ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี จัดกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เจ้าหญิงนักพัฒนา รักษ์ป่าผืนสุดท้ายแห่งบ้านอ่างเอ็ด จันทบุรี” นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ มุ่งสู่ โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในการอนุรักษ์ป่าชุมชน พร้อมนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนให้กับเยาวชนต่อไป
คุณวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการตามรอยพระราชา ซึ่งทิพยประกันภัยได้ร่วมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คณะครูในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง ‘ศาสตร์พระราชา’ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนและปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อสร้างสรรค์เยาวชนที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรม
“ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่อง ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม บริหารงานภายใต้หลักธรรมมาภิบาลโดยมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการสนับสนุน พัฒนา และรับผิดชอบต่อส่วนรวมครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาบุคลากรในแขนงต่างๆ เพื่อความเจริญยั่งยืนของสังคมไทย”
ในกิจกรรมครั้งนี้ คณะครูได้เดินทางสู่โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนาที่ดินจำนวน 168.25 ไร่ที่ครอบครัวลักคุณะประสิทธิ์มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา ให้เป็นป่าชุมชนและเป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ในการให้ความรู้แก่นักเรียนในเรื่องสัตว์ป่าและพันธ์ไม้ต่างๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง สนับสนุนการรวมกลุ่มเยาวชนปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ เพื่ออนุรักษ์พืชพันธุ์ในท้องถิ่น มีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน โดยให้นักเรียนในพื้นที่รายงานผ่านเจ้าหน้าที่โครงการเข้ามายังมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงจัดหาที่ดินให้ราษฎรเพื่อช่วยดูแลโครงการ คณะครูยังได้ร่วมกิจกรรมที่ฐานกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ 1. ตามรอยเส้นทางเสด็จ เดินป่าศึกษาสมุนไพร ร่วมพิธีบวชป่าและรับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน 2. ฝึกร่อนพลอย และ 3. ทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ คือ กระดาษจากต้นกล้วย น้ำมันเหลือง แชมพูมะกรูด น้ำสมุนไพร