- ผู้สูงอายุที่อายุยิ่งมากขึ้นยิ่งลดอำนาจลงจริงหรือ
ในบทนี้ต้องการเสนอแนวคิดของผู้สูงอายุว่ามีทัศนะอย่างไรต่อสถานภาพและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สมัยที่เป็นคนหนุ่มสาวไปสู่วัยทำงานและเป็นผู้สูงอายุในปัจจุบัน สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ผู้สูงอายุซึ่งมีความเสื่อมทางด้านสุขภาพร่างกาย ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะทางจิตใจที่ต้องเผชิญกับปัญหาการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดยอมรับว่าสถานภาพและบทบาทลดลงไปจากเดิมหน้าที่การงานที่เคยทำมาก่อนต้องเปลี่ยนแปลงจากงานหนักไปเป็นงานเบา ผู้สูงอายุจำนวนมากเห็นว่าหน้าที่และบทบาทที่เคยมีอยู่เดิมลดลงไปจนแทบไม่เหลืออะไร การตัดสินใจที่สำคัญๆ ซึ่งเคยเป็นผู้นำต้องมอบหมายให้บุตรหลานเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะปัจจุบันต้องอาศัยลูกหลานเป็นผู้หาเลี้ยง ผู้สูงอายุยอมรับสภาพการเป็นผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ถึงกับท้อคอยหรือเสียใจถึงขั้นรุนแรง เพราะเป็นความจริงและเป็นไปตามธรรมชาติ
ในบทนี้ จะนำเสนอแนวความคิดของผู้สูงอายุต่อการเป็นผู้สูงอายุที่พึงประสงค์ หรือการทำตัวให้เหมาะสมกับวัยในด้านสถานภาพและบทบาทของผู้สูงอายุที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ครอบครัวและสังคม นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังต้องการจะศึกษาว่าผู้สูงอายุประเมินตนเองอย่างไรในแง่ของการปรับตัวในโลกสมัยปัจจุบัน การรับรู้ข่าวสาร ความทันสมัยและความสุขที่ได้รับในปัจจุบัน ในส่วนสุดท้ายจะเสนอแนวคิดและความคาดหวังต่อนโยบายที่รัฐพึงให้การสงเคราะห์ต่อผู้สูงอายุ
ในส่วนนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้สูงอายุต่อสถานภาพและบทบาทที่แปรเปลี่ยนไปจากวัยการทำงานเป็นวัยสูงอายุ ประเด็นคำถามได้ตั้งขึ้นจากคำกล่าวที่ว่า “ผู้สูงอายุที่มีอายุยิ่งมากขึ้นยิ่งลดอำนาจและความสำคัญลง” นั้น ผู้สูงอายุมีความคิดเห็นอย่างไร จากการสัมภาษณ์พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ โดยได้ให้เหตุผลค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า “อำนาจ” และ “ความสำคัญ” ที่ลดลงไป มีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่สำคัญๆ ดังนี้
- คุณค่าและศักดิ์ศรี ได้ลดลงหรือสูญเสียไปเพราะการเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งขึ้น คุณค่าและศักดิ์ศรีก็ลดลงไปด้วย เพราะเมื่ออายุมากยิ่งขึ้นจะไม่มีอำนาจในการปกครอง พูดอะไรไม่ค่อยมีผู้ใดเชื่อฟัง เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่หรือแม้จะดุด่าใครก็ไม่มีความหมายเมื่อคุณค่าและศักดิ์ศรีถูกลดลงไปทำให้ขาดความนับคือ ไม่เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ถึงกับถูกกล่าวหาว่า “คนแก่พูดไม่รู้เรื่อง” บ้าง “พูดเพ้อเจ้อ” บ้าง คุณค่าและศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำถูกลดลงเพราะคนทั่วไปเห็นเป็นผู้ด้อยความสามารถอำนาจและความสำคัญจึงค่อยๆ ลดลงไปตามการเพิ่มขึ้นของอายุ
