3 มหา’ลัย-เอกชนเชียงราย
รวมพลังสร้าง ‘ยักษ์ขาว’
เตือนภัย “หมอกควัน” หนุนจังหวัด
เชียงราย-ทัพภาค 3 จับมือกันแน่นวางแผนแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควัน ตลอดปี’63 ด้วยห่วงสุขภาพประชาชนให้ห่างไกล “หมอกควัน” อันตราย พร้อมประชุมทางไกลตรวจสอบข้อมูล 9 จังหวัดภาคเหนือทุกๆ สัปดาห์ เพื่อร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกันอีกทั้งตั้ง “เซฟตี้โซน” เพื่อประชาชนหากเกิดวิกฤติจากไฟป่าและหมอกควัน ส่วน 3 มหา’ลัยในเชียงราย ร่วมมือเอกชน 9 แห่ง ทั้ง ธนาคาร บริษัท ห้างร้าน NGO เพื่อระดมทุนสร้าง ”ยักษ์ขาววัดฝุ่น” เตือนภัยมอบให้ฟรีแก่ 50 โรงเรียน ตั้งเป้าให้ครบ 124 ตำบล และอีก 1,751 หมู่บ้านทั่วเชียงรายทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วยในอนาคต ขณะนี้จัดตั้งเป็นสมาคมยักษ์ขาวพร้อมมีเว็บไซต์ yakkaw.com แล้วเพื่อทำงานป้องกันและหลีกภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อคนเชียงรายและต่างจังหวัดมองทะลุถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เชิญร่วมบริจาคสร้างกุศลครั้งใหญ่ด้วยกัน
เผย 6 ดัชนีคุณภาพ‘อากาศอันตราย’ ที่คนต้องรู้!
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การเตรียมการรับมือของส่วนราชการและเอกชนต่างๆในจังหวัดเชียงรายเกี่ยวกับความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในปี 2563 ซึ่งในขณะนี้บางอำเภอได้เกิดสภาวะอากาศดังกล่าวขึ้นบ้างแล้วตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จากดัชนีคุณภาพของอากาศ หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ PM2.5 ไมครอน, PM10 ไมครอน, ก๊าซโอโซน, คาร์บอนมอนนอกไซต์, ไนโตรเจนนอกไซต์, และซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ส่วนที่มีปัญหามากที่สุดในปัจจุบันคือ PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้จากการเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า กระบวนการอุตสาหกรรมและทั้งจากยานพาหนะ โดยฝุ่นละออง PM2.5 นี้สามารถเล็ดลอดเข้าไปถึงถุงลมในปอดของมนุษย์ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ มีอาการหอบ หืด รวมทั้งมะเร็งในปอด สมองเสื่อมและการเกิดโรคพากินสัน หากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นเวลานานตั้งแต่วัยเด็กจนวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในเรื่องภัยพิบัติจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 -201 ขึ้นไปจัดว่าอันตรายที่สุด และค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก(WHO) อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ชร.จับมือทัพภาค 3 ใช้ 3 แผนเข้มทั้งปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงรายนั้น สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย.’62 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย เป็นประธานร่วมประชุมกับ พล.ท. ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคเหนือ และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงราย เพื่อรับทราบปัญหาไฟป่าและหมอกควันครั้งใหญ่เมื่อช่วงเดือน ก.พ. – พ.ค. ปี 62 ที่ผ่านมา รวมทั้งวางแผนปฏิบัติการและการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในปี 2563
สำหรับการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเตรียมความพร้อม (ต.ค.- ธ.ค.62) ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการโดยเน้นลดข้อจำกัดในการปฏิบัติงานให้น้อยลง และจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง 2.ระยะปฏิบัติการ (ม.ค.-เม.ย. 63) พร้อมมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันใน จ.เชียงราย เพื่ออำนวยการปฏิบัติงานและประสานงานกับทุกภาคส่วน ให้ได้รับข้อมูลในทิศทางเดียวกัน และ 3.ระยะฟื้นฟู ( พ.ค.-ก.ย. 63) สรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่มา และมอบรางวัลให้กับอำเภอที่มีการบริหารจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประชุมทางไกลสแกน 9 จ.ภาคเหนือป้องภัย
