คอลัมน์ » เอลนีโญ-ภัยแล้ง-สัญญาณอันตราย !!

เอลนีโญ-ภัยแล้ง-สัญญาณอันตราย !!

6 กันยายน 2023
29   0

คนเก่าแก่มักพูดให้เราได้ยินเสมอ ในยามที่ฝนตกติดต่อกันหลายๆวัน ว่ามันเป็นฝนกลางพรรษา คือในระหว่างช่วงเข้าพรรษาของไทยเรา จะอยู่ในช่วงฤดูฝน ฝนก็เลยตกชุก ซึ่งก็เป็นไปตามฤดูกาลที่ผ่านมานานนม

เมื่อฝนมาน้ำก็มา ถ้ามามากก็ส่งผลกระทบ

สิงหาคม กันยายน พฤศจิกายนที่เริ่มจะมีลมว่าว ลมหนาวโชยมาบ้างในทางเหนือ ทางใต้ที่รับน้ำเหนือไปมากก็จะท่วมกันรุนแรงแทบทุกพื้นที่ ช่างไม่มีความพอดีบ้างเลย !!

ความไม่พอดีนี่แหละที่มันสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในหลายพื้นที่ดังที่เราได้พบเห็นจากข่าวเป็นระยะ หรือที่ทางการเรียกมันว่าเป็นสถานะการณ์ เอลนิโญ่-ลานีญา

เข้าใจกันง่ายๆคือ เอลนีโญ : ทำให้เกิดฝนตกหนักในอีกซีกโลกหนึ่ง และแล้งจัดในอีกซีกโลกหนึ่ง หรือขยายความก็คือเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมรุนแรงในทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งขึ้นในฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้….ในทางกลับกัน ลานีญา : ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันจะเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรงในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ที่ว่านี้ประเทศไทยไม่ได้รับการยกเว้นต่อผลกระทบนี้แต่อย่างใด

กรมอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO )ได้ออกมาประกาศเตือนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ถึงปรากฏการณ์เอลนิโญที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ !!

เขาเตือนภัยมาแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุว่าความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ?

คณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช) เปิดประชุมรับมือเรื่องนี้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา พูดกันถึงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่จะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่องและเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงได้ เพราะจากเดือนกันยายกเป็นต้นไปแนวโน้มปริมาณฝนตกในประเทศไทย ต่ำกว่าปกติ

มาตรการจากที่ประชุมวันนั้น

  1. การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ
  2. ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ(ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่การใช้น้ำภาคการเกษตรเช่นการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3 R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทานด้วย

นอกจากนั้นยังเร่งให้มีการทำความเข้าใจเรื่องนี้ในภาคประชาชนอย่างทั่วถึง เร่งด่วน พร้อมรณรงค์ขอให้ประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ประเมินว่าแนวโน้มไทยเข้าสู่ภาวะเอลนิโญตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งอาจทำให้เราประสบภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าข้าวนาปีอาจลดลงอย่างน้อย 4.1-6 % หรือ 25.1-25.6 ล้านตัน และถ้าเอลนีโญส่งผลกระทบร้ายแรงและยาวนานกว่าปกติ ผลผลิตข้าวของไทยจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วย

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ให้ความเห็นว่าเอลนีโญในปีนี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 36,000 ล้านบาท

เอลนีโญ ในปีนี้ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นปัจจัยกระตุ้นไฟป่าในอินโดนีเซียให้รุนแรงมากขึ้น จนเกิดหมอกควันพิษข้ามพรมแดน แม้รัฐมนตรีของอินโดนีเซียจะออกมายืนยันถึงมาตรการรับมือ เช่น การทำฝนเทียม และการเก็บกักน้ำได้ในปริมาณเพียงพอต่อการดับไฟป่าในปีนี้ไว้แล้ว

ทางด้าน ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน ประเมินว่า เอลนีโญในปีนี้จะทำให้แล้งหนัก และนานกว่าที่เคยเป็น และอาจกระตุ้นให้เกิดหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในพื้นที่ของ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทยในปลายปีนี้ด้วย

สรุปว่าปีนี้ไม่ธรรมดาแล้วนะครับ !!

ที่เห็นว่าฝนตกแทบทุกวันในช่วงนี้ บางพื้นที่เขาไม่มีฝนเหมือนเรา หรือถ้าในอีกไม่กี่วันข้างหน้าฝนมันจะเริ่มทิ้งช่วงไปอย่างที่เขาพยากรณ์ นั่นแหละคือสัญญาณเตือนภัยที่ประชาชนต้องจับตา !!