- สุขภาพร่างกาย ผู้สูงอายุย่อมมีความเสื่อมโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ การที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพไม่มี นับเป็นปัจจัยสำคัญเพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปกติ มีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีประโยชน์ การที่มีสุขภาพไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหาเพราะต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือเลี้ยงดู เป็นภาระของครอบครัว หากจะทำงานได้บ้างก็เป็นงานเบาๆ ภายในบ้าน เช่น เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน เวลาจะเดินทางไปที่ไหนก็ต้องให้บุตรหลานไปรับไปส่ง สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นคอยชูคอชูมือกิน ต้องเชื่อฟังลูกหลานโดยตลอด ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เพราะมีสภาพเป็นผู้รับการดูแล เปรียบเสมือนเด็กอ่อนที่ต้องรับการคุ้มครอง เอาใจใส่ จึงหมดสิ้นความสำคัญ และอำนาจที่เคยครอบครองมาตลอดชีวิต
- ความเป็นผู้นำครอบครัว เป็นการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนจากการเป็น “ผู้รับผิดชอบ” มาเป็น “ผู้พึ่งพิง” การมีหน้าที่และบทบาทเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวมาเป็นภาระหลักของสถาบันครอบครัว เมื่อผู้สูงอายุต้องถูกลดบทบาทนี้เท่ากับเป็นการลดอำนาจและความสำคัญลงไปด้วย หากผู้สูงอายุคนใดยังไม่ “ลดละ” “ปล่อยวาง” หน้าที่นี้บุตรหลานจะกล่าวหาว่า “ไม่เจียมตัว” แก่ไม่อยู่ตามแก่ แม้จิตใจจะเข้มแข็ง แต่ไม่อาจต้านทานความเสื่อมของร่างกายได้ ผู้สูงอายุหลายคนยอมรับว่าเมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้สูงอายุ สุขภาพร่างกายและจิตใจรวมทั้งความนึกคิดก็เปลี่ยนไปด้วย ภาระความรับผิดชอบที่เคยมีต้องมอบหมายให้บุตรหลานมารับภาระหน้าที่แทน อำจานถูกลดลงไป แต่ก็ยังอาจให้คำแนะนำได้ถ้าลูกหลานต้องการ ความเป็นผู้นำครอบครัวก็สูญสิ้นเพราะจะดื้อรั้นเป็นคนเก่ง หรือเป็นผู้นำอีกต่อไปไม่ได้ การเป็นผู้สูงอายุจึงเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน มอบอำนาจให้แก่ลูก และยอมรับสภาพที่เป็นจริง
- รายได้และสถานภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุภาระหน้าที่ที่เคยทำถูกลดลงไป ทำให้ไม่สามารถจะหารายได้เหมือนเมื่ออยู่ในวัยแรงงาน ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เชื่อว่า “ความสำคัญหรืออำนาจ” คือเงิน เมื่อไม่ได้ทำงานก็จะไม่มีรายได้และไม่มีเงิน อำนาจอยู่ที่การมีเงินหรือไม่ ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินก็จะไม่มีอำนาจที่จอต่อรองเรื่องใดๆ เวลาพูดหรืออบรมสั่งสอนลูกหลานก็ไม่มีใครเชื่อฟัง ส่วนผู้สูงอายุที่มีฐานะการเงินดี ลูกหลานจะห้อมล้อมเอาในใส่ เพราะเห็นว่ายังมีคุณค่าและมีความสำคัญอยู่ ผู้สูงอายุบางคนได้ยกตัวอย่างว่า “เวลาไปทำบุญ ถ้าทำมากก็ได้รับการยกย่อง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ส่วนคนที่ทำบุญน้อย พูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่ในบ้านลูกหลานก็ไม่เกรงใจ มองคนแก่ เหมือนคนไร้ค่า” ผู้สูงอายุที่สนับสนุนในเรื่องนี้ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้ และมีสถานภาพทางเศรษฐกิจดีจะมีคนยกย่อง ยอมรับและมีความสำคัญ ส่วนผู้ที่ยากจนต้องอาศัยลูกหลาน จึงเป็นผู้ที่หมดความหมาย ทำงานอะไรไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ ช่วยเหลือใครไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามผู้สูงอายุที่มีเงินมีรายได้ก็ยังมีอำนาจ ไม่ต้องง้อใคร จะอยู่อย่างไร กินอะไรก็ได้ ลูกหลานก็ให้ความสำคัญ ผู้สูงอายุได้สรุปว่า ทุกวันนี้ลูกหลานมองความสำคัญของผู้สูงอายุอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทองไม่ได้มองที่ความดี
