คำพังเพยที่สองที่ได้ถามผู้สูงอายุคือ “ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร” ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าใจความหมายนี้ แต่บางคนไม่เข้าใจและไม่เคยได้ยินมาก่อน คณะผู้วิจัยได้ขอให้ผู้สูงอายุอธิบายความหมายและเปรียบเทียบระหว่าง “ความเป็นหญิงและความเป็นชาย” ตามที่สังคมไทยได้เปรียบเปรยข้อความที่เป็นเสมอนคำอุปมาอุปมัย ของความแตกต่างระหว่างข้าวเปลือกข้าวสาร ผลการรวบรวมความหมาย ที่ผู้สูงอายุสรุปได้ดังนี้
ความหมายของ “ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร”
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชาย เป็นเสมือนพันธุ์ข้าวเก็บไว้ได้ ถ้านำไปปลูกที่ไหนก็งอกที่นั่น ส่วนผู้หญิงเป็นข้าวสารนำไปปลูกไม่ได้ ไม่งอกและเน่าเสีย
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายที่เจ้าชู้ไปที่ไหนก็งอกไปเรื่อยๆ ไปมีเมียอยู่ได้ทั่วไป ส่วนหญิงข้าวสารหมายถึงผู้หญิงไปที่ไหนไม่ได้ต้องเฝ้าบ้าน
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง การเพาะปลูกจากเมล็ดข้าวเปลือกจึงจะกินได้ ส่วนหญิงข้าวสารกินได้เลย ไม่ต้องปลูก
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายต้องออกไปทำนา หว่านข้าวเหมือนข้าวเปลือก ส่วนผู้หญิงทำงานบ้าน ข้าวสาร หมายถึง การคอยดูแลทำกับข้าวหุงข้าวสารให้ผู้ชายกิน
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายเมื่อไปอยู่ที่ไหนก็จะมีเงินทอง ส่วนหญิงข้าวสาร หมายถึง การที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชาย
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายเป็นข้าวเปลือกจะร่วงตกหล่นที่ใดก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น มีชีวิต ส่วนหญิงข้าวสารจะเป็นอาหารของมดและแมลง ไม่งอกงามเหมือนข้าวสาร
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายที่ไปไหนๆ ก็จะงอกแพร่พันธุ์ มีลูกและมีเมียได้หลายคน ผู้หญิงไปไหนไม่ได้ มีแต่เน่าเสีย เหี่ยวเฉาเหมือนข้าวสาร
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ความบริสุทธิ์ ใยตัวแล้วไม่เสียหาย หญิงข้าวสารจะหมายถึง ถ้าสูญเสียความบริสุทธิ์ (เสียตัว) ก็จะเน่าเสียไม่ดี
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายไปที่ไหนก็มีลูกมีเมียได้ แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงก็เปรียบเป็นข้าวสารได้เพราะไปที่ไหนก็มีผัวได้หลายคน งอกไปทั่ว เช่นกัน
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายไปที่ไหนๆ ก็ได้ เหมือนตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ไม่เน่าเสีย ส่วนผู้หญิงเปรียบเป็นข่าวสาร เมื่อทำผิดพลาดจะเน่าเสียคนดูถูกหมดราคา
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง ผู้ชายเป็นผู้ที่มีการเจริญพันธุ์ถาวร ไปที่ไหนๆ ก็มีลูกมีเมียได้ตลอด ส่วนผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือนแล้วก็เหมือนข้าวสารมีลูกต่อไปไม่ได้ หรือไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
- ชายข้าวเปลือก หมายถึง คุณสมบัติที่สามารถเจริญงอกงามได้ ขยายพันธุ์มีลูกหงาน ผู้หญิงมีข้อจำกัด เพราะจะไร้ประโยชน์ ไร้ค่า แพร่พันธุ์ต่อไปไม่ได้เมื่ออายุมากขึ้น
- ชายข้าวเปลือก มีความหมายสองประการคือ เอาไปหุงกินไม่ได้ แต่นำไปเป็นพันธุ์ได้ แต่หญิงข้าวสารสามารถนำไปหุงกินได้ แต่เอาไปทำพันธุ์ไม่ได้ แสดงถึงการไม่เจริญเติบโดสืบพันธุ์ไม่ได้
