อาจารย์สถาปัตย์ฯ ม.ราชภัฏเชียงราย เก่งเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ ออกแบบท่ารถขนส่งเชียงราย 2 ตะเคียนคู่ ชนะเลิศ 2 รางวัล ทิ้งคู่แข่งขาดลอย รับโล่และเกียรติบัตรพร้อมเงินสด จาก รมว.คมนาคม ผลงานแนวคิด “การใช้งานร่วมกัน”หรือ “We can make the best for all” อธิการฯสุดปลื้ม
ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) เปิดเผยว่า คณาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีความเก่งและสามารถหลายๆด้านตามสาขาที่เปิดสอนและให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมทั้งด้านการทำงานสนองพระราโชบายขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และตามศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 ด้วย และเมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดงานระดับชาติด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและยังเป็นตัวอย่างที่ดีต่อลูกศิษย์ด้วย อธิการบดีฯ กล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.ขวัญเรือน สินณรงค์ ผช.คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) เปิดเผยว่า อาจารย์โปรแกรมวิชาสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ประกอบด้วย อ.ดร.ศศิชา สุขกาย อ. กฤษณะพันธุ์ ตันเจริญรัตน์ อ. ทิพา ตันเจริญรัตน์ และ นายธนิก หมื่นคำวัง นศ.ระดับปริญญาเอก สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รวมกลุ่มกันชื่อ “ทีมคนบ้านเฮา” มร.ชร. ได้ร่วมมือกันออกแบบ “การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับทุกคน” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ บ. ซี.คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ นิสิต- นักศึกษา ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงศักยภาพในการออกแบบดังกล่าว เมื่อเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นที่สนใจของ “ทีมคนบ้านเฮา”มร.ชร.ดังกล่าว จึงร่วมมือออกแบบและได้ส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อแสดงศักยภาพของตนเองเพื่อแข่งขันกับหลายๆทีมงานในประเทศที่ส่งผลงานเข้าแข่งขันครั้งนี้
อ.ดร.ศศิชา กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดแบบฯ ได้กำหนดพื้นที่ต้นแบบในการประกวดแบบแนวความคิดพัฒนาหรือปรับปรุงอาคารสถานที่หรือสถานีขนส่งผู้โดยสาร 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 1 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดเชียงรายแห่งที่ 2, ภาคใต้และภาคตะวันตก ท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีรถไฟ จังหวัดขอนแก่น, ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ท่าเรือศรีราชา (ท่าเรือเกาะลอย) จังหวัดชลบุรี ซึ่ง “ทีมคนบ้านเฮา” ได้ เลือกสถานที่ในภาคเหนือ โดยออกแบบสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงรายแห่งที่ 2 (ตะเคียนคู่) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกวด19 ทีม สำหรับรายละเอียดพื้นที่ในการประกวดผลงานด้านการออกแบบอาคารสถานที่สำหรับการขนส่งสาธารณะ มี 4 ประเภทตามที่แต่ละภูมิภาคต้องการ ได้แก่ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร และท่าเรือ
“การออกแบบอาคารจะต้องประกอบด้วยพื้นที่ใช้งานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ พื้นที่รับส่ง (Drop Off) พื้นที่จำหน่ายบัตรโดยสาร พื้นที่พักคอย พื้นที่ชานชาลา พื้นที่ห้องน้ำ และพื้นที่ค้าขาย เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่หรือระหว่างทางเดินภายในอาคาร ก็อาจมีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องการได้รับ ความช่วยเหลือ เป็นต้น โดยคำนึงถึงการใช้งานในพื้นที่จริงภายใต้แนวคิด“การใช้งานร่วมกัน” หรือ “We can make the best for all.” ได้อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อาทิ ผู้ใช้วีลแชร์ คนพิการฯลฯ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ แม่และเด็ก และผู้ใช้งานทั่วไป” อ.ดร.ศศิชา กล่าว
สำหรับผลการประกวดผลงานปรากฏว่า “ทีมคนบ้านเฮา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2 รางวัล ในระดับภาคเหนือ ได้แก่ ประเภทบุคคลทั่วไป และ รางวัล Popular Vote การจัดทำการจำลองภาพเสมือนจริง (VR:Virtual Reality) ในการออกแบบสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงราย แห่งที่ 2 ของ โครงการนี้จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรฯ ซึ่งได้รับรางวัลเงินสดกว่า 60,000 บาท พร้อมโล่ เกียรติยศ และเกียรติบัตร จาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม เมื่อ10 พ.ค.(62) ที่ผ่านมา ที่ รร.อะมารี วอเตอร์เกท (Amari Watergate) กทม.