คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

6 กันยายน 2023
187   0

  1. การเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุ: เปรียบเทียบหน้าที่ความรับผิดชอบก่อนและหลังอายุ 60 ปี

การศึกษาผู้สูงอายุในภาคกลางครั้งนี้ เจาะจงศึกษาเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตชนบทเท่านั้น ดังนั้นจึงพบว่าอาชีพก่อนการเกษียณอายุ หรือก่อนตกเป็นตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนาทำไร่และทำสวนถึงร้อยละ 85 ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 6.9 และเคยรับราชการร้อยละ 4.6 นอกจากนั้นประกอบอาชีพค้าขาย การดำเนินชีวิตหลังการทำงานเป็นประเด็นที่คณะผู้วิจัยต้องการจะทราบว่า ผู้สูงอายุได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทชีวิตภายหลังเกษียณ 60 ปีอย่างไร ผู้สูงอายุมีภารกิจอะไรภายหลังเกษียณอายุ หรือยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมอยู่ ประเด็นดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุ ซึ่งเคยเป็นผู้นำของครอบครัวเป็นแรงงานและเป็นผู้ที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจที่จะนำครอบครัวให้อยู่รอดแต่เมื่อก้าวมาสู่วัยสูงอายุขึ้น ภาระหน้าที่ต่างๆ ที่เคยทำมาแต่เดิมกลับต้องถูกลดลง ไม่ว่าจะด้วยเกณฑ์ตามกฎหมายที่ต้องเกษียณอายุราชการหรือถูกกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ต้องสิ้นสุดหน้าที่และบทบาทลง อันเนื่องจากวัยวุฒิที่ต้องเปลี่ยนให้บุตรหลานทำหน้าที่แทน ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้แม้จะเป็นกฎตามธรรมชาติที่วันหนึ่งทุกคนจะต้องเข้าสู่วัยหรือเกณฑ์อายุที่เป็นผู้พึ่งพามากกว่าการเป็นผู้นำได้อีกต่อไป ในบทนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าบริบททางสังคม และวัฒนธรรมไทยว่าการเป็นผู้สูงอายุส่งผลกระทบต่อสถานภาพและบทบาทอย่างไร โดยเฉพาะได้มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทอย่างไร

เนื่องจากประชากรของการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา ทำไร่ และทำสวน นอกจากนี้ คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ และค้าขาย การดำเนินชีวิตภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี จึงเป็นประเด็นที่สำคัญเพื่อจะทราบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานซึ่งเคยทำอยู่เป็นประจำตลอดมาหรือไม่อย่างไร ผลจากการศึกษาสามารถจำแนกหน้าที่รับผิดชอบได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เปรียบเทียบหน้าที่รับผิดชอบก่อนและหลังอายุ 60 ปี

ภาระหน้าที่เดิม

ทำไร่ ทำนา ทำสวน, รับจ้าง, รับราชการ, ค้าขาย และอื่น

ภาระหน้าที่ปัจจุบัน

ทำงานบ้าน, เลี้ยงหลาน, ปลูกต้นไม้, ปลูกผักสวนครัว, อยู่บ้านเฉยๆ, เก็บผลไม้ขาย, รับจ้าง, จักสาน, ดายหญ้า และอื่น

ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์แบบลึก และจากการสังเกตการณ์สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทภาคกลาง กล่าวคือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ทำสวนเป็นอาชีพหลัก เมื่อมีอายุมากขึ้นบางคนที่มีสุขภาพดีก็ยังสามารถทำงานในไร่นาได้บ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมอบหมายให้บุตรหลานทำต่อ สำหรับผู้ที่ไม่มีกำลังแรงงานก็จะให้ผู้อื่นทำ ส่วนตนเองจะทำงานบ้าน ซึ่งหมายถึงการดูแลต้นไม้ ตัดกิ่งไม้ กวาดลานบ้าน รวมทั้งได้รับหน้าที่ให้เลี้ยงหลาน ในเวลาที่ลูกหลานออกไปทำนา หรือทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงจะยังคงรับผิชอบการทำอาหาร ซักเสื้อผ้า ถ้ามีลูกสาวก็จะให้เป็นผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่ทำงานบ้าน กวาดบ้าน หุงหาอาหาร งานในครอบครัวส่วนใหญ่จะแบ่งงานทำ เช่น ผู้ชายจะปลูกผักสวนครัว จักสาน ดายหญ้า ปลูกต้นไม้ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ เป็นต้น ส่วนงานในบ้านจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง

ในระยะเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุส่วนใหญ่ยังคงผูกพันกับงานในไร่อยู่ จึงได้รับคำตอบเหมือนๆ กัน ว่าระยะแรกเมื่อเริ่มสูงอายุยังพอทำนาได้ ก็จะไปช่วยลูกหลาน แต่ต่อมาเริ่มรู้สึกว่าหมดแรงง่ายจึงค่อยๆ เลิกทำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนหนุ่มสาว สำหรับผู้สูงอายุที่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ยืนยันว่าจะยังคงทำไร่นาอยู่บ้างแต่อาจลดลง บางคนที่แข็งแรงยังคงทำนาไปจนถึงอายุ 73 ปี จึงเลิกแต่ก็จะไปช่วยกำกับดูแลไร่นาและให้คำแนะนำต่างๆ แก่ลูกหลานถ้ามีโอกาส