ความหมายต่างๆ ที่ผู้สูงอายุได้อธิบาย ส่วนใหญ่มีความเข้าใจในความหมายที่ตรงกับคำสอนโบราณได้เปรียบเปรย “ข้าวเปลือก” มีคุณสมบัติในการนำไปทำพันธุ์ สามารถนำไปเพาะปลูกให้เจริญงอกงามต่อไป ไม่มีความเสียหาย ส่วนคำว่า “หญิงข้าวสาร” ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าในความหมายนี้ เพียงแต่คำอธิบายที่อาจแตกต่างกันบ้าง แต่ความหมายรวมจะเห็นคล้อยไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามพบว่าหญิงในส่วนของผู้สูงอายุไม่ทราบและไม่เคยได้ยินคำพังเพยนี้มาก่อนเลย
เมื่อพิจารณาถึงมาตรฐานเชิงซ้อนทางสังคมที่ได้กำหนด “การเป็นชายหญิง” โดยเปรียบเทียบกับข้าวเปลือกและข้าวสารนับเป็นอุปมาและอุปมัยของสังคมไทย ที่ทุกคนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการกินข้าว ที่เข้าใจลักษณะของข้าวเปลือกและข้าวสาร เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรทที่ต้องการบริโภคทุกวัน การที่สังคมกำหนดสถานภาพและบทบาท โดยเปรียบเทียบกับข้าวเปลือกและข้าวสาร กับเพศชายและหญิง จึงเป็นประเด็นที่อาจวิพากษ์ต่อไปว่าการกำหนดดังกล่าวได้สะท้อนแบบแผนทางความคิดซึ่งสรุปได้ดังนี้คือ
- เพศชายเป็นผู้ได้เปรียบทางเพศ เพราะผู้ชายมีสรีระและระบบการเจริญพันธุ์ที่สามารถเป็นพ่อได้กับหญิงทุกคน ทุกแห่ง ดังที่ผู้สูงอายุได้เปรียบเปรยผู้ชายเป็นผู้แพร่พันธุ์และสามารถจะมีลูกมีเมียได้ทุกหนแห่ง
- เพศชายเป็นผู้มีอิสระทางเพศ มีอำนาจสามารถมีเมียได้หลายคน ส่วนผู้หญิงเปรียบเสมือนผู้รองรับความต้องการทางเพศของผู้ชายเพียงคนเดียว และต้องอยู่เฝ้าบ้านเลี้ยงลูก
- เพศชาย เป็นผู้มีสถานภาพที่สามารถสร้างความมั่งคั่งเจริญสมบูรณ์ มีแต่ความเจริญงอกงาม ส่วนผู้หญิงเป็นผู้ด้อยไม่มีคุณประโยชน์ มีแต่จะเน่าเสีย เช่นเดียวกับข้าวสารเมื่อตกหล่นลงพื้นดิน
- เพศชาย เป็นผู้มีอำนาจและถือเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับว่าถูกต้องแม้จะมีเมียหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับหลายหญิงไม่เป็นการเสียหาย แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีมลทินถูกตำหนิถูกลงโทษ เป็นความเสียหายหากมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ผู้หญิงจึงถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบที่ต้องรักนวลสงวนตัวเพื่อสามีเพียงคนเดียว ดังนั้นผู้ชายจะไม่ถูกสังคมลงโทษเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับหญิงทั่วไป
- เพศชาย เป็นผู้ที่สังคมสร้างมาตรฐานเชิงซ้อน ขณะที่มีความเชื่อใหม่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียว แต่ความเป็นจริงในอดีตที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุได้ยกตัวอย่างการมีอำนาจด้านร่างกายที่เหนือกว่าต่อผู้หญิง จึงได้อธิบายและยกตัวอย่างการที่ผู้ชายเป็นข้าวเปลือกสามารถมีลูกเมียที่ไหนก็ได้
ดังนั้นการที่ผู้สูงอายุจะยกตัวอย่างในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น หรือการมีเมียหลายคนเป็นเพียงการอธิบายความหมายให้สอดคล้องกับคำพังเพยเท่านั้น อาจไม่ตรงกับความจริงในการศึกษาครั้งนี้ อย่างไรก็ตามผลการศึกษาครั้งนี้ได้สะท้อนระบบความคิดในเรื่องของอำนาจการมีอิสระภาพทางเพศและการมีความสามารถด้านการเจริญพันธุ์