(1) สถานการณ์อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดน่าน
จากการรวบรวมข้อมูลของจังหวัดน่าน สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดน่าน ออกเป็น 7 ประเด็น ดังนี้
1) ยุทธศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร แผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน พ.ศ. 2559 – 2564 มียุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายมูลค่าของ GPP ภาคเกษตรให้มากขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2561 หรือเท่ากับร้อยละ 15.74 ของ GPP ทั้งหมดในปี 2561
2) วัตถุดิบทางการเกษตร เนื่องจากจังหวัดน่านมีภูมิประเทศเป็นภูเขาร้อยละ 85 และมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกน้อยทำให้เกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ทำการเกษตร โดยมักปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนในฤดูปลูกข้าว ชาวนามักประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากมีคนนิยมปลูกข้าวมากขึ้น และความต้องการใช้น้ำมากขึ้น สารเคมีตกค้างในวัตถุดิบและน้ำ เนื่องจากเกษตรกรขาดความเข้าใจในการใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง
3) กระบวนการผลิตและเทคโนโลยี ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ประปาหมู่บ้าน ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง ทำให้เกษตรกรขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิต และเกษตรกรไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในการทำการเกษตรเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ
4) สภาวะแรงงาน แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตร จึงมีแนวโน้มว่างงานในช่วงที่ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ บุคลากรที่อยู่ในวัยทำงาน นิยมเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน
5) มาตรฐานการผลิตและสินค้า มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สินค้าโอทอป อย. แต่อาจยังไม่ครอบคลุมทุกมาตรฐาน เช่น GMP HACCP ISO เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า
6) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดน่านเป็นอุตสาหกรรมภาคการเกษตรและอาหาร จากข้อมูลพบว่า ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าสูงของจังหวัดน่าน รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นการผลิตเพียงขั้นต้น ได้แก่ การสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ส่วนสินค้าโอทอปและวิสาหกิจชุมชนยังขาดกระบวนการส่งเสริมด้านการตลาด เกษตรกรขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจและยังต้องการการวิจัยและพัฒนา
7) ตลาดและช่องทางการจำหน่าย สภาพภูมิประเทศส่วนมากเป็นภูเขาจึงเป็นอุปสรรคในการการคมนาคม ขนส่ง และการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคในต่างพื้นที่ การส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง สปป. ลาว ยังอยู่ในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่น ๆ
สถานการณ์อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดน่าน
เทคโนโลยีและนวัตกรรม
- เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตที่เหมาะสมเพื่อขยายกำลังการผลิต
- เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมกับความพร้อมของผู้ประกอบการ
ระบบการขนส่งสาธารณะ
- ปรับปรุงผังเมืองสำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม
- พัฒนาระบบโลจิสติกส์
- การขยายเส้นทางคมนาคมทางบก โดยเฉพาะทางรถยนต์เพื่อเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน
การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- การให้คำปรึกษาและทำวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น
- ยืดอายุการเก็บรักษา
- ผลิตภัณฑ์ใหม่
- พัฒนาบรรจุภัณฑ์
แรงงาน
- การฝึกอบรมทักษะการผลิตอาหารพื้นฐาน
- เพิ่มทักษะและความชำนาญเฉพาะด้าน
- ใช้แรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย
ระบบและมาตรฐานสินค้า
- ความรู้ความเข้าใจกับระบบมาตรฐาน
- การผลิตและสินค้า เช่น GAP GMP
โครงการและงบประมาณที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
- โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ
การสร้างเครือข่าย
- ความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่
- การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในทุกระดับ
(2) ความต้องการและแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดน่าน
1) เทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตหรือแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับสินค้า และให้มีกำลังการผลิตสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
2) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดหานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้มีความน่าสนใจ มีเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับสินค้า
3) ระบบมาตรฐานสินค้า มีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า เช่น GMP HACCP ISO และส่งเสริมให้สินค้าได้รับมาตรฐานดังกล่าวเพื่อยกระดับมาตรฐานของสินค้า เพิ่มมูลค่าของสินค้าและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งมีการพิจารณาลดขั้นตอนในการขอใบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐให้มีความรวดเร็วในการขอรับรอง
4) การตลาด การเงิน การบัญชี ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้ในการขยายกิจการรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยตรงกับแนวโน้มของผู้บริโภคเป้าหมาย
5) การสร้างเครือข่าย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิค้าเกษตรและมีการช่วยเหลือจากภาครัฐในการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้า และสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับนักวิจัยในสถาบันการศึกษาในพื้นที่
6) แรงงาน จูงใจให้เกษตรกรประกอบอาชีพในท้องถิ่นและลดการเคลื่อนย้ายภูมิลำเนาของแรงงาน ส่งเสริมให้ความรู้และทักษะแก่เกษตรกรในพื้นที่โดยการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
7) ระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงผังเมืองเมืองให้รองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการคมนาคม มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เหมาะสม มีการขยายเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างน่านและจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงเขตการค้าชายแดน
8) โครงการและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดน่าน ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรของจังหวัดน่านให้แข่งขันได้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ระบบการบริหารจัดการน้ำและชลประทาน ดังนั้นภาครัฐควรให้การสนับสนุนโครงการและงบประมาณในด้านต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น