เพราะความเคยชินกับการทำงานในไร่นาผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจาก งานนา มาเป็น งานสวน ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้บ้านหรือบริเวณบ้าน ส่วนผู้ที่ยังผูกพันและไม่อยากทิ้งงานในไร่นาบางคนได้ไปช่วยลูกหลาน เช่น การหว่านข้าว ซึ่งถือว่าเป็นงานเบา สำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยในเรื่องแรงงานได้ก็จะคอยให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน

ผู้สูงอายุหลายคนให้เหตุผลที่ไม่ได้ทำนาก็เพราะลูกๆ ไม่ต้องการให้ทำ ต้องการให้อยู่บ้านพักผ่อน แต่ส่วนใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ผู้สูงอายุบางคนขอร้องให้พาไปดูไร่นาแม้จะไม่ได้ลงมือทำ แต่ก็อยากให้ความคิดเห็น คำแนะนำ เช่น จัดการเรื่องการชลประทานในไร่นา การทำงานที่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครบังคับ ผู้สูงอายุได้ให้เหตุผลว่าการทำนา ทำไร่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แต่จิตใจยังอยากจะทำอยู่ ที่ไม่ได้ทำตามใจตนเอง เพราะลูกหลานห้ามไม่ให้ทำเกรงว่าจะเจ็บป่วย จึงเลี่ยงไปทำงานในสวน ปลูกพืชผักสวนครัว ตัดกิ่งไม้ ปลูกต้นไม้ขาย หรือค้าขายเล็กๆ น้อยๆ

จากจำนวนผู้ที่ทำไร่ทำนามาก่อนมีผู้สูงอายุจำนวนหลายคนที่ตอบว่าอยู่บ้านเฉยๆ เพราะสุขภาพไม่ดี บางคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ปวดหลัง ปวดขา จากการสังเกตการณ์พบว่าผู้สูงอายุที่ตอบว่าอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรนั้นมักจะเป็นคำตอบที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยความเป็นจริง พบว่าการอยู่เฉยๆ คือ ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ซักเสื้อผ้าของตัวเอง กวาดบ้าน หุงข้าว รวมทั้งช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแลลูกหลาน ผู้สูงอายุจะหมายถึงการทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น หุงข้าว ใส่บาตร รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารเป็ดไก่ คำตอบของผู้สูงอายุหลายคนที่สะท้อนภาระหน้าที่งานประจำ เช่น

“ตอนนี้ไม่ได้ทำงานอะไรเลย เพราะเป็นโรคหัวใจ ได้แต่อบรมสั่งสอนลูกหลาน”

“ไม่ทำงานบ้านแล้ว เพราะปวดเอวแต่จักสานพอได้”

“เป็นโรคเบาหวาน งานบ้านทำไม่ไหวแล้ว ได้แต่ไกวเปลหลาน”

“ส่วนใหญ่อยู่เฉยๆ ลูกให้เงินใช้ ตอนนี้ยังปลูกต้นไม้ขาย”

“เฝ้าบ้าน ทำงานบ้านเบาๆ กวาดบ้าน หุงข้าว เลี้ยงหลาน”

การเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทจากการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สถานภาพด้านหน้าที่การงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เมื่อภายหลังที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ก็ยังคงทำหน้าที่เช่นเดิมอยู่ เพียงแต่ภาระหน้าที่ที่เคยทำอย่างเต็มที่นั้นได้ลดลง ทั้งนี้เพราะมีความผูกพันกับอาชีพการเกษตรมาตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงเลี้ยงไปทำงานที่เบาขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการทำงานในไร่นา มาเป็นการทำงานปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งก็เป็นงานเกษตรกรรมเช่นกัน แต่เป็นการใช้แรงน้อยลง นอกจากนี้ยังจักสานและเลี้ยงสัตว์ เมื่อพิจารณาด้านเพศพบว่าผู้สูงอายุหญิงส่วนใหญ่ก็ยังคงทำงานเป็นแม่บ้านโดยรับผิดชอบงานในครอบครัว ดังที่ได้เคยทำมาแต่เดิม ดังผู้สูงอายุหญิงบางคนกล่าวในเชิงประชดประชันว่า เมื่อตอนเป็นเด็กก็ต้องดูแลพ่อแม่ พอแต่งงานก็ดูแลสามีและลูก พอแก่เฒ่าก็ยังต้องดูแลหลานอีก

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุในแง่ของภาระหน้าที่การงานของกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรยังคงทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากเดิมเพียงลดปริมาณลงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพรับราชการ รับจ้าง และค้าขาย ส่วนใหญ่เมื่อพันจากสภาพเดิมจะหันมาทำงานในบ้าน ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหลาน ส่วนผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีมักจะอยู่บ้านเฉยๆ แต่ก็อาจทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เป็นกิจวัตรประจำวัน



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า