ต่อมา วันที่ 6 เดือนเดียวกันนี้ ว่าที่ ร้อยตรีณรงค์ โรจนโสทร รองผวจ.เชียงราย เป็นประธานในการประชุม War room ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย โดยมี พ.อ.สิงหนาท โลสุยะ รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 37 พ.อ.ปรัษฐา ครามะคำ หัวหน้ากลุ่มงานกิจการมวลชน กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่จากที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงราย สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อรับมอบนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จาก พ.อ.กฤติพันธะสา เลขานุการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 และรับทราบแผนการปฏิบัติงานของ 9 จังหวัดภาคเหนือ ด้วยการประชุมทางไกล(Teleconference) ผ่านจอภาพ (VTC) ตลอดเดือน พ.ย. สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จันทร์ และพุธของสัปดาห์ เพื่อรับทราบสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ร่วมกับ 9 จังหวัดในภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ตาก น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง และ จังหวัดแพร่
“สำหรับ จ.เชียงรายได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยงจากจำนวน 14 อำเภอ 36 ตำบล และทำการออกประกาศรณรงค์การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในปี 2563 โดยมีการประชาสัมพันธ์ก่อนให้เร็วขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ชี้แจง สร้างความเข้าใจ แก่ผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมทั้งสำรวจจัดตั้งเขตปลอดภัย( Safety Zone) ในการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหมอกควันและไฟป่า ซึ่งจะมีการจัดตั้งในส่วนของจังหวัดและในทุกอำเภอ รวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมวิ่ง เพื่อหารายได้เข้ากองทุน “เมืองไทยไร้หมอกควัน” เพื่อการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงรายอีกด้วย”
3 มหา’ลัยในชร.-เอกชนสร้าง “ยักษ์ฯวัดฝุ่น”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ก.ย. (62)ปีที่แล้ว ที่ห้องประชุมหอปรัชญา รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี มร.ชร.เป็นประธานลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายโครงการจิตอาสาการผลิตเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อมอบให้ ร.ร.ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มร.ชร. กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา เชียงราย (มทร.ล้านนา เชียงราย), สภาอุตสาหกรรม, หอการค้าจังหวัดเชียงราย และ ชมรมธนาคารเชียงราย และองค์ต่างๆ รวม 9 แห่ง เพื่อผลิตเครื่องมือที่เรียกว่า “ยักษ์ขาววัดฝุ่น” ในวันดังกล่าวมีตัวแทนร่วมลงนามอีก 8 หน่วยงาน ดังนี้ นายธนากร สร้อยสุวรรณ ผช.อธิการฯ มทร.ล้านนา เชียงราย นายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ปธ.สภาอุตสาหกรรมเชียงราย ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าเชียงราย นายสมชาย อนุภาพวิเศษกุล ประธานชมรมธนาคารเชียงราย นายไกรพิชิต เมืองวงษ์ ประธานกลุ่มจิตอาสาวิจัยและพัฒนาพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ นายธนพล เขียวละม้าย ผจก.แผนงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และ นายมงคลชัย ดวงแสงทอง หัวหน้าโครงการ “ยักษ์ขาว วัดฝุ่น” เชียงราย ในวันดังกล่าวยังมีกลุ่ม “เสือไฟ” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการป้องกันไฟป่าจากสำนักงานป่าไม้ จ.เชียงราย มาร่วมด้วยหลายคน
นายมงคลชัย กล่าวว่า ตนเองเป็นคนเชียงราย เคยมีประสบการณ์เรื่องไฟป่ามาแล้วเมื่อปี’39มันมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจทุกๆด้านมาแล้วและวันนี้เราไม่ต้องการ “ฮีโร่” ในการดับไฟอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ประชาชนยังไม่ทราบว่า มันมีพิษภัยขนาดไหนและสภาพอากาศทีมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นอย่างไรจะมีผลกระทบกับเด็กในครรภ์หรือไม่ในอนาคต ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องออกมาช่วยกันเราสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมากเมื่อปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยว สายการบินต่างๆ ยกเลิก ครั้งนี้เรามีนักวิชาการ 6 คนที่ได้มีจิตอาสาช่วยสร้างเครื่องวัดฝุ่นที่เราเรียกว่า “ยักษ์ขาววัดฝุ่น” ประกอบด้วย ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์จาก 3 มหาวิทยาลัยในเชียงราย และองค์กรเอกชน ประกอบด้วย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ตองอ่อน, ผศ.ดร.มีชัย เทพนุรัตน์, ผศ.ปริญญา สาเพชร, ผศ.ดร.ฟ้ารุ่ง สุรินา บุญทิศ จาก มร.ชร., ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล จากมทร.ล้านนา เชียงราย, อ.วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล รักษาการแทน ผอ.ศูนย์บริการสารสนเทศ จาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในชุดแรกจะมอบให้ตามโรงเรียนต่างๆก่อนจำนวน 50 เครื่อง และวันนี้ จะมอบให้ โรงเรียนบ้านผาเดื่อ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ไปใช้ก่อน โดยมี นายภานุวัฒน์ นะที ผอ.เป็นผู้รับมอบพร้อมครูและกับนักเรียนที่มาในวันนี้
“นอกจากจะมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วนแล้ว คณะทำงานยังมีโครงการจะมอบให้ทุกๆ ตำบลในเชียงราย 124 ตำบล และหมู่บ้านอีก 1,751 หมู่บ้านอีก และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วยในอนาคต ขอเชิญผู้มีจิตกุศลบริจาคสมทบทุนได้ทุกวัน” นายมงคลชัย กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ฟ้ารุ่ง กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้ก็จะร่วมมือกับกลุ่ม Chiangrai Fights Smog (CFS) ที่จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์การป้องกันไฟป่าและหมอกควันซึ่งคาดว่ามันจะกลับมาอีกในต้นปีหน้า 2563 นี้
“ชื่อของ “ยักษ์ขาว” ที่ว่านี้เป็นชื่อที่ล้อกับ “ยักษ์เขียว” จาก จ.ขอนแก่นที่เขานำมาช่วยเราเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ทำหน้าที่คนละอย่าง คือ “ยักษ์เขียว” จะทำหน้าที่กรองฝุ่น PM 2.5 ให้สะอาดแล้วกระจายไปรัศมีกว่ากิโลเมตรเพื่อบริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ส่วน “ยักษ์ขาววัดฝุ่น” นี้จะทำหน้าที่เตือนภัยส่งข้อมูลให้ยักษ์เขียวทราบเพื่อทำงานบริการดังกล่าว ซึ่งจะต้องประสานข้อมูลกันในลักษณะเรียลไทม์ หรือเวลาจริงๆในขณะนั้นเชื่อว่าการทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้สังคมได้เกิดความตระหนักและร่วมมือกันในหลายภาคส่วน และขณะนี้จากการรวมกลุ่มของภาครัฐและเอกชนดังกล่าวได้จัดตั้งเป็น “สมาคมยักษ์ขาว” แล้ว พร้อมโลโกและเว็บไซต์ของสมาคมฯคือ https://yakkaw.com/ จึงขอเชิญทุกคนเข้าไปติดตามเพื่อทราบข้อมูลต่างๆที่น่าสนใจและมีการนำเสนอชวนติดตามและได้คามรู้ด้วย ผู้มีจิตกุศลสามารถร่วมบริจาคในการสร้างยักษ์ขาววัดฝุ่นได้ที่ ธ.กสิกรไทย สาขา 5 แยกพ่อขุนฯ 062-8-46998-9 (สมาคมยักษ์ขาว)” ผศ.ดร.ฟ้ารุ่ง กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ตองอ่อน หนึ่งในทีมผลิตยักษ์ขาว กล่าวว่า “ยักษ์ขาววัดฝุ่น” มีชื่อเป็นฝรั่งว่า PM2.5 Dust detector จากความร่วมมือของภาคเอกชน ผ่านสมาคมยักษ์ขาวและ Chiang Rai Fight Smog และภาครัฐและ 3 มหาวิทยาลัยในเชียงราย สำหรับการเชื่อมต่อเข้ากับ Wi-Fi access point นั้นจะใช้มือถือเป็นตัวตั้งค่า การอ่านค่าบนหน้าเครื่องก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และสามารถเปรียบเทียบบนแถบสีที่บ่งบอกถึงความอันตรายได้ทันที เช่น ที่หน้าเครื่องอ่านได้ 23 ug/m^3 ซึ่งอยู่ในแถบสีเหลือง “Moderate” คือ ยังยอมรับได้แต่ต้องเริ่มเฝ้าระวังคุณภาพอากาศต่อไป
เชียงราย-เมียนมาสร้างแนวกันไฟ 2 แผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค.’63 นายวรวุธ ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาตรวจราชการที่เชียงรายและ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพลดับไฟป่าและจัดทำ “แนวกันไฟ 2 แผ่นดิน ไทย- เมียนมา” ที่บริเวณดอยช้างมูบ อ.แม่สาย เชียงราย โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย, นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, พล.ต.สัชฌาการ คุณยศยิ่ง ผบ. มณฑลทหารบกที่ 37, นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งไทย และ เมียนมา ร่วม 1,000 คน เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย เพื่อทบทวนและส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน ในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคซึ่งร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันไฟป่าและหมอกควันข้ามประเทศ ตามเขตแนวชายแดนของไทยและเมียนมาซึ่งมีเขตติดต่อกันทางบก ยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เชียงแสน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันป้องกันไปป่าและหมอกควันให้มีประสิทธิภาพมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาทางให้การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอำเภอแม่สายและเมืองท่าขี้เหล็ก (ชายแดนไทย-เมียนมา) จะมีปัญหาหนักที่สุดโดยมีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานทุกๆ ปี