- ความเป็นหญิงชาย : ในทัศนะของผู้สูงอายุ
การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในเรื่องความเป็นหญิงชาย เป็นรากฐานความคิดเกี่ยวกับหน้าที่และบทบาทของผู้สูงอายุ โดยมีแนวคิดพื้นฐานว่าการเป็นเพศหญิงและเพศชาย มีคุณลักษณะในประเด็นความแตกต่าง ไม่เพียงแต่ร่างกายหรือสภาพทางกายภาพเท่านั้น ยังมีความแตกต่างในด้านสังคมที่กำหนดหน้าที่และบทบาทให้แต่ละเพศมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันได้มีการถกเถียงและเรียกร้องให้เห็นความแตกต่างดังกล่าว เพื่อจะนำไปสู่ความเสมอภาค ขจัดการเอารัดเอาเปรียบและการใช้อำนาจในการควบคุมร่างกายและควบคุมทางสังคม ดังปรากฏในทุกสังคมว่าเพศชายได้รับการยกย่องให้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเพศหญิง เป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และควบคุมปัจจัยการผลิต ขณะที่ผู้หญิงถูกกีดกันทั้งการทำงานหรือได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ที่ต่ำกว่า ความไม่เท่าเทียมกันดังที่ได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ จึงเป็นมูลเหตุที่คณะผู้วิจัยต้องการจะทราบข้อเท็จจริงว่าในสังคมไทยที่มีผู้กำหนดว่าเป็นสังคมที่มีโครงสร้างให้ผู้ชายมีอำนาจ (patriarchy) มีบทบาททางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ขณะที่เพศหญิงเป็นเพศที่ขาดอำนาจต่อรอง และเป็นเบี้ยล่างอยู่ตลอดมานั้นเป็นอย่างไรในการศึกษาครั้งนี้จึงมีประเด็นที่จะทราบถึงแนวความคิดความหมายของการเป็นผู้หญิงผู้ชาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุไทยได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมทางเพศนี้หรือไม่อย่างไร
การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในครั้งนี้ได้ขอให้ผู้สูงอายุแสดงความคิดเห็นและให้ความหมายของคำพังเพยไทยที่กล่าวว่า “ผู้ชายเปรียบเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเปรียบเป็นช้างเท่าหลัง” “ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร” และ “ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน” โดยขอให้ผู้สูงอายุอธิบายและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระว่ามีความหมายอย่างไร และมีความเห็นอย่างไรทั้งนี้เพื่อจะเชื่อมโยงไปถึงหน้าที่และบทบาท ตลอดจนสถานภาพที่สังคมได้กำหนดความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย
ผลจากการศึกษา ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นและได้อธิบายความหมายของการเป็นช้างเท้าหน้าและช้างเท้าหลังของชายและหญิงดังนี้
- ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า หมายถึงการที่ผู้ชายเป็นผู้นำเป็นหัวแรงในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เพราะผู้ชายเป็นผู้มีกำลังแรงงานที่แข็งแรงกว่า สามารถทำงานหนักๆ ในไร่นาได้ ผู้ชายยังมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัว ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ นอกจากนี้ผู้ชายยังสามารถทำงานที่ห่างไกลตรากตรำงานได้เพราะแข็งแรง และยังสามารถออกงานสังคมเป็นผู้มีความคิด มีความรู้ดีและเป็นหัวหน้าครอบครัว
- ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง หมายถึง การที่ผู้หญิงเป็นผู้ตาม เพราะเป็นผู้ที่มีกำลังแรงงานอ่อนแอกว่า ผู้ตามจะทำหน้าที่ปรนนิบัติ สามารถทำงานเบาๆ เช่น หุงหาอาหาร คอยดูแลบ้าน เลี้ยงลูก การทำงานหนักตรากตรำเหมือนผู้ชายไม่ได้ จึงต้องเป็นผู้ตามอยู่ภายใต้การดูแลและปกป้องคุ้มครองจากผู้ชาย ต้องทำตามคำบัญชาของผู้ชาย ผู้หญิงเป็นผู้ด้อยกว่าทุกๆ ด้าน
คำอธิบายของผู้สูงอายุดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้คำนิยาม และอธิบายความหมายของคำพังเพยที่เปรียบเปรยการที่ผู้ชายเป็นเสมือนช้างเท้าหน้าและผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง โดยผู้สูงอายุส่วนมากยอมรับว่าคำพังเพยเช่นนี้เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง แต่ปัจจุบันนี้ได้แปรเปลี่ยนไป โดยให้เหตุผลอย่างหลากหลายทั้งผู้สูงอายุหญิงและชาย คือ
- ในอดีตยอมรับว่าความเชื่อดังกล่าวนั้นมีจริง คือสามีก้าวไปไหน ภรรยาก็ต้องตาม แต่ปัจจุบันนี้มีความเท่าเทียมกัน คือผู้หญิงและผู้ชายต่างเดินไปพร้อมๆ กัน มีความเสมอภาพกัน จึงเป็นผู้นำทั้งคู่
