คอลัมน์ » “การดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาสาธารณสุขที่ต้องคิดล่วงหน้า”

“การดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาสาธารณสุขที่ต้องคิดล่วงหน้า”

4 มกราคม 2020
1049   0

ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวขึ้นทั้งชายและหญิงเนื่องจากการพัฒนาทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการเกิดก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำจึงทำให้อัตราเกิดและตายใกล้เคียงกันทำให้จำนวนประชากรค่อนข้างคงที่ อัตราส่วนของผู้สูงอายุจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือขาดแคลนคนในวัยแรงงานที่จะทำงานช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และเนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆของร่างกายและภาวะถดถอยของภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังประจำตัวอยู่เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดฯลฯ จึงต้องการคนดูแลใกล้ชิดทั้งที่บ้านหรือเมื่อจำเป็นต้องนอนรพ. ในอนาคตปัญหาผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาสำคัญในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะทางสาธารณสุขจำเป็นต้องวางแผนเป็นขั้นตอนปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปัจจุบัน

การดูแลผู้สูงอายุถือว่าต้องการคนที่รักและเข้าใจคนในวัยนี้เป็นกรณีพิเศษไม่ว่าจะเป็นญาติ เจ้าหน้าที่รพ.หรือผู้รับจ้างดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากคนในวัยนี้เคยมีความสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบางคนเคยเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาตัวยง เป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนอื่นมามากมาย เป็นคุณหมอคุณพยาบาลหรือบางคนเคยมีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต ยามนี้เหลือเพียงอดีตจึงทำให้หงุดหงิดตัวเอง อารมณ์แปรปรวน อารมณ์เสียง่าย มักไม่พอใจสิ่งรอบๆตัว ทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดปฏิบัติหน้าที่ลำบาก ต้องมีความอดทนสูงที่จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ผมมักจะขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องคิดไว้เสมอว่าสักวันเราก็ต้องแก่และอาจจะเป็นมากกว่านี้ก็ได้แล้วใครจะอยากมาดูแลเรา จึงขอให้เราดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ให้ดี ตั้งแต่การพูดคุยซักถามต้องพูดให้ช้าๆ ชัดเจนและให้ท่านเห็นหน้า(ปาก)เราด้วยเนื่องจากส่วนใหญ่จะหูตึงได้ยินเสียงไม่ชัดและมักจะไม่ยอมรับทั้งไม่ยอมใส่หูฟังช่วย เวลาจะตรวจร่างกายยิ่งต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเนื่องจากพวกเราบางคนมักคิดว่าอายุมากแล้วไม่เป็นไรไม่ค่อยอาย โดยเฉพาะการตรวจภายในจะต้องใจเย็นๆให้ท่านได้ปรับตัวก่อนและคงต้องใช้เวลาสักครู่ ไม่ควรเร่งหรือพูดในเชิงกระแหนะกระแหนอย่างเด็ดขาด ยิ่งบางท่านยังเป็นสาวไม่ได้แต่งงานควรให้หมอผู้หญิงเป็นคนตรวจและใช้เครื่องมือที่มีขนาดที่เหมาะสม ด้วยความนุ่มนวลที่สุด ต้องระวังไม่ควรทำให้รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออก เช่นกันเวลาที่จะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือในการที่จะให้สารน้ำทางหลอดเลือด ควรทำด้วยความระมัดระวังหาเส้นเลือดที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ควรเจาะหลายครั้งและหลังเจาะแล้วจะต้องใช้สำลีกดบริเวณที่เจาะนานกว่าคนทั่วไปเนื่องจากเส้นเลือดเปราะ มีเลือดออกใต้ผิวหนังได้ง่ายถ้าไม่ระวังให้ดี จะทำให้รู้สึกกลัวและเกิดความไม่ไว้วางใจทำให้ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาต่อไป

