงรุก เชื่อว่า ฐานคะแนนเสียงที่เป็นครูบาอาจารย์ ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา ก็มีไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะเยาวชนวัยเรียนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มพลังที่มีบทบาทชี้นำการเมืองในท้องถิ่นได้มากที่สุด เพราะในสมัยหน้าหากเอา 4 ปีมาบวก กระแสพรรคน่าจะลดระดับลง กระแสบุคคลในพื้นที่น่าจะตีตื้นขึ้นมา

มีโอกาสคุยกับว่าที่ส.ส.เชียงราย เขต 5 จากพรรคเพื่อไทย ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ คนยางฮอม ขุนตาล ท่านฝากถึงประชาชนคนเชียงรายตลอดจนนักการศึกษาทุกระดับว่า

“ทุกคนต้องปรับตัว เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ของโลก ทั้งในวิถีการดำรงชีวิต การสร้าง

คุณภาพชีวิตใหม่ การปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาในทุกมิติสังคม การนำจุดแข็งของพื้นที่มาเป็น Solf Power สร้างรายได้ที่ยั่งยืนบนรูปแบบการบูรณาการ การเชื่อมโยงคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวเรา ครอบครัว หน่วยงาน สังคม และทุกองคาพยพ แล้วเราจะก้าวไปสู่สังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม”     

ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า การเกิดมีเป็นของรัฐบาล “พิธา 1” หากไม่ถูกเตะตัดขาไปเสียก่อนนะครับท่าน ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่โหมด “เปลี่ยนแปลงแบบกระชากวัยสะใจผู้ชม”แน่นอน เพราะดูแล้วกองเชียร์ก็แน่นหน้าเวที กองหลังก็หนุนกันแบบหลังโก่ง กองกลางประเภทนั่งตีขิมอยู่บนภูดูหมูกัดกันก็มีไม่น้อย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “การศึกษา เป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ” ประมาณว่า การศึกษาเป็นยาสารพัดนึก ที่จะสอนให้เด็กและเยาวชนวัยเรียนได้เติบใหญ่ จะคิดอย่างไร? ใช้ชีวิตอย่างไร? ก้าวไปทางไหน? ก็อยู่ที่กระบวนทัศน์กระบวนธรรมด้านการศึกษาชาตินี่แหละที่จะปั้นแต่ง

จะไม่ให้รักชาติ ไม่ต้องรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็เอาหลักสูตรประวัติศาสตร์ไทยออกเสีย ก็ยังได้ เคยมีการทำมาแล้วด้วย เด็กรุ่นนั้นบางคนก็เติบใหญ่มาเป็นข้าราชการ เป็นผู้ทำงานในภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นในวันนี้ก็มี ตีตราบาปให้กับประเทศชาติจนน่าจะกลับตัวลำบากไปแล้ว

บ้านเราเจียงฮาย พ่ออุ้ยแม่อุ้ยก็ยังบ่นกันงึมงำ เด็กๆคนเมืองปัจจุบันน้อยคนที่จะเขียนภาษาเมืองได้ วัดวาอารามเมืองเหนือที่มีอัตลักษณ์พุทธศิลป์ล้านนาโดดเด่นเฉพาะท้องถิ่น ก็ใช่ว่าเยาวชนรุ่นปัจจุบันจะสะกดคำว่า “ภาคภูมิใจในมรดกล้านนา”เป็น ผมมีโอกาสครีเอทแอพติ๊กต่อกโปรไฟล์ “เหนือเมฆ” นำเสนอคลิปแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ติดต่อกันมานานหลายเดือนพบสิ่งผิดปกติ “วัดวาอารามมีจำนวนพระสงฆ์ลดน้อยลงมาก” บางวัดเคยมีพระมีเณรร่วมสิบรูป ทุกวันนี้เหลือ 1-2 รูป ญาติโยมก็ไม่ค่อยเข้าวัด ใบไม้กลาดเกลื่อน คราบฝุ่นละอองเคลือบผนังโบสถ์วิหารแดงเถือก

ถึงขนาดพระคุณเจ้าบางวัดปรารภกับผมว่า “ผู้คนทุกวันนี้นิยมเข้าคุกมากกว่าเข้าวัด!” 

ก็ว่ากันไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนไปของโลกใหม่ ซึ่งก็ย่อมมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม บทบาทการจัดการศึกษาที่จะเข้ามาเป็น AGENDA พัฒนาท้องถิ่นหรือประเทศนี้ให้มีสติคู่ดิจิตอล ให้ธรรมมะอนาล็อก ก็คงต้องฝากผีฝากไข้กับรัฐบาลชุดใหม่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานชุดนี้แหละครับ

อยากรู้ว่าการศึกษาไทยจะไปในทิศทางใดในรัฐบาลใหม่ก็ต้องพุ่งเป้าไปที่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30  หากเป็นคนชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็เมมโมรี่ไว้ที่ประโยคทองที่ว่า “ต้องก้าวไกลการศึกษาไทยก้าวหน้า” ไว้ได้เลย

ครูไทยและครูเชียงรายจะก้าวไปทางไหน..ถ้าตามไทม์ไลน์กลไกตามเวลา สิงหาคม 2566 รู้กัน !