คอลัมน์ » “รัฐฯ” ที่เราเลือก ‘วันพิพากษา’ !

“รัฐฯ” ที่เราเลือก ‘วันพิพากษา’ !

2 พฤษภาคม 2023
245   0

           สมาคมสื่อมวลชนและนักประสัมพันธ์ เชียงราย ที่มี โชติศิริ ดารายน เป็นนายกสมาคม พร้อมคณะกรรมการจัดพิธี “สระเกล้าดำหัว “สื่อมวลชนอาวุโส” ประจำปี’66 พร้อมขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลตามประเพณีสงกรานต์ ที่ รร.ลักษวรรณ รีสอร์ท เมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มี หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งบริษัท ห้างร้านต่างๆ ร่วมกิจกรรมคับคั่ง มี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงรายให้เกียรติเป็นประธานกล่าวอวยพรพร้อมร่วมพิธีด้วย สื่อมวลชน นอกจากจะมีหน้าที่ให้ ข่าวสาร ความรู้ รักษาความเป็นธรรมให้สังคมแล้ว ยังต้องอนุรักษ์สืบสานประเพณีฯด้วย…

เดือน พ.ค.นี้ ภัยพิบัติจากฝุ่นควัน (pm2.5) หรือฤดูหมอกควันในเชียงรายและภาคเหนือเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว อากาศเริ่มสะอาด สดชื่นขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นปีที่วิกฤติที่สุดในรอบหลายๆ ปี….หลังจากมีพายุและฝนมาช่วยปัดเป่า…ธรรมชาติ…ย่อมจะรักษาความสมดุลให้เป็น “ธรรม”(ชาติ)อยู่เสมอ… ตราบใดที่เรายังอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ เพราะทุกสรรพสิ่งมีต้องมีความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์

ปัจจุบันนี้ เรากำลังเจอสภาวะ “ โลกร้อน โลกรวน ”..ย้อนไปเมื่อห้วงกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา (63-65) บ้านเรามีความชุ่มชื้นไร้หมอกควันก็เพราะประเทศเราและกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ “ลานิญา” ( La Niña) จึงมีฝนและความชุ่มชื้นไปทั่ว…แต่ต่อจากนี้ไป จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย เมื่อ14 มี.ค.66 รวมทั้งกรมอุตุฯไทยก็คาดการณ์ว่า ต่อไปอีกไม่นานเราจะเผชิญปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”( El Niño) หรือ เอนโซ El Niño Southern Oscillation (ENSO) ซึ่งจะนำความแห้งแล้งมาสู่บ้านเราด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนักในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันในช่วง ก.ค.-ก.ย.’66 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนักในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 3-7 ปี สลับกับ ลานิญา เราก็ต้องเตรียมรับความแห้งแล้งอีกระรอกแล้วล่ะ…ธรรมชาติมักเป็นเช่นนี้นี่เอง….

            ดวงตะวันและภูมิอากาศของโลก จะเป็นตัวกำหนดและมีอิทธิพลต่อสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทุกๆ อย่าง…ฉันใด จิตใจ…และสติปัญญาของมนุษย์ย่อมจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม (การแสดงออก) ของปัจเจกชน…ฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้าน วิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้ง “วัฒนธรรมทางการเมือง” (ของไทยและทั่วโลก)

            การเมืองของไทยในห้วงบรรยากาศก่อนเลือกตั้ง (14 พ.ค.)จะพบว่าการเดินทางปราศรัยหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นพรรคใหญ่ๆ เด่นๆ เป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง ดุเด็ดเผ็ดมัน ทั้งบนเวที และรายการ “ดีเบต” (ถกเถียง) และประชันวิสัยทัศน์ผ่านสื่อกระแสหลัก กระแสรอง ในสื่อโซเชียลฯต่างๆ เพื่อขายนโยบาย “ประชา (มหา) นิยม” กันทั้งสิ้นไม่มีใครลดราวาศอก ไม่ว่าจะเป็น ‘กลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม’และ ‘กลุ่มพรรคเสรีประชาธิปไตย’ ต่างก็มีคำอธิบายพร้อมว่า เมื่อเลือกพรรคเราผู้เลือกพรรคนั้นจะได้อะไร มีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ…ก็ว่ากันไป…ที่สุดประชาชนเราจะเป็น “ผู้พิพากษา” เอง ในวันเลือกตั้ง…ต้องพินิจพิเคราะห์ในการเลือกครั้งนี้เพื่อ…การเลือกเพื่อเปลี่ยนแปลง!!…ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมให้ได้ !

