คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

2 กันยายน 2022
395   0

  1. ความชรา เปรียบเสมือน “การเป็นโรค” หรือ “ความเจ็บป่วย” ที่จริงแล้ว “ความชรา” เป็นกระบวนการทางชีววิทยา และสรีรวิทยาทีผู้สูงอายุทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสภาพร่างกาย จิตใจ และพละกำลัง ในวัยนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างไปจากเดิม จากทัศนะภายนอกอาจมองว่าความชราเปรียบได้กับความเจ็บป่วย หรือการเป็นโรค เพราะคนชรามักจะมีสภาพคล้ายคลึงกับคนที่เจ็บป่วย คือได้รับการยกเว้นจากหน้าที่การงานและต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือ

คณะผู้วิจัยต้องการทราบว่าผู้สูงอายุมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จึงได้ตั้งคำถามว่า  “ท่านคิดว่าความชราเปรียบเสมือนการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยหรือไม่” โดยให้ผู้สูงอายุสะท้อนภาพของ “ความชรา” และ “ความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรค” ตามทัศนะของตัวผู้สูงอายุว่าทั้งสองคำมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความเห็นว่าความชรากับการเป็นโรคไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพียงส่วนน้อยที่มีความเห็นว่าความชราเปรียบเสมือนกับการเป็นโรค  นอกจากนี้บางคนเห็นว่าความชราจะเปรียบเสมือนการเป็นโรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคลดังรายละเอียดต่อไปนี้ ความคิดเห็นขงผู้อายุต่อ “ความชราเปรียบเสมือนความเจ็บป่วย  หรือการเป็นโรคหรือไม่”

  1. ความชราไม่เหมือนกับการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วย
  2. ความชราเปรียบเสมือนกับการเป็นโรค หรือความเจ็บป่วย
  3. ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล

เพื่อที่จะทราบต่อไปว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงคิดว่าความชราเหมือนและไม่เหมือนกับการเป็นโรค โดยความจริงความชราเป็นปรากฏการ เป็นเรื่องของสังขารร่างกายที่มีการเจริญเติบโตและมีความเสื่อมถอย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าความชราไม่ใช่การเป็นโรค ไม่ควรนำมาเปรียบกันเพราะการเป็นโรคสามารถรักษาให้หายได้ ส่วนการเป็นคนชราไม่สามารถจะรักษาด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมได้จำแนกเหตุผลจากการสัมภาษณ์ออกให้เห็นรายละเอียดทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้

6.1 ความชราไม่เหมือนกับการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วย

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมีความเห็นว่า ความชรากับการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน โดยให้เหตุผลสนับสนุนทัศนะดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เหตุผลและความหมายความชราไม่เหมือนกันความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรค

  1. ความชราเป็นเรื่องของสังขารที่ร่วงโรย ไม่ใช่การเป็นโรคหรือความเจ็บป่วย
  2. ความชราไม่ทุกข์ทรมานเท่ากับการเป็นโรค
  3. ความชราไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การเป็นโรคสามารถรักษาให้หายได้
  4. ความชราเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การเป็นโรคเกิดจากเชื้อโรคหรือความบกพร่องของร่างกาย
  5. คนชราลูกหลานไม่ต้องมาดูแลใกล้ชิดมาก

จากการให้ผู้สูงอายุอธิบายเหตุผลที่สนับสนุนแนวความคิดความชราไม่เหมือนกับความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรคพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งตอบว่าความชราเป็นเรื่องของสังขารที่ร่วงโรย  ไม่ใช่การเป็นโรค โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ความชรา หมายถึง คนที่อายุยืน เป็นความแก่ของบุคคลที่อยู่มานาน 70-80 ปี เป็นธรรมชาติของสังขารที่ร่วงโรย เสื่อมลงตาม วัฏจักรชีวิต ความชรา คือ การไม่มีแรง ไม่มีกำลัง หูตาอาจฝ้าฟาง ปวดขา ปวดหลัง ปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่นั่นไม่ใช่การเป็นโรค  คนชราอาจเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคก็ได้ส่วนการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นในวัยใดก็ได้ การที่พบว่าคนชราเจ็บป่วยมากกว่าวัยอื่น  เป็นเพราะสังขารที่เสื่อมลง  ความต้านทานโรคมีน้อยทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย คนชราที่ไม่มีโรคก็อยู่ไปได้เรื่อยๆ แก่ร่วงโรยไปตามวัย  แต่ถ้าชราแล้วเป็นโรคด้วยก็จะเจ็บไข้ลุกไม่ได้ ลำบากมากขึ้น

