อาจารย์ ดร.ศรีวรรณ ไชยสุข ผอ.สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน (สช.สพอ.-BELAD) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนักศึกษาสาขาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ สำนักวิชาสังคมศาสตร์ และ สาขาคหกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มร.ชร. ชั้นปีที่ 2 จัดกิจกรรมรับน้องใหม่ปี 2562 แบบสร้างสรรค์ ด้วยการ “ปลูกสับปะรดนางแลและสับปะรดภูแล” จำนวน 2,500 ต้น ในพื้นที่กว่า 2 งาน ที่บริเวณพื้นที่ทำการเกษตรใกล้ สช.สพอ.-BELAD ในมร.ชร. โดยได้รับความอนุเคราะห์ในการปรับพื้นที่ จาก อ.ดร.นาวิน พรมใจสา ผช.อธิการบดีฯ พร้อมกับทีมเจ้าหน้าที่กองอาคารสถานที่ช่วยปรับพื้นที่ให้ ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาน้องใหม่สาขาคหกรรมศาสตร์ฯดังกล่าวได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกสับปะรดนางแลและภูแล ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าเพิ่มเนื่องจากสับปะรดดังกล่าวทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นพืชเศรษฐกิจของเชียงรายที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในปัจจุบัน
“น้องใหม่จาก 2 สาขาคหกรรมศาสตร์ฯที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จำนวน 97 คน โดยมี อ.ชุติภัสร์ เรืองวุฒิ จากสาขาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ ฯ และนายบุญทับ กันทะตียน เจ้าหน้าที่เกษตร ของ สช.สพอ.-BELAD นายธงชัย ลาหุนะ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสำนักวิชาสังคมศาสตร์ ร่วมกันวางแผนและออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ในอนาคตที่นี่จะเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดนางแลและภูแลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นใน มร.ชร.แน่นอน” ผอ.สช.สพอ.-BELAD มร.ชร. กล่าว
อาจารย์ ดร.ศรีวรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับกิจกรรมปลูกสับปะรดนางแลและภูแล ของน้องใหม่ฯในครั้งนี้ยังเป็นการสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(อพ.สธ.) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยมี สช.สพอ.-BELAD มร.ชร. ร่วมกับ รศ.มาลี หมวกกุล ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พร้อมทั้งคณาจารย์และบุคลากรสาขาคหกรรมศาสตร์ ฯได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากสับปะรดภูแลและนางแล เช่น กระดาษ และอาหารคาวหวานจากสับปะรด รวมทั้งการบูรณาการเข้าสู่การเรียนการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมสนองโครงการ อพ.สธ .ดังกล่าว ที่เป็นส่วนสำคัญอีกโครงการของ “ศาสตร์พระราชา” ที่ มร.ชร.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้หลายโครงการด้วย สำหรับสับปะรดฯที่ปลูกในสวนสาธิต “สวนของกิ๋นบ้านเฮา” ที่สถาบันฯก่อนหน้านี้ พบว่าได้ผลผลิตดีมากและรสชาติหวานฉ่ำ สีสัน สวยงามน่ารับประทานมาก อ.ดร.ศรีวรรณ ผอ.สช.สพอ.-BELAD มร.ชร. กล่าว
สุรพล เวียงนนท์ สำนนักประชาสัมพันธ์ฯ ม.ราชภัฏเชียงราย ข่าว /ภาพ