วันที่ 14 พ.ค. ’66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป หรือ “วันพิพากษาของประชาชน” เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี ในการเลือกพรรคที่เราตัดสินใจแล้วว่าได้เลือกพรรคใดไปเป็นรัฐบาลใหม่ จะสมหวังหรือไม่ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป หลังเลือกตั้งแล้ว ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร “โพล”สำนักไหนเชื่อถือได้…สำนักไหนหน้าแหกไม่น่าเชื่อถือ คงทราบกัน (ก่อน-หลังวันเลือกตั้งผ่านไป)

หลายสำนักโพล หลายพรรคการเมือง ต่างก็เชื่อผลโพลของตัวเอง บ้างก็อ้างว่าตนแม่นที่สุด เพราะออกเก็บตัวอย่างโดยตรงจากประชาชน หลักหมื่น หลักแสน บางสำนักก็บอกเก็บข้อมูลแบบผสม ทั้งถามตรงๆ กับสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ … ตามหลักวิชาการวิจัยเชิงสำรวจแล้ว นักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.ศูนย์ฯนิด้าโพล (ที่หลายคนๆเชื่อมั่นในผลงาน) ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์บางช่องเมื่อต้นเม.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากมาตรฐานการวิจัย การเก็บตัวอย่าง 1 ล้านตัวอย่าง กับ 1,300 ตัวอย่าง ในอเมริกา ผลออกมาเท่ากัน ..จะต่างกันแค่ ‘จุดทศนนิยม’ เท่านั้น…จริงหรือ ?

           สำหรับจำนวนประชกรที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ จาก 77 จังหวัด มี 52 ล้านคน (เมื่อ 22 มี.ค.’66 : ที่มา กกต.) แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ตามแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ดังนี้ กลุ่ม 1 Baby Boomer หรือ กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 54-72 ปี กลุ่มที่ 2 คือ Gen X ได้แก่ กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 38-53 ปี กลุ่มที่ 3 คือ Gen Y อายุระหว่าง 21-37 ปี กลุ่มที่ 4 คือ Gen Z หรือ ซี อายุระหว่าง 8-20 ปี (ที่มา:กรมสุขภาพจิต)

ในกลุ่มนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหรือ First Voter มีอายุ 18-22 ปี จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิ พรรคใดได้กลุ่มนี้เป็นคะแนนเสียงโอกาสชนะเลือกตั้งมีโอกาสสูงมาก จากฐานคะแนนปีก่อนๆ จึงไม่แปลกที่แต่ละพรรคจะมีนโยบายเอาใจกลุ่มนีเป็นพิเศษเลยที่เดียว…!?

            ทั้งหมดคือจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้..จึงอยู่ที่ “นโยบายเรือธง” ของพรรคใดที่มีทีเด็ดแย่งคะแนนได้มากกว่า… ในขณะเดียวกันก่อนวันเลือกตั้ง (อาจจะ) ยังมีบางพรรคใช้ ไม้ตาย เกทับ บลั๊ฟแหลก เป็นอาวุธที่เหนือกว่า ทั้งวลี สโลแกน ที่กินใจ มัดใจให้คนเปลี่ยนใจได้ ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง …ส่วนพรรคที่ได้รับการรับเลือกเข้ามา… ต้องเคารพเสียงและซื่อสัตย์กับประชาชนที่เขาเลือกเข้ามา ว่าเขาต้องการอะไร….เป็นสำคัญ เป็นไปดั่งที่สัญญาหรือไม่..หลัง (14พ.ค.) ประชาชนได้ พิพากษาแล้วทั้ง 2 กลุ่ม พรรคกลุ่มอนุรักษ์นิยม และ กลุ่มพรรคประชาธิปไตย ต่อไปการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็จะตามมา..ตามนโยบายที่สัญญาไว้…

            ต้องคอยจับตาต่อไป…มิใช่เป็นแค่ “สัญญาที่ว่างเปล่า” หรือ “สัญญาทิพย์” หากทำได้ตามที่สัญญา เลือกตั้งครั้งหน้า…พรคนั้นก็คงจะสบายๆๆ…แต่..ต้องจับสัญญาณ “การยุบพรรค” เพื่อแย่งชิงอำนาจอาจ และตัดกำลังอีกฝ่ายก็ (อาจ)…เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ไปร้องเรียนที่มีความถี่สัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง..ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง…เพราะการเมืองไทย…อะไรๆ…ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น…เพราะอาจมีอาการหมั่นไส้อีกฝ่าย..!!?

(หมายเหตุ: บทความนี้เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2566)