บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือฝ่าวิกฤต COVID-19 โดยทิพยประกันภัยได้มอบกรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้แก่นิสิตของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ทุกคน ทุกระดับชั้น และคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ได้มอบหลักสูตรบริหารธุรกิจพิชิต COVID-19 ให้แก่ผู้บริหารทิพยประกันภัย โดยมี ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี ร่วมแถลงความร่วมมือดังกล่าว ณ คณะบัญชีฯ จุฬาฯ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทประกันวินาศภัยของไทย รู้สึกห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อประเทศ เศรษฐกิจ และประชาชน เป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจ เป็นขวัญและกำลังใจ ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษากรณีหากมีผู้ติดเชื้อดังกล่าวขึ้น ดังนั้นทิพยประกันภัยจึงมอบประกันภัยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้แก่นิสิตในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกระดับชั้น ปริญญาตรี โท และเอก ทุกคน และขอขอบคุณทางคณะฯ ที่ได้ให้เกียรติ ทิพยประกันภัยเข้ามาให้การดูแลนิสิต ของคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ทุกคน และขอขอบคุณทางคณะฯ ที่จะมอบหลักสูตรบริหารธุรกิจพิชิต COVID-19 ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ศักยภาพในการ บริหารจัดการธุรกิจ ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจให้ฝ่าฟันกับวิกฤต รวมถึงการเสริมสร้างแนวคิด ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ตลอดจนการให้บริการ ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามสโลแกนของเราว่า “ทิพยประกันภัย ห่วงใยทุกชีวิตในสังคม”
รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ทางคณะฯ ขอขอบคุณทิพยประกันภัยที่ได้ร่วมกันสร้างความมั่นใจ อุ่นใจให้แก่นิสิตและผู้ปกครองด้วยการมอบกรมธรรม์คุ้มครองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ให้แก่นิสิตในคณะฯ ทุกคน ทุกระดับชั้น ปริญญาตรี โท และเอก ที่ได้มอบความคุ้มครองแก่นิสิตในวิกฤตไวรัสนี้
พร้อมกันนี้ทางคณะฯ ได้นำเสนอหลักสูตรการอบรม ภายใต้หัวข้อ “บริหารธุรกิจ พิชิต COVID-19” ให้กับผู้บริหารและพนักงานของทิพยประกันภัยเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนสำรอง เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ธุรกิจอยู่รอด เช่น การ Retool ด้วยการใช้เทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนเครื่องมือ วิธีการทำงาน การ Re – Target โดยพิจารณาอาจเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายลูกค้า การ Re – Business ปรับเปลี่ยนธุรกิจจากสิ่งที่มีอยู่ และการ Re – Process เป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอน กระบวนการในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัย สุดท้าย การ Reunite ร่วมมือช่วยเหลือ ช่วยกันประคับประคองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน และนี่คือตัวอย่างของความร่วมมือกันฝ่าวิกฤตโควิด-19”