ผู้สูงอายุได้เปรียบเทียบว่า ความชราไม่ใช่การเป็นโรค แต่ความชราเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ใกล้ตาย หยุดการเจริญเติบโต มีแต่แห้งตายไปตามกาลเวลา เพราะความชราเป็นเรื่องของการมีอายุมาก ร่างกายทำงานได้น้อยลง สุขภาพทรุดโทรม เช่น ฟันหลุด ผมหงอก ความจำไม่ดี  อย่างไรก็ดี  ต้นไม้ที่ใกล้ตายนี้ก็อาจมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ถ้าได้รับการดูแล้อาใจใส่ ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า ความชราไม่ทุกข์ทรมานเท่าความเจ็บป่วย โดยให้เหตุผลคล้ายคลึงกันว่า ความชรา คือ การมีอายุมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายเท่านั้น เช่น ทำอะไรไม่ค่อยไหว ส่วนเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยจะส่งผลกระทบ ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ คนชราจะมีจิตใจดีกว่าคนป่วย ยังพอฟังเทศน์ฟังธรรมได้ ยังอยากกินโน่นกินนี่ คนชราถ้าไม่เจ็บป่วยก็อยู่ไปเรื่อยๆ ได้อย่างสบายใจ ในขณะที่คนไม่สบายหรือเจ็บป่วยจะทุกข์ทรมาน เจ็บตรงโน้นปวดตรงนี้ ไม่มีจิตใจจะคิดทำอะไร ไม่อยากกินอะไร มีความทุกข์ใจ ดังนั้นการเป็นคนชราจึงดีกว่าการเป็นคนป่วย

ผู้สูงอายุบางคนให้เหตุผลว่า ความชราไม่เหมือนกับการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วย เพราะความชราไม่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความเจ็บป่วยสามารถรักษาให้หายได้ โดยอธิบายว่าการเจ็บป่วย  หากได้รับการรักษาหรือกินยาก็หายเป็นปกติได้  แต่ความชราไม่มีการรักษา หรือยาใดที่กินให้หาย จากความชราได้หรือห้ามไม่ไห้ชราได้  ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ผู้สูงอายุรายหนึ่งได้อธิบายในประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า“ความชรา คือ อายุมากจนร่างกายไปไม่ไหว ช่วยตัวเองไม่ได้ตลอดไป ส่วนการเจ็บป่วย คือ การไม่สบาย ไปไหนไม่ไหว ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องการการรักษาหากหายดีแล้วร่างกายจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม”

ผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งได้ให้เหตุผลคล้ายคลึงกัน แต่เน้นไปที่ความชรา คือ ความแก่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องรักษา ส่วนการเป็นโรค คือ ความเจ็บป่วย เป็นสิ่งทีเบี่ยงเบนไปจากความปกติ จำเป็นต้องได้รับการรักษา สำหรับผู้สูงอายุอื่นที่ให้เหตุผลนอกเหนือไปจากนี้ให้เหตุผลในเชิงการดูแลของลูกหลาน โดยเปรียบว่าความชราเปรียบเสมือนเด็กเกิดใหม่ เป็นภาระให้ผู้อื่นต้องดูแล เพราะช่วยเหลือตัวเองได้น้อย บางครั้งหลงลืม และผู้สูงอายุบางราย บอกว่าคนป่วย ลูกหลานต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยป้อนข้าวป้อนน้ำ ถามไถ่อาการ ต้องใช้เงินในการรักษา ส่วนคนชราคือคนแก่ที่ทำงานไม่ไหว ลูกหลานไม่ต้องเอาใจใส่ หรือปรนนิบัติดูแลมาก แค่หาข้าวหาน้ำไว้ให้กินเท่านั้น

6.2 ความชราเปรียบเสมือนการเป็นโรค

ในแนวคิดที่สองนี้  ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงประมาณหนึ่งในสามมีความเห็นว่าความชราเปรียบเสมือนการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยโดยให้เหตุผลสนับสนุนทัศนะดังกล่าวดังต่อไปนี้

ความชราเปรียบเสมือนกับความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรค

  1. ชราแล้วสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยบ่อย
  2. ชราแล้วหมดแรง ทำงานไม่ได้เหมือนตอนไม่สