ข่าวสังคม » ผู้ตรวจการแผ่นดินถกหามาตราการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เน้นสิทธิคนไทยต้องเท่าเทียม

ผู้ตรวจการแผ่นดินถกหามาตราการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เน้นสิทธิคนไทยต้องเท่าเทียม

21 มิถุนายน 2022
331   0

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายสมศักดิ์  แสนหิรัญ ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางศรีสุดา รักษ์เผ่า เลขานุการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการมีสิทธิเข้ารับการรักษาในภาวะฉุกเฉินวิกฤตอย่างเท่าเทียม

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐที่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก แต่พบว่าในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคในทางปฏิบัติที่ทำให้การดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการมีสิทธิเข้ารับการรักษาในภาวะฉุกเฉินวิกฤตอย่างเท่าเทียม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงหยิบยกปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ขึ้นพิจารณาเร่งแก้ไขตามบทบาทหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินในการพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยไม่มีการร้องเรียน (Own Motion) โดยได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหลังจากการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยการลงพื้นที่หารือร่วมกับหน่วยงาน การสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเชิงลึก และการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พบว่ามีปัญหาอุปสรรค 3 ประเด็นหลัก คือ

1 ขั้นตอนการรับตัวผู้ป่วย

1) ผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยยังมีความไม่เข้าใจต่อนิยามคำว่า “การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

2) โรงพยาบาลเอกชนไม่ทำการตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉินผ่านระบบ Emergency Pre-Authorization (PA) ในรายของผู้ป่วยที่ฉุกเฉินวิกฤต หรือทำการประเมินแต่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนยังมีความไม่มั่นใจว่าจะสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วยได้ โดยแต่ละกองทุนใช้กฎหมายและระเบียบที่แตกต่างกันทำให้โรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

2 ขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วย เมื่อพ้นภาวะวิกฤตฉุกเฉิน

1) กรณีไม่มีแนวทางพิจารณาที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤตของผู้ป่วย

2) โรงพยาบาลภาครัฐ หรือโรงพยาบาลตามสิทธิไม่สามารถรับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเมื่อพ้นภาวะวิกฤติหรือครบ 72 ชั่วโมงได้

3 การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

1) ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนใช้รักษาผู้ป่วยวิกฤตไม่สอดคล้องกับบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้ จึงทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

2) หน่วยงานสังกัดรัฐวิสาหกิจยังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบของหน่วยงาน เพื่อให้รองรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชนไม่แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

วันนี้ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติม ร่วมกับทันตแพทย์ อาคม  ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงบประมาณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง เพื่อรับทราบปัญหาและร่วมเสนอแนะทางออกกรณีดังกล่าว

สำหรับปัญหาทั้ง 3 ข้อ ในเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. ปัญหาขั้นตอนการรับตัวผู้ป่วย

– เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวมทั้งขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการประชาสัมพันธ์ประเภทกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่ถูกจัดว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต และการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ประชาชนได้รับทราบให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

– กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ควรมีการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เป็นการเฉพาะขึ้น

 

  1. ปัญหาขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤตฉุกเฉิน

– ควรให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนดนิยามของคำว่า “พ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต” ให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และผู้ปฏิบัติงาน

 

  1. การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

– ควรเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบของหน่วยงาน เพื่อให้รองรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ซึ่งทั้งข้อเสนอแนะเบื้องต้นและข้อมูลในวันนี้จะรวบรวมสรุปประเด็นในรายละเอียดเพื่อวิเคราะห์ และแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นอื่นๆ ทีเกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาว และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบ UCEP อย่างสูงสุดต่อไป



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า