- การเปลี่ยนแปลงนี้ผู้หญิงกลับเป็นผู้นำแทนผู้ชาย เพราะผู้ชายมักจะขาดความระมัดระวังเรื่องเงินทอง ผู้หญิงจึงเป็นผู้ควบคุมด้านเศรษฐกิจของครอบครัวและผู้ชายต้องเป็นฝ่ายตาม นอกจากนี้ผู้ชายมักจะเป็นคนขี้เกียจ ดังนั้น ถ้าปล่อยให้ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวจะต้องอดตาย ผู้ชายบางคนเป็นคนไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว เมาเหล้า เที่ยวเตร่ ผู้หญิงจึงต้องเป็นผู้นำครอบครัวแทน
- ผู้หญิงในปัจจุบันหาเงินเก่งกว่าผู้ชาย ต้องเป็นผู้นำ คำพังเพยที่เปรียบเทียบผ้าชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นเพียงคำเตือนให้ผู้ชายมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นการสอนให้ครอบครัวอยู่ดีมีความสุข มีผู้นำมีผู้ตาม จะได้ไม่ทะเลาะกันระหว่างหญิงและชาย นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดหน้าที่ให้รับผิดขอบที่แตกต่างกัน
- ผู้หญิงกับผู้ชายมีความทัดเทียมกัน ผู้หญิงที่เป็นผู้นำของครอบครัวมีมากขึ้น เพราะผู้หญิงมีความสามารถมากขึ้น ต่างมีข้อดีเหมือนกัน ผู้ชายอาจตัดสินใจได้และเป็นผู้นำบางเรื่องขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีความสามารถตัดสินใจได้และเป็นผู้นำในเรื่องที่ผู้ชายไม่สามารถทำได้
- ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สามีและภรรยาจะปรึกษาหารือกันมากกว่าที่จะฟังคำสั่งหรือต้องทำตามผู้ชายเสมอ
- ถ้าสามีเป็นคนเลวไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว การเป็นผู้นำครอบครัวจึงต้องเป็นของภรรยาทั้งหมด
- ผู้หญิงปัจจุบันมีการศึกษา มีความคิดดี เป็นผู้นำของครอบครัวได้ เพราะผู้ชายบางคนไม่มีความคิด การเป็นหญิงจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ตามเสมอไป และผู้หญิงบางคนมีความสามารถ ไม่ยอมที่จะเป็นผู้ตามและอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย
- ปัจจุบันหญิงไม่ง้อและต้องพึ่งพิงผู้ชาย เพราะสามารถทำมาหากินได้เองหรือมีความสามารถมากกว่า ผู้หญิงจึงเป็นได้ทั้งช้างเท้าหลังและเท้าหน้า และสามารถเดินไปได้พร้อมๆ กัน ปรึกษาหารือกัน ช่วยกันทำมาหากิน
- ผู้หญิงมีความสามารถเท่าผู้ชายหรือมากกว่า จึงเป็นผู้นำในการหาเลี้ยงครอบครัวมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
- ผู้ชายในปัจจุบันไม่เก่งเท่าผู้หญิง ผู้หญิงจึงสามารถเป็นผู้นำครอบครัวและชุมชน สังคมได้ เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าน อัยการ ผู้แทนราษฎร และผู้ว่าราชการจังหวัดได้
- ผู้หญิงปัจจุบันมีความเก่งเหมือนคำพังเพยที่ว่า “มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง” กาลเวลาเปลี่ยนไป ผู้หญิงจึงไม่เป็นช้างเท้าหลังเหมือนอดีตที่เชื่อกัน
- ผู้หญิงปัจจุบันเรียกร้องความเท่าเทียมกัน จนสามารถเป็นผู้นำได้ เพราะผู้หญิงเก่งกว่าผู้ชาย คำพังเพยที่ว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังจึงใช้ไม่ได้อีกแล้ว
- ผู้หญิงมีทักษะพิเศษในเรื่องการทำงาน ทั้งเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ทำงานในไร่นา ผู้หญิงจึงมีความสามารถสูง และมีความคิดอ่านเช่นเดียวกับผู้ชายจึงมีความเสมอภาพทัดเทียมกัน ผลัดกันออกหน้า ผลัดกันเป็นผู้นำได้
ตัวอย่างเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ที่ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นว่าคำพังเพยที่เปรียบผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าและผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นคำสอนให้ครอบครัวรู้จักแบ่งภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในอดีตที่ผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงก็เพราะมีกำลังแรงงาน การทำงานในไร่นา หรือการใช้แรงงานจะทำให้ผู้ชายกลายเป็นผู้นำมีพละกำลังควบคุมและมีอำนาจ แต่ปัจจุบันผู้หญิงได้รับการพัฒนาส่งเสริม ทั้งมีโอกาสเรียนรู้ จึงมีความคิด ความรู้และสามารถเป็นผู้นำได้เช่นเดียวกับผู้ชายและสังคมได้เปิดโอกาสทางกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชายผู้หญิงจึงมีความเสมอภาค ขณะเดียวกันผู้หญิงบางคนก็มีความสามารถเป็นผู้นำได้ในสังคม