ข่าวท่าอากาศยาน » ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จัดพิธีทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลและแถลงผลงาน เนื่องในการดำเนินงานท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายครบ 24 ปี (ทชร.)

ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จัดพิธีทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลและแถลงผลงาน เนื่องในการดำเนินงานท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายครบ 24 ปี (ทชร.)

3 ตุลาคม 2022
897   0

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 โชติศิริ ดารายน นายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย ร่วมแสดงความยินดีกับ นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ เนื่องในวันครบรอบการดำเนินงาน 24 ปี ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) โดยมีพิธีสงฆ์ใน เวลา 09.30 น. เพื่อเป็นสิริมงคล

และใน เวลา 11.00 น. ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแทนคุณแผ่นดิน โดย นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปริมาณการจราจรทางอากาศ ของ ทชร. สำหรับปี พ.ศ.2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) ทชร. มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 30 เที่ยวบิน /วัน มีจำนวนผู้โดยสาร 3,812 คน /วัน และมีสายการบินที่ให้บริการจำนวนทั้งสิ้น  5 สายการบิน โดยทำการบินเส้นทางในประเทศทั้งหมด ประกอบด้วย

  1. สายการบินนกแอร์ (DD) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน
  2. สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (SL) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน
  3. สายการบินไทยแอร์เอเชีย (FD) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน
  4. สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ (WE) เส้นทางบิน สุวรรณภูมิ – เชียงราย – สุวรรณภูมิ จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน
  5. สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ (VZ) เส้นทางบิน สุวรรณภูมิ – เชียงราย – สุวรรณภูมิ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน และ เส้นทางบิน ภูเก็ต – เชียงราย – ภูเก็ต จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน (เฉพาะวันจันทร์ / พุธ/ ศุกร์ และอาทิตย์)

สำหรับโครงการแผนพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มีโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ทชร. โดยจะอยู่ในระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2571 คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นงานที่ดำเนินการด้วยงบลงทุนประจำปี 2564 ถึง 2568 ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือ และปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B
  • ระยะเวลาการก่อสร้าง เริ่ม 4 ตุลาคม 2564 ถึง 26 กรกฎาคม 2566 จำนวน 660 วัน
  • งานปรับปรุงพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21 เซ็นต์สัญญาเรียบร้อยแล้ว
  • งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า – ออก ทชร. เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566
  • งานก่อสร้างอาคารรับรองบุคคลสำคัญ (VIP / VVIP) เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566
  • งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทชร. และอาคารบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566
  • โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance , Repair and Overhaul (MRO) โดย บริษัท เชียงราย เอวิเอชั่น โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการฯ ระยะเวลา 30 ปี

ในด้านการประเมินคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน (AOT Satisfaction Survey) ค่าคะแนนตัวชี้วัดที่ได้รับมากที่สุดในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 พบว่าเป็นเรื่องของ “การให้บริการของพนักงานภายในท่าอากาศยาน” ซึ่ง ทชร. ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักธรรมาภิบาล การดำเนินงานที่โปร่งใส มุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าร่วมกันกับสังคมและชุมชนที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิดการเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport)

ผอ.การท่าฯ กล่าวอีกว่า ภายในระยะเวลาหนึ่งปีตนได้ผลักดันในการเสนอชื่อ ทชร. เข้าระบบ “Thailand Pass เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 9” เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ (First port of arrival) ตามมาตรฐานและคำแนะนำ Covid Free Setting ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศที่มาใช้บริการเป็นวันแรก โดยการเช่าเหมาลำของ NOMAD AVIATION AG ทะเบียน HBJJJ แบบอากาศยาน A319 เส้นทางการบินบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย – เชียงราย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจในศักยภาพของจังหวัดเชียงราย และ ทชร. ที่มีความพร้อมเป็นประตูต้อนรับผู้มาเยือนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อจังหวัดเชียงรายภายใต้การเดินทางและการท่องเที่ยวในวิถีใหม่

โครงการ Safe Corridor Initiative (SCI) เริ่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน ท่าอากาศยานอินชอน Incheon International Airport Corporation (IIAC) จึงได้ริเริ่มโครงการ SCI นี้ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเดินทางทางอากาศ เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร การขนส่ง และบริษัทสายการบิน ซึ่ง ทชร. ได้เข้าร่วมโครงการ SCI เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 และ ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 พร้อมประกาศให้ ทชร.เป็นสมาชิกโครงการ SCI ที่ได้ผ่านการตรวจประเมินการบริการจัดการท่าอากาศยานเกี่ยวกับมาตรการในการรับมือและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 เพื่อสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยระหว่างท่าอากาศยานสมาชิก และฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร

การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Hub): ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (AIR CARGO HUB) และ ทชร. มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย โดยโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ ลิ้นจี่บินได้ ทะเลบินได้ สับปะรดบินได้ และ ส้มโอบินได้ ดังนั้น ทชร. จึงมีความพร้อมเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของจังหวัดเชียงราย โดยการขนส่งสินค้าทางอากาศ (AIR CARGO HUB)”

โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance, Repair and Overhaul (MRO) : วางตำแหน่งให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแบบ Common Use ซึ่งทุกสายการบินสามารถเข้ารับบริการได้ และเป็นการร่วมมือกันของ Aviation Industry Corporation of China (AVIC) กลุ่มบริษัทการบินและอวกาศและการป้องกันประเทศของจีน ซึ่ง AVIC เป็นผู้ผลิตอากาศยานอันดับหนึ่งของจีน (อันดับสามของโลก) ซึ่ง MRO ที่ ทชร.นี้ถือว่าเป็นแหล่งงาน แหล่งสร้างรายได้ แหล่งสร้างวิชาชีพของคนในวงการการบิน และแหล่งสร้างอนาคตของภาคเหนือทั้งหมด โดยในอนาคต ทชร. จะใช้ MRO นี้เป็นการก้าวไปสู่ “มหานครการบิน”

การให้บริการ “Air Medevac การขนส่งทางการแพทย์ทางอากาศ” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจการบินที่มีโอกาสอย่างมากในจังหวัดที่วางตำแหน่งเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ จะทำประกันภัยกับบริษัทประกันในการคุ้มครองประกันสุขภาพและอุบัติเหตุก่อนเดินทางมาเที่ยว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator) จะดำเนินการด้าน Air Medivac ให้บริการเพื่อการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังได้รางวัลอันภาคภูมิใจ :

  • สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2564 (EIA Monitoring Award 2021) “ประเภทยอดเยี่ยม”
  • สุขาสะอาดได้มาตรฐาน (HAS : Health Accessibility Safety)
  • รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานประจำปี 2565 “รางวัลระดับประเทศ” โดย ทชร. ได้รางวัลฯ นี้ติดต่อกัน 13 ปีซ้อน
  • ผ่านการรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจตามมาตรฐานสากล ISO 22301 : 2019 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมั่นใจได้ว่า ทชร. สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการหยุดชะงักโดยมีการป้องกันและตอบสนองต่ออุบัติการณ์ต่างๆ และฟื้นคืนบริการสำคัญให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที

ทชร. ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่พร้อมพัฒนาปรับปรุงบริการต่าง ๆ ภายในสนามบินให้มีความทันสมัย ปลอดภัย สะดวกสบาย และรวดเร็ว เพื่อการก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital Airport และพร้อมมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก อีกทั้ง ทชร. ถูกวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ภายใต้แนวความคิด “ Northern – most Sustainability Regional Airport ” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและสุขภาพ โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไป



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า