คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

6 พฤศจิกายน 2023
20   0

  1. ความรู้สึกต่อภาระหน้าที่การงานที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องจากการเป็นผู้สูงอายุ

ความรู้สึกของผู้สูงอายุต่อภาระหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปสามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่แสดงความรู้สึกในทางบวก คือ มีความรู้สึกที่ดีต่อภาระหน้าที่เมื่อเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่แบ่งรับแบ่งสู้ ให้เหตุผลก้ำกึ่งระหว่างมีความรู้สึกดี และไม่ดีและ กลุ่มที่สาม แสดงความรู้สึกในทางลบ คือ มีความรู้สึกไม่ดีอันเนื่องมาจากการเป้นผู้สูงอายุต่อภาระหน้าที่การงานที่เปลี่ยนแปลงไป 

กลุ่มที่ 1 มีความรู้สึกดีต่อภาระหน้าที่การงานภายหลังที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว      

ในกลุ่มนี้มีผู้ตอบเพียง 6 ราย จากทั้งหมด 88 ราย ที่กล่าวชัดเจนว่าปัจจุบันนี้รู้สึกสบายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้สึกอึดอัดที่ไม่ได้ทำงานเหมือนเดิม แต่ก็พอทำอะไรได้เพื่อทดแทนงานเดิม แม้จะไม่มีรายได้มากเท่าสมัยที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี่บางคนได้ให้เหตุผลในทางบวก โดยเน้นที่การทำงาน เพราะในสมัยที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุนั้นได้ทำงานหนักมากมาโดยตลอด ขณะนี้เป็นผู้สูงอายุ เป็นช่วงเวลาที่ได้พักผ่อน เพราะได้ทำงานมาตลอดชีวิตแล้ว

สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงาน เช่น ผู้สูงอายุบางคนได้อธิบายว่า ตอนที่เป็นครูสอนหนังสือเป็นช่วงเวลาที่ต้องกังวลต่อเรื่องงาน ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่พอเกษียณอายุราชการแล้วได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ให้แก่ครอบครัวมากขึ้น เช่นเดียวกับข้าราชการอีกคนหนึ่งที่ได้ให้เหตุผลว่าการที่มีความรู้สึกดีต่อการเป็นผู้สูงอายุเพราะเดิมมีนายคอยสั่งการอยู่ตลอดเวลา พอเกษียณอายุแล้วมีอิสระ อยากทำอะไรก็ได้ไม่ทำก็ได้ รู้สึกเหมือนเป็นนายตัวเอง

 

กลุ่มที่ 2 มีความรู้สึกแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างความรู้สึกที่ดีและไม่ดี

ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ได้ให้คำตอบค่อนข้างจะหลากหลาย ดังตัวอย่างของเหตุผลต่อไปนี้

  1. ยอมรับสภาพตนเองว่าเป็นผู้สูงอายุ แต่ไม่มีความรู้สึกในทางไม่ดีเพราะยังคงทำงานได้อยู่บ้าง เพียงแต่ปริมาณลดน้อยลงไป ภาระหน้าที่ยังเหมือนเดิม
  2. เปลี่ยนแปลงงานจากทำไร่ทำนามารับจ้างสาวเรือข้ามฟาก พอมีรายได้เลี้ยงตัวไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร
  3. บางครั้งรู้สึกสบายใจ เพราะได้ทำงานเบาๆ แม้ลูกๆ จะห้ามมิให้ทำ แต่ก็แอบทำเสมอ บางครั้งรู้สึกเบื่อที่อยู่แต่ในบ้าน อยากออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคิดว่ายังมีแรงทำงานได้
  4. ยังคงทำงานได้อย่างปกติ แม้จะไม่ได้ทำงานในไร่นา แต่ก็ทำสวนปลูกพืชผักผลไม้ ดอกไม้ สามารถหาสิ่งที่มาทดแทนภาระหน้าที่เดิมได้
  5. ทำงานได้เหมือนเดิมแต่ช้าลงและเหนื่อยง่าย ยอมรับสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม จะโทษใครไม่ได้ ทำได้แค่ไหนก็ทำเท่านั้น 

กลุ่มที่ 3 มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อภาระหน้าที่การงานหลังที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว

กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นกลุ่มส่วนใหญ่ที่มีทัศนะในทางลบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่แสดงความรู้สึกที่ไม่ดีต่อภาระหน้าที่การงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถจำแนกเหตุผลของความรู้สึกที่ไม่ดีดังปรากฏในกลุ่มเหตุผลต่อไปนี้

เหตุผลที่มีความรู้สึกที่ไม่ดี

  1. ผลกระทบทางด้านร่างกาย
  • สุขภาพไม่ดี ทำอะไรไม่ไหวเหมือนเดิม
  • ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ร่างกายสู้ไม่ไหว
  • ต้องทำงานเบาๆ ทั้งๆที่ใจยังอยากทำเหมือนเดิม
  • รู้สึกเรี่ยวแรงถดถอย เหนื่อยง่าย คงเป็นเวลาที่ต้องพักผ่อน
  1. ผลกระทบทางด้านจิตใจ
  • เบื่อ หงุดหงิด อึดอัดใจ กลุ้มใจ ยังอยากทำงานเหมือนเดิม
  • รำคาญใจที่ทำไม่ได้เหมือนเดิม
  • เหงา เบื่อตัวเอง บางครั้งอยากตาย
  • โมโหตัวเอง หงุดหงิด อยากทำงานแต่ทำไม่ได้ดั่งใจ
  • ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ และเบื่อชีวิตที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น
  • รู้สึกเสียดาย ที่อายุมาก เพราะหาเงินไม่ได้เหมือนเดิม
  • จิตใจอยากทำงานอยู่แต่ลูกหลายห้ามมิให้ทำ
  • กระวนกระวายใจ กลัวจะลำบากมากกว่านี้ ถ้าอายุมากขึ้น
  • กลุ้มใจ คิดมาก เคยทำได้แต่ตอนนี้ทำไม่ได้อีกแล้ว
  • รู้สึกเบื่อหน่ายตัวเอง เพราะทำกินเองไม่ได้
  • อยากทำงานได้เหมือนเดิม ยังอยากได้เงิน แต่ทำไม่ไหว

ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีต่อภาระหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการที่เคยทำงาน มีรายได้กลับต้องทำงานลดน้อยลงไป หรือไม่ได้ทำเลย นับเป็นผลกระทบต่อภาวะทางจิตใจของผู้สูงอายุที่ค่อนข้างจะเป็นปัญหา แต่ก็พบว่า ผู้สูงอายุบางรายได้ให้เหตุผลว่าการที่ไม่ได้ทำงานเหมือนเดิมเพราะลูกหลานห้ามไม่ให้ทำบ้าง หรือทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ลดลงจากเดิม ทั้งๆ ที่อยากจะทำ การยอรับสภาพของการเปลี่ยนแปลงด้านภาระหน้าที่การงานที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งยอมรับความเป็นจริง จึงพยายามปล่อยวาง และยอมรับสภาพการเป็นผู้สูงอายุ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้สูงอายุที่มีความรู้สึกไม่ดีนี้ได้สะท้อนปัญหาทางจิตใจที่สามารถทราบจากการตั้งคำถามเปิดและให้โอกาสได้ตอบอย่างเต็มที่ จึงอาจสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความรู้สึกในทางลบต่องานและภาระหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเป็นผู้สูงอายุแล้ว