ทีมผู้ให้การรักษาโดยเฉพาะแพทย์พยาบาลต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นพิเศษเนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายและความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ญาติบางคนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมตอนเข้ารพ.แพทย์บอกเป็นเพียงปอดบวม อาการก็ไม่มาก ต่อมาบอกติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายและเสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลว ผมบอกกับหลายๆคนว่าร่างกายได้ใช้งานมานานเมื่ออวัยวะหนึ่งรวนทำงานไม่ไหวจะทำให้อวัยวะอื่นๆรวนไปด้วย เหมือนกับรถยนต์ใช้ไปนานๆยังต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ตามระยะไม่งั้นพลอยทำให้เครื่องพังรถวิ่งไม่ได้ เพียงแต่ของคนไม่มีอวัยวะเปลี่ยนตามเวลา เราจึงต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะมั่นใจว่าอาการคงตัวหรือดีขึ้นจริง ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะเนื่องจากการรักษาต้องคำนึงถึงโรคประจำตัวที่มีหลายโรค เดิมต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนซึ่งต่างก็รักษาเฉพาะโรคของตัวเองไม่ได้คำนึงถึงโรคอื่น ยาที่ใช้ก็ไม่ได้คำนึงว่าจะมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคอื่นหรือเปล่า จึงทำให้คนไข้ได้ยาจำนวนมากและอาจมีปฏิกิริยาต่อกันเกิดอาการข้างเคียงเป็นผลให้คนไข้แย่ลงได้ ดังนั้นการรักษาคนไข้ใดๆที่ต้องมีแพทย์เฉพาะทางหลายคนจึงเกิดผลเสียต่อคนไข้ได้ ผมมักบอกกับแพทย์รุ่นน้องเสมอว่าจะต้องมีแพทย์เจ้าของไข้รับผิดชอบทั้งหมดอยู่คนหนึ่งที่จะต้องสรุปและติดตามการรักษาทุกระบบ จึงจะเกิดความปลอดภัยต่อคนไข้ ทีมผู้รักษาจึงต้องมีการพูดคุย หารือกันบ่อยๆ การเขียนบันทึกในเวชระเบียนควรเป็นข้อสรุปที่ได้จากการปรึกษากันแล้ว จะทำให้เกิดผลดีต่อคนไข้อย่างแท้จริง

ในกรณีที่ให้การวินิจฉัย การเลือกวิธีการรักษาถ้าเป็นไปได้ควรแจ้งในขณะที่มีญาติหรือผู้ดูแลอยู่ด้วยควรอธิบายช้าๆและถามทวนจนมั่นใจว่าเข้าใจ โดยเฉพาะคำแนะนำในการปฏิบัติตัว วิธีใช้ยาควรต้องให้ชัดเจน ถ้ามาคนเดียวอาจต้องให้จดบันทึกไว้ด้วยตัวเองยิ่งในรายที่มียาหลายๆชนิด มีคนไข้สูงอายุมากมายที่รักษาไม่ได้ผลเนื่องจากไม่ได้ทานยาตามที่แพทย์แนะนำ สายตาก็ไม่ดี ความจำก็เลอะเลือนทำให้ทานยาผิดได้ง่าย เกิดอันตรายจากยาได้ จึงควรมีทีมเยี่ยมบ้านหรือให้เครือข่ายผู้สูงอายุ อสม. เจ้าหน้าที่รพสต.ช่วยดูแล การออกเยี่ยมบ้านถือเป็นวิธีการที่ดีเนื่องจากจะทำให้เกิดการไว้วางใจและคนไข้กล้าที่จะพูดกับเจ้าหน้าที่มากกว่าอยู่ในรพ.อีกทั้งยังมีญาติ เพื่อนบ้านช่วยดูแลใกล้ชิดจึงทำให้การรักษาได้ผลดีกว่า อย่างไรก็ตามการออกเยี่ยมบ้านไม่เพียงเป็นการติดตามการรักษาเท่านั้นแต่ควรเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โครงสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพคนไข้ด้วยเช่นการระบายอากาศในบ้าน การมีราวที่สามารถจับเวลาเข้าห้องน้ำ แสงสว่างต้องมีอย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้สามารถสังเกตได้โดยคำนึงว่าถ้าเราเป็นคนไข้ ผู้สูงอายุ มีบริเวณใดบ้างที่เกิดความเสี่ยงขึ้นได้ จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมตามฐานะ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่ยอมใช้ไม้เท้าเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครว่าแก่ ความจริงการใช้ไม้เท้าช่วยเวลาเดินนั้นช่วยได้มากเนื่องจากใช้เป็นขาที่สามทำให้เกิดความมั่นคงไม่ล้มง่าย ไม้เท้าควรมีขนาดพอดีไม่หนักเกินไปและมีความแข็งแรงมีความยาวพอดีตัวและเวลาจับรู้สึกเหมาะมือ จึงควรอธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจและยอมรับการใช้ไม้เท้าในชีวิตประจำวันจะทำให้ปลอดภัยจากการหกล้มทำให้กระดูกที่บางอยู่แล้วแตกหักได้ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตด้วยกระดูกสะโพกหักจากการหกล้มเนื่องจากต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายเช่นแผลกดทับ ปอดบวม เป็นต้น

