คอลัมน์ » “เป็นแพทย์ประจำบ้านสูตินรีเวชอย่างไรให้ มีความสุข”

“เป็นแพทย์ประจำบ้านสูตินรีเวชอย่างไรให้ มีความสุข”

3 กรกฎาคม 2019
1435   0

ช่วงนี้เป็นระยะที่มีการเริ่มฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านหรือฝึกเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ผมเพิ่งไปปฐมนิเทศแพทย์ประจำบ้านแผนกสูตินรีเวชกรรมรุ่นใหม่จำนวน144คน ในฐานะรองประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอนำบทความที่เขียนขึ้นในโอกาสนี้มาเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่านด้วย

ผมขอขอบคุณน้องๆ ทุกคนที่เลือกมาเป็นสูติแพทย์ แม้ว่าปัจจุบันสูติแพทย์จะอยู่ในอันดับแรกของการถูกฟ้องร้อง ร้องเรียน หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์ กับคนไข้ และญาติ ผมไม่อยากให้เรื่องนี้มารบกวนจิตใจพวกเรา หรือทำให้เกิดความกังวลใดๆ เนื่องจากมีโอกาสพบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการคลอดเกือบ ๘ แสนคนต่อปีและการให้บริการอีกนับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ผมมีคาถากันการฟ้องร้อง ที่ได้มาจากค่านิยมร่วมของโรงพยาบาลน่าน (ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัย อ.นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อาจารย์นำมาจากกฎเสนาบดีที่ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 ในอดีตใครก็ตามที่จะทำงานในโรงพยาบาล จะต้องจุดธูปเทียนสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า จะปฏิบัติตามกฎนี้อย่างเคร่งครัด) ว่า

  1. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความรู้ความสามารถ (Quality Care)
  2. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง(Risk Care)
  3. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปรารถนาดีต่อคนไข้และญาติ(Humanizied Care)

ถ้าเราทำได้ทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาฟ้องร้องเรา เพราะมีโอกาสเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์กับคนไข้น้อยที่สุด นอกจากจะเป็นเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ และเมื่อเกิดขึ้นคนไข้และญาติต่างก็เข้าใจ

ผมขอให้ทุกคนตั้งเป้าหมายในการมาเรียนนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาแม่และเด็กของประเทศ และดูแลสุขภาพของหญิงไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร แม้ว่าเราจะผลิตสูติแพทย์มาแล้วกว่า 3,000 คน

ปัจจุบันมีสถาบันฝึกอบรมสูติแพทย์ 23 แห่งทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ฯของสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ ผมขอให้ทุกคนถือว่าเป็นสถาบันเดียวกันหมด ไม่มีการแบ่งสถาบัน การฝึกอบรมต่างสถาบันไม่ได้หมายความว่าจบจากสถาบันหนึ่งจะเป็นสูติแพทย์ที่ดีกว่า เก่งกว่าอีกสถาบันหนึ่ง ทุกคนควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รู้จักกันให้มากที่สุด แบ่งปันความรู้ต่อกัน ในช่วง elective ก็อยากให้ได้ไปฝึกในสถาบันอื่นเพื่อจะได้พบปัญหาที่แตกต่าง ได้รู้จักเพื่อนใหม่และอาจารย์ใหม่ด้วย

ระยะเวลา 3 ปีในสถาบันฝึกอบรมนั้นเร็วมาก จึงควรตักตวงความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ ที่สำคัญต้องรู้ว่าเรากลับเข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ ขณะทำงานอยู่ข้างนอกนั้นเราเป็นตัวของเราเอง ตัดสินใจเอง แต่เมื่อมาเรียนจะมีระบบอาวุโส ก่อนตัดสินใจหรือทำหัตถการต้องมีการรายงานตามลำดับขั้น แม้บางอย่างเราอาจเคยทำมาก่อนแต่ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เมื่อมีระเบียบให้รายงานแพทย์อาวุโสก่อนทำหัตถการใดๆ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และจะต้องให้ความเคารพตามอาวุโสด้วย

ช่วงที่มาเรียน ผมอยากให้พวกเราคำนึงถึงเรื่องเรียนเป็นสำคัญ พยายามเรียนรู้กับคนไข้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีโรคที่พบยาก หรือคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างคนไข้ ญาติ กับโรงพยาบาล แม้ว่าบางครั้งจะไม่ได้อยู่เวรเนื่องจากเป็นประสบการณ์ที่พบได้ไม่บ่อย จะได้เรียนรู้แนวทางการรักษาหรือแก้ไขปัญหา จะเป็นประโยชน์เมื่อจบเป็นสูติแพทย์แล้วที่ต้องรับผิดชอบเต็มที่ เมื่อเจอโรคยาก เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือเกิดความขัดแย้งจะได้มีความมั่นใจในการรักษาหรือแก้ไขปัญหาได้

ในระหว่างฝึกอบรม ผมขอให้งดรับคนไข้พิเศษส่วนตัว นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่พวกเราช่วยกันดูแลได้ และไม่ควรรับอยู่เวรโรงพยาบาลเอกชน หรืองานนอกเวลาที่อื่นมากเกินไป ควรมีเวลาพักผ่อนและสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง โดยเฉพาะกับพยาบาลที่เป็นทีมงานสำคัญของเรา

ในกรณีที่ดูแลคนไข้แล้วเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง จะต้องรายงานแพทย์รุ่นพี่และอาจารย์ทันที พร้อมกับปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานบริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด

โดยทั่วไปผมอยากเห็นทุกคนมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ ไม่เฉพาะกับเพื่อนแพทย์เท่านั้น แต่รวมถึงเพื่อนร่วมงานทุกระดับ เนื่องจากเราทำงานเป็นทีม ต้องเริ่มจากการให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน หลายครั้งผมพบว่าเจ้าหน้าที่ระดับล่าง (คนงาน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ รปภ.) สามารถทำให้คนไข้ ญาติที่กำลังไม่พึงพอใจสงบลงได้ เนื่องจากคนไข้จะเชื่อบุคลากรเหล่านี้เพราะรู้ว่าไม่มีผลประโยชน์อะไร รวมถึงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ ญาติ การสื่อสารที่ดีต่อคนไข้และญาติ ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราต้องฝึกให้เป็นนิสัย ควรคำนึงถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นสำคัญ โดยสังเกตดูจากแพทย์รุ่นพี่หรืออาจารย์เป็นสำคัญ และเมื่อไหร่ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้จากการรักษาพยาบาล ควรเรียนรู้วิธีการและ แนวทางการแก้ไขด้วย

  1. มีความรับผิดชอบ

ผมถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่ออยู่เวรจะต้องดูแลคนไข้ให้ดีตามหน้าที่ เมื่อได้รับโทรศัพท์รายงานจะต้องไปดูคนไข้ด้วยตนเอง จะทำให้ตัดสินใจได้ดีกว่าการไม่ได้เห็นคนไข้ อย่างน้อยจะสร้างความมั่นใจให้กับทีมงานรวมทั้งคนไข้ด้วย และเมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

ในชีวิตความเป็นแพทย์ผมไม่เคยปิดมือถือ นอกจากมีความจำเป็น เช่น อยู่ต่างประเทศและจะรับทุกสายอย่างมีสติ โดยเฉพาะในยามวิกาลจะต้องพูดให้อ่อนหวานที่สุด เพราะอาจมีคนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากเรา

  1. มีความรู้

ความรู้นี้จะต้องทันสมัย เป็นที่ยอมรับ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดเวลา แม้จะสิ้นสุดการฝึกอบรมแล้ว และรู้จักวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของความรู้ใหม่ ก่อนนำไปใช้กับคนไข้ ขอให้จำไว้เสมอว่าเรามาเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องไม่คิดว่าเราเก่งที่สุด จะต้องทำตัวให้ทุกคนเข้าหาเราได้ง่ายที่สุด ความรู้ของเราจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับงานวิจัยระหว่างการฝึกอบรม จำเป็นต้องให้ความสำคัญ ควรตั้งใจทำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีปัญหาให้ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาทันที ไม่ควรมาเร่งทำตอนใกล้จบ เพราะเมื่อมีปัญหาจะแก้ไขไม่ทันทำให้เกิดความเครียด ทุกคนควรให้ความสนใจในการทำวิจัย เพราะจะเป็นพื้นฐานในการเป็นนักวิจัยที่ดีในอนาคต งานวิจัยจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ได้ดีขึ้น

ทุกคนควรหาโอกาสเข้าร่วม interhospital conference ทุกครั้ง และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง เพื่อการเรียนรู้ เป็นการฝึกบริหารความรู้ที่ได้เรียนมา ผิดถูกก็ไม่เป็นไร เมื่อจบแล้วจะได้นำไปใช้ต่อในโรงพยาบาลที่ทำงาน เพราะการได้แสดงความคิดเห็นของเรา การระดมความคิดเห็นของหลายๆ คนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาพยาบาลคนไข้เป็นไปอย่างดีที่สุด เมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ก็ยังช่วยกันดูแลให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

สำหรับการสอบ ผมไม่อยากให้ทุกคนหมกมุ่นหรือกังวลจนเกินไป ผมเชื่อว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีในสถาบันฝึกอบรมถ้ามีความขยัน เอาใจใส่ ดูแลคนไข้และอ่านตำราเป็นประจำ ไม่จำเป็นต้องกลัวการสอบ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถสอบผ่านได้อย่างแน่นอน

  1. มีการดูแลคนไข้ด้วยหัวใจบนพื้นฐานความรู้(Humanized Health Care)

เป็นหัวใจของการเป็นสูติแพทย์ที่ดี เราจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้ หรือแม่และเด็กในครรภ์เป็นสำคัญที่สุด เมื่อไหร่ที่ต้องตัดสินใจเพื่อเลือกการรักษาจะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานนี้เสมอ การให้ข้อมูลแก่คนไข้ต้องให้ด้วยความเป็นกลาง ทั้งข้อดีข้อเสีย เพื่อให้คนไข้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องโดยมีเราเป็นผู้ให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ต้องไม่ปิดบังคนไข้ แต่ต้องช่วยกันทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และต้องแจ้งอาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมแนวทางการรักษาเป็นระยะๆ คิดว่าถ้าคนไข้เป็นญาติสนิทของเรา จะทำอย่างไรก็ควรทำเช่นนั้นเหมือนกัน

            มีหลายคนบอกกับผมว่า เดี๋ยวนี้ในสถาบันฝึกอบรมมีตัวอย่างที่ดีให้เห็นน้อยมาก หลายคนเอาแบบอย่างในทางไม่ดีแล้วอ้างว่าทำตามรุ่นพี่หรืออาจารย์ ผมขอบอกกับทุกคนว่า “คนดี คนไม่ดีนั้นเป็นตัวอย่างได้หมด คนดีเป็นตัวอย่างให้เราทำตาม คนไม่ดีเป็นตัวอย่างให้เราไม่ทำตาม” ผมขอให้ทุกคนมีสมุดโน้ตคู่กาย (อาจเป็นสมาร์ทโฟนหรือไอแพด) ด้านหน้าบันทึกสิ่งดีงามที่พบเห็น ด้านหลังบันทึกสิ่งไม่ดีไม่งามที่พบเห็นเช่นกัน อ่านบันทึกทุกครั้งที่มีโอกาส ปัจจุบันเราจะพบว่าด้านหน้ามีน้อยกว่าด้านหลัง แต่ผมรับรองได้ว่าเมื่ออ่านบ่อยๆ และเราไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม บันทึกด้านหลังจะลดน้อยไปเอง ถ้าเรายังทำตามทั้งที่รู้ว่าไม่ควรทำแสดงว่าเราแย่ยิ่งกว่ารุ่นพี่ๆ เราเสียอีก ที่เห็นตัวอย่างไม่ดีแล้วยังทำตาม

            ผมเชื่อว่าคงมีพวกเราหลายคนขณะฝึกอบรมอาจพบปัญหาที่ทำให้ไม่มีความสุข ผมแนะนำให้รีบปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาทันทีเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน ผมถือว่าเรามาเรียนเอาความรู้เพื่อไปช่วยเหลือคนไข้ จึงควรมีความสุข ไม่ควรมีแต่ความทุกข์ ไม่งั้นเมื่อจบเป็นสูติแพทย์แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร และเมื่อแพทย์ไม่มีความสุขคนไข้จะมีความสุขได้อย่างไร

เรื่องคุณธรรมและทัศนคติที่ดี เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการเป็นสูติแพทย์ ผมขอให้ทุกคนดูตัวอย่างอาจารย์และ รุ่นพี่เป็นสำคัญ ใช้วิจารณญาณของเราเองว่า ควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรในการเป็นแพทย์ที่ดี ผมอยากได้สูติแพทย์ที่ดี เก่งและมีความสุข ดีต้องมาก่อนเก่งเสมอ เพราะผมเชื่อว่าคนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง ผมได้ขอร้องให้สถาบันฝึกอบรม ทุกแห่งพิจารณาเรื่องคุณธรรมและทัศนคติของเด้นท์ทุกคนด้วย ถ้าพบว่าเด้นท์คนใดไม่เหมาะสมที่จะเป็นสูติแพทย์ สถาบันมีสิทธิที่จะไม่ให้อบรมต่อหรือไม่ส่งสอบเพื่อรับวุฒิบัตร

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนเวชระเบียน ผมขอให้พวกเราเริ่มต้นเขียนให้ถูกต้องครบถ้วนและทันเวลา โดยเฉพาะใบซักประวัติ ตรวจร่างกาย ใบรายงานการผ่าตัดที่ควรบันทึกให้ละเอียด วาดภาพประกอบด้วยยิ่งดี หลายครั้งที่เกิดการฟ้องร้องจากการทำผ่าตัดไปถูกอวัยวะข้างเคียง เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่ใบรายงานการผ่าตัดมีเพียงไม่กี่บรรทัด ไม่มีการบันทึกว่ามีพังผืดบริเวณที่จะผ่าตัดหรือการผ่าตัดยากง่ายเพียงใด ใบprogress note ที่ควรบันทึกเวลาขณะมาดูคนไข้ อาการที่เปลี่ยนแปลง การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาอย่างชัดเจน เนื่องจากเมื่อเกิดการฟ้องร้องเวชระเบียนจะเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ช่วยเราได้มากที่สุด (หากจำเป็นต้องแก้ไขข้อความ ควรขีดฆ่าข้อความเดิม แต่ยังสามารถอ่านได้ ไม่ควรใช้ยางลบหรือน้ำยาลบคำผิดก่อนเขียนข้อความใหม่ และไม่ควรบันทึกเพิ่มเติมข้อความใดอีกหลังเกิดเป็นคดีความ เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือเมื่อใช้เป็นพยานศาล)

สุดท้ายนี้ผมขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้ดี แบ่งเวลาออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควรมีเวลาผ่อนคลายและหางานอดิเรกทำบ้างเพื่อให้มีความสุข ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะมีความสุขระหว่างการฝึกอบรมและจะเป็นสูติแพทย์ที่ดีของคนไข้ต่อไป

“ขอบคุณที่เป็นคนดี”

นพ.พิษณุ ขันติพงษ์