สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (รพ.มฟล.) ได้พัฒนาระบบจัดการจุดฝังเข็ม (MFU ACUPUNCTURE) เพื่อบันทึกประวัติการรักษาของคนไข้และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน โดยมีผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนของสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มฟล. ซึ่งในปัจจุบันเปิดสอนใน 3 สาขาวิชาคือ การแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และกายภาพบำบัด ซึ่งจะได้นำระบบจัดการการรักษามาใช้เพื่อบันทึกประวัติการรักษาเฉพาะจุดเช่นเดียวกับการฝังเข็ม เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการรักษาของโรงพยาบาล มฟล. ต่อไป
อาจารย์ ดร.แพทย์หญิงสุลัคณา น้อยประเสริฐ คณบดีสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ และผู้อำนวยการ รพ.มฟล. กล่าวว่า หลังจากทดลองนำระบบการจัดการจุดฝังเข็มมาใช้กว่า 2 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ปัจจุบันได้มีการจดลิขสิทธิ์ระบบดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย
“ระบบจัดการจุดฝังเข็ม หรือ MFU ACUPUNCTURE ของสถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มีการคิดค้นและพัฒนาระบบร่วมกันของบุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอาจารย์ แพทย์จีนผู้ทำหัตถการ และงานเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการใช้งานระบบดังกล่าว จะมีการบันทึกข้อมูลประวัติผู้มารับบริการแผนจีน ทำให้การบันทึกข้อมูลเวชระเบียนสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัยต่อการสูญหายของข้อมูล และง่ายต่อการเรียกข้อมูลออกมาใช้งาน นับเป็นการบูรณาการความรู้ของบุคลากรในองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับศาสตร์แผนจีน ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้บันทึกข้อมูลผู้มารับบริการด้านศาสตร์แผนจีน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบันทึกประวัติและการเก็บรักษาข้อมูล ลดการใช้กระดาษในองค์กร สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งยังคำนึงถึง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย” อาจารย์ ดร.แพทย์หญิงสุลัคณา น้อยประเสริฐ กล่าว
นายธีรวัฒน์ ปันทะวงค์ หัวหน้างานเทคโนโลยีสารสนเทศ รพ.มฟล. กล่าวว่า “ระบบจัดการจุดฝังเข็ม ใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ Windows Application ที่สามารถบันทึกข้อมูลหัตถการ จุดฝังเข็ม และชื่อย่อจุดฝังเข็มตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการบันทึกลงบนฐานข้อมูลของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) ของ BMS HOSxP Application (โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นใช้สำหรับสถานพยาบาล) ซึ่งสามารถแสดงตำแหน่งจุดฝังเข็มต่างๆ ของร่างกายในรูปแบบกราฟิก 2 มิติ และจุดฝังเข็มสามารถเชื่อมโยงกับ ICD 10 TM (บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ) ซึ่งปัจจุบันเรากำลังพัฒนาระบบและทดลองใช้ในการรักษาเพื่อครอบคลุมคลินิกต่างๆ ของโรงพยาบาล ทั้งแพทย์แผนไทยและกายภาพบำบัด”