ผมเห็นด้วยกับทีมงานรพ.ที่สร้างกลุ่มจิตอาสามาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผมเรียกกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังพอช่วยตัวเองและช่วยคนอื่นได้ว่าเป็นกลุ่ม “เพื่อนร่วมวัย” ขณะเดียวกันจิตอาสาที่มีอายุน้อยเช่นกลุ่มเด็ก วัยรุ่นหรือวัยทำงานผมเรียกเป็นกลุ่ม”เพื่อนต่างวัย”จะช่วยได้มากโดยเฉพาะในการดูแลเอาใจใส่การปฏิบัติตัว การทานอาหาร ทานยาให้ตรงเวลา ที่สำคัญที่สุดทำให้มีกำลังใจในการอยากมีชีวิตอยู่เพื่อให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นๆบ้างเมื่อหายดีแล้ว การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าเป็นยอดปรารถนาของทุกคน เช่นเดียวกันในหอผู้ป่วยจะต้องให้การดูแลเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ของเรา ยิ่งในรายที่ไม่ค่อยมีญาติมาเยี่ยมเหมือนเตียงข้างเคียง พวกเรายิ่งต้องหมั่นคอยดูแลเอาใจใส่พูดคุยเหมือนเป็นญาติมาเยี่ยมจะได้ไม่รู้สึกน้อยใจ เนื่องจากปัจจุบันลูกหลานไปทำงานไกลบ้านเป็นส่วนใหญ่ เหมือนคุณพ่อผมมักพูดเสมอๆว่าลูกๆเรียนเก่งมีการศึกษาสูงต้องออกไปทำงานไกลบ้านทำให้รู้สึกเหงา เวลาทานข้าวก็เงียบเหงาไม่เหมือนข้างบ้านที่ลูกๆเรียนไม่เก่งไม่ได้เรียนจบสูงๆจึงทำงานใกล้บ้าน ทำให้เป็นครอบครัวใหญ่ไม่รู้สึกเงียบเหงา เวลาทานข้าวก็เป็นกลุ่มใหญ่จึงสนุกสนานเฮฮา แต่คุณพ่อก็บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่มีลูกเรียนสูงๆได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และภูมิใจอย่างยิ่งที่ลูกๆเป็นคนดี ผมรู้สึกเช่นกันโดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น จึงทำให้เข้าใจคนไข้ผู้สูงอายุดีขึ้น ในยามเจ็บป่วยทุกคนจะรู้สึกเหงา คิดถึงญาติสนิทมิตรสหายและลูกหลาน หลายๆคนมีเพียงสองคนตายายดูแลซึ่งกันและกัน ผมมักแนะนำให้ใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์ การโทรศัพท์ให้กำลังใจก็ช่วยได้มาก ให้ท่านรู้ว่าเรายังคงคิดถึงและเป็นห่วงเพียงแต่ทำงานอยู่ไกลไม่สามารถมาเยี่ยมได้บ่อย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ผมจึงขอให้เจ้าหน้าที่รพ.ดำหัวคนไข้สูงอายุแทนลูกหลานที่ไม่ได้มาทำหน้าที่ แม้จะเป็นเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กๆแต่ก็มีความหมายที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะเมื่อท่านให้พร บางคนให้พรพร้อมน้ำตาแห่งความปิติพลอยทำให้พวกเราร้องไห้ไปด้วย เป็นบรรยากาศที่ดีอย่างยิ่ง นี่แหล่ะครับการดูแลคนไข้ด้วยหัวใจ บนพื้นฐานความรู้อย่างแท้จริง

“ขอบคุณที่เป็นคนดี”

นพ.พิษณุ ขันติพงษ์



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า