- ล้าสมัยหัวโบราณ การเป็นผู้สูงอายุนอกจากจะมีความแก่ของสภาพร่างกายแล้ว ก็ยังมีความเก่าในเรื่องความคิด ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ล้าสมัยในเรื่องความคิดที่ ลูกหลานไม่เข้าใจ ทำให้ลูกหลานเบื่อหน่าย บางครั้งลูกหลานดุบังคับให้ “เงียบ” ไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุพูดหรือสั่งสอน เพราะคิดว่าความคิด และคำสอนเป็นเรื่องล้าสมัยไม่ทันโลก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยอมรับว่าอาจเป็นเพราะมีช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาการสื่อสาร รวมทั้งระบบความคิดของผู้สูงอายุ และ “การศึกษา” ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำและไม่ทันสมัย ดังนั้นจึงมองตนเองว่าเป็นผู้ล้าสมัยหัวโบราณ ทำให้ลูกหลานไม่ศรัทธาและให้ความเคารพนับถือ อำนาจและความสำคัญที่มีอยู่จึงลดลงไป
- การทำงาน ผู้สูงอายุมั่นใจว่าการที่มีอายุมากขึ้นแต่ยังสามารถทำงานได้อย่างปกติ แสดงถึงความสามารถยังมีอยู่ อำนาจและความสำคัญก็ยังคงมีอยู่ แต่ถ้าหากไม่ได้ทำงานหรือทำงานน้อยลงอำนาจและความสำคัญก็ยิ่งลดลงไปด้วย การทำงานจึงไม่ได้หมายถึงการมีรายได้อย่างเดียว แต่หลายถึง “ความสามารถ” ที่สามารถทำให้ลูกหลานหรือคนทั่วไปยอมรับเช่นเดียวกับการมีคุณค่าและศักดิ์ศรีถ้ายังคงทำงานได้ แม้ว่าจะมีอายุสูงมากขึ้นก็ยังมีคุณค่าต่อลูกหลานและสังคมอยู่ ความสามารถในการทำงานยังหมายถึง “อิสระ” ที่ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน ไม่ต้องเกรงใจและไม่ได้เป็นภาระแก่ใคร ลูกหลานก็จะไม่เบื่อหน่าย เกลียดชังเพราะถ้าหากทำงานไม่ได้จะมีสภาพเป็นผู้ไร้ความหมายต้องอาศัยจมูกผู้อื่นหายใจ ผู้สูงอายุที่ต้องตกอยู่ในสภาพนี้จะต้องระมัดระวังตัวเอง ไม่พูดมาก รับฟังคำแนะนำหรือผ่อนปรนตามลูกหลาน เพราะเป็นผู้อาศัย มีหน้าที่เพียงเฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน อำนาจตัดสินใจต่างๆ ที่เคยมีเสื่อมสลายไปหมดเพราะไม่ได้ทำตัวเป็นประโยชน์ ไม่ได้หาเลี้ยง เป็นการกลับบทบาทที่ต้องให้ผู้อื่นเลี้ยงดู อำนาจและความสำคัญจึงลดลง
- ภาวะจิตใจ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า การลดอำนาจหรือความสำคัญนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคน คือ สามารถเกิดความรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเอง หรือไม่มีความรู้สึกใดๆ ก็ได้ ผู้สูงอายุได้แสดงความเห็นในเรื่องภาวะจิตใจ ก็เพราะการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจและความสำคัญเป็น “ความรู้สึก” ที่แต่ละคนสังเกตเห็นและยังเป็นการตีความ ทั้งนี้เพราะการยอมรับเป็น ผู้สูงอายุหรือไม่อยู่ที่ภาวะจิตใจและความรู้สึกดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ด้วยเหตุนี้การที่จะมีความรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจ ลดบทบาท ลดคุณค่าและลดความสำคัญขึ้นอยู่กับตัวผู้สูงอายุเอง ถ้ายังเห็นว่าตนเองมีความสำคัญก็จะไม่สนใจว่าจะมีอายุมากขึ้นเท่าใด ตราบใดที่ยังมีชีวิตและลมหายใจ คุณค่าก็ยังมีอยู่แต่จะรู้สึกว่าอำนาจและความสำคัญลดลงไปถ้ามีจิตใจอ่อนแอ
- กฎธรรมชาติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยอมรับความจริงว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงไป จิตใจก็ห่อเหี่ยวเช่นเดียวกัน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังเดิมได้ จึงต้องค่อยๆ มอบหมายภาระหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบให้บุตรหลานทำหน้าที่แทน อำนาจและความสำคัญเริ่มลดลงตามลำดับ โดยจะต้องเป็นผู้ตาม คนรับฟัง ให้คำแนะนำส่วนลูกหลานจะเชื่อหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของลูกหลาน ผู้สูงอายุหลายคนได้กล่าวถึงตนเองเมื่อเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ได้ทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวอบรมสั่งสอนลูกหลาน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นๆ ถือเป็นกฎธรรมชาติที่ต้องถึงเวลาจะปลดตัวเองจากความรับผิดชอบ เพราะทำงานไม่ได้ ความสำคัญบทบาทหน้าที่ต้องเปลี่ยนไปให้แก่ผู้ที่แข็งแรง มีสติปัญญาแทน ผู้สูงอายุถือว่าเป็นเรื่องปกติและต้องรับความเป็นจริงที่จะต้องเกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือต้อง “ปล่อยวาง ลดความอยาก และกิเลส” ถ้าหากสามารถทำได้จิตใจจะไม่มีความกังวลและมีความสุข ไม่ต้องเสียดายอำนาจหรือความสำคัญที่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยที่ว่าผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้น อำนาจความสำคัญยิ่งลดลงก็ตาม แต่ผู้สูงอายุบางคนก็ให้คำตอบในเชิงเหตุผลเฉพาะสถานการณ์ เฉพาะเรื่อง ไม่ได้ให้คำตอบยอมรับแบบเหมารวมทั้งหมดดังที่ได้เสนอไปแล้ว โดยมีเหตุผลว่าเป็นบางคนก็ยังมีความสำคัญ บางคนก็ไม่มี เช่น คำตอบที่ว่า “เป็นบางคนที่ความสำคัญลดลงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุด้วยว่าทำให้ลูกหลานเบื่อหน่ายหรือไม่ ถ้าทำตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดี ช่วยเหลือลูกหลานความสำคัญก็ยังมีคงเดิม” บางคนตอบว่าอำนาจในครอบครัวยังเหมือนเดิมแต่ในสังคมลดลง “อำนาจในครอบครัวก็เหมือนเดิมเพราะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน ส่วนทางสังคมจะลดน้อยลง ไม่สามารถเข้าไปรวมกลุ่มสังคมได้” บางคนก็ว่าขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู ถ้าเลี้ยงลูกมาดี เขาก็เชื่อฟังคนแก่ ถ้าเลี้ยงไม่ดีเขาก็ไม่เชื่อฟังตัวอย่างเช่นคำตอบที่ว่า “อำนาจลดลงเกิดจากจิตใจของคนที่เชื่อถือ เขาจะเชื่อถือคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ที่ทำงานไม่ได้แต่บางคนถึงแก่ยังมีอำนาจซึ่งขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ คอยสั่งสอนอบรม แต่คนหนุ่มสาวมีอำนาจตรงที่แข็งแรง ทำงานได้ คนหนุ่มสาวบางคนก็เชื่อฟังคนแก่ บางคนก็ไม่เชื่อฟัง” ผู้สูงอายุบางรายปฏิเสธว่า ยิ่งอายุมากอำนาจความสำคัญยิ่งน้อยลงนั้นอาจไม่จริง โดยยกตัวอย่างว่าเวลามีพิธีต่างๆ เขาก็เชิญผู้สูงอายุไปเป็นประธาน ผู้สูงอายุกลับมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมเพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ เป็นตัวอย่างที่ดีและมีคนเคารพยกย่องนับหน้าถือตา จึงได้รับเชิญไปเป็นเกียรติในงานต่างๆ ที่สำคัญที่สุดผู้สูงอายุยังเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าลูกหลาน ยังคงอบรมสั่งสอนลูกหลานได้ ถ้าเป็นคนแก่จนหลงลืม หรือพูดจาเลอะเลือนอาจไม่มีอำนาจ ไม่มีคนเชื่อถือ ไม่ให้ความสำคัญ