ยื่นของบกองทุนอนุรักษ์ฯ แล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท “สนธิรัตน์” วางกฎเหล็กเข้มตั้ง 4 บอร์ดพิจารณาโครงการและติดตามประเมินผล เน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ หวังนำเม็ดเงินไปใช้อย่างคุ้มค่าหลังโควิดคลี่คลายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ภัยแล้ง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ พร้อมย้ำจุดยืนในการทำงานที่กระทรวงพลังงานจะไม่เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงอย่างแน่นอน
วันนี้ (18 พ.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการเปิดให้หน่วยงานต่างๆ ยื่นเสนอโครงการของบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2563 จำนวน 5.6 พันล้านบาท แต่ขณะนี้มีการยื่นของบเข้ามาแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทหน่วยงานทั่วๆ ไป ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับพลังงานโดยตรง ซึ่งหากหน่วยงานไหนขอจะให้หน่วยงานหรือคนอื่นทำแทนไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขหลักเกณฑ์กำหนดไว้ และอีกประเภทคือปีนี้จะมีอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อยื่นขอรับการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานชุมชน หรือที่เรียกว่า “สถานีพลังงาน” เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานไปเชื่อมโยงด้านต่างๆ เช่น เชื่อมโยงด้านการเกษตร เชื่อมโยงต่อยอดด้านการตลาด เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ นี้มีทั้งเกษตรจังหวัด ธกส. คลังจังหวัด พลังงานจังหวัดร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบโครงการที่ปีนี้เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อหวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกโครงการในปีนี้จะเป็นการปฏิรูปการพิจารณาอนุมัติโครงการเพิ่มเติมต่างจากที่ผ่านมาจะไม่เน้นการซื้อของ และจะให้ความสำคัญต่ำ แต่จะให้ความสำคัญกับโครงการที่สามารถพัฒนาต่อยอด เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนเป็นหลัก และที่สำคัญปีนี้กองทุนฯมีโครงสร้างบริหารงานผ่านคณะอนุกรรมการ 4 ส่วน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะดำเนินการในเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ นโยบายและทิศทางของพลังงานไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการอนุมัติโครงการ 2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่กลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับ งบประมาณรายจ่ายประจำปี/แผน/งาน/โครงการ ต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล มี ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ จุดประสงค์เพื่อให้ทุกเม็ดเงินที่ได้รับการสนับสนุนไปมีการติดตามประเมินผลก่อนและหลังโครงการว่าเกิดผลลัพธ์อย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ และ 4.คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนฯ มี ศ.สกล วรัญญวัฒนา เป็นประธาน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระบวนการยื่นโครงการก็ผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะวางรายละเอียดหลักเกณฑ์โครงการ และหากมีโครงการเข้าหลักเกณฑ์แล้วยังต้องนำเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานอีกเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ไม่ให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เน้นวางโครงสร้างหลักเกณฑ์การทำงานที่ให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งปีนี้ก็จะเป็นปีแรกที่โครงการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจะถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ เพื่อเปิดเผยให้สาธารณะตรวจสอบได้ ส่วนหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติโครงการไปแล้วในปีที่ผ่านมา แต่โครงการมีปัญหาได้รับการร้องเรียนก็จะไม่ได้รับการพิจารณาโครงการในปีนี้อย่างแน่นอน
“ขอยืนยันการทำงานของผมที่กระทรวงพลังงานมีจุดยืนในการทำงานที่พร้อมจะเปิดเผย เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้เกิดขึ้น ปีนี้จะเป็นปีแรกโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดจะนำเปิดเผยสู่สาธารณชนทางเว็บไซต์ เพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ว่าโครงการดังกล่าวตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ และจะมีการติดตามและประเมินผลโครงการหลังจากได้รับอนุมัติโครงการด้วย ส่วนข้อกังวลประเด็นการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของกองทุนอนุรักษ์ฯ นั้น ผมขอย้ำว่าจะไม่เปิดโอกาสให้ใครใช้อำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ ซึ่งหากใครมีเบาะแสความไม่โปร่งใสก็ขอให้ร้องเรียนเข้ามาจะดำเนินการตรวจสอบทันที จึงขอให้ความมั่นใจได้ว่ากระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการของกองทุนอนุรักษ์ฯ มีความชัดเจนในตัว เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ผมไม่กังวลเลยว่าการพิจารณาอนุมัติงบกองทุนฯ จะส่งผลกระทบต่อเก้าอี้รัฐมนตรีของผมเอง เพราะว่าผมไม่มีอะไรที่ไม่โปร่งใส ถ้าผมไม่โปร่งใสถึงจะกังวล”
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ตนต้องการใช้กลไกของกองทุนอนุรักษ์ฯ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาภัยแล้ง ช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพสมดังเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เศรษฐกิจฐานรากคือ หัวใจสำคัญ ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นเงินของกองทุนอนุรักษ์ฯ ถูกนำไปแก้ปัญหาของเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดอย่างหนัก
#น้าสนจัดให้