แม้จะมีการนำเสนอไปในหลายสำนักข่าวแล้วก็ตาม แต่ความเป็นงานที่เพียบพร้อม และได้รับการขานรับจากผู้คนทั่วสารทิศ จึงอดไม่ได้ที่ต้องนำมากล่าวถึงในเวทีนี้อีกรอบ
นั่นคืองานที่เรียกกันแบบกระชับว่า “เชียงราย เลอค่า”
ความยิ่งใหญ่ที่น่าพูดถึงของงานนี้ คือการที่ฝ่ายจัดงานระบุว่า มีภาคเอกชน สภาวัฒนธรรมจาก 18 อำเภอ ผู้ประกอบการอาหารและผ้า รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกว่า 500 คนที่เข้าร่วมงานนี้ !!
งานนี้จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีคุณวราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานในช่วงเย็นๆเกือบจะพลบค่ำของวันดังกล่าว ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราอย่างคุณสลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, คุณสุทัศน์ คล้ายสุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย…กล่าวรายงานและกล่าวต้อนรับตามลำดับ
และยังได้รับเกียรติจากนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย, นางภัทราวดี สุทธิธนกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, ผศ.ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย, นส.นันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย,นส.ภาณี จันทร์ตัน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย,นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชนจำนวนมาก ที่กล่าวกันจนล้นหน้ากระดาษก็ไม่หมด !!
นับเป็นงานเนื้อหาอีกงานหนึ่ง ที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย รวมถึงเครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่ทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด ร่วมกันสร้างเสริมและรังสรรค์งานนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้มีภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัด ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าทางสังคม โดยให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคสถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม
เพื่อให้ทุกภาคส่วนดังกล่าว ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย
ที่สำคัญ…เป็นการเปิดพื้นที่ในการนำเสนออัตลักษณ์อาหารถิ่นของชาวเชียงรายทั้ง 18 อำเภอ อีกทั้งอาภรณ์อันงดงามวิจิตรจากหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงราย จากLocal สู่ เลอค่า ผ่านวัฒนธรรมเชิงสัญญลักษณ์ 5F-Food, Fashion, Fighting, Film, Festival นำไปสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การบริการทางวัฒนธรรม ตลอดถึงการเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและท้องถิ่น
ทั้งหลายทั้งปวงนี้มิใช่แค่จุดมุ่งหมายที่หรูๆและเลือนๆ แต่จากการเอาจริงเอาจังขององค์กรแต่ละภาคส่วนที่ขยับขับเคลื่อน เชื่อว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นจริงสมที่มุ่งหมาย
“เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และด้วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการสืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ด้วยการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการดำเนินงานวัฒนธรรมเพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของท้องถิ่น…”รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว
ครับ !! ความภูมิใจในรากเหง้าของท้องถิ่น…มันช่างสำคัญยิ่งนัก !!
ในงานนี้ยังมีความงดงามที่ต้องกล่าวถึงอีกเรื่อง คือการมอบเกียรติบัตรให้กับเครือข่ายวัฒนธรรมทั้ง 18 อำเภอ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งมีการมอบโล่ห์ยกย่องเชิดชูเกียรติ”คนดีศรีเชียงราย” ประจำปี 2566 จำนวน 6 สาขาเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวม 6 ท่านด้วยกัน
-สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ นายถาวร อุ่นเจริญ
-สาขาศิลปการแสดง ได้แก่ นางบัวลอย โชติสิริพัชญ์
-สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ได้แก่ นายภัทรพงศ์ วงศ์เชียงปล้อง
-สาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ นายธวัช เพลียลา
-สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปการป้องกันตัว ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ดอนลาว
-สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ นายรัตน์ เผ่าปินตา
นอกจากเนื้อหาของงานด้านอื่นๆแล้ว ความประทับใจของผู้เข้าร่วมงานต่างชมเป็นเสียงเดียวกัน ว่าบนเวทีผ้าอาภรณ์ที่เหล่านายแบบ นางแบบ ทุกรุ่นวัยพากันมาพาเหรดให้ตาลุกวาวกันในวันนั้น อิ่มเอมเปรมใจไปตามๆกัน
สมคำ…เชียงราย เลอค่า สืบสาน พัฒนา ต่อยอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม…อย่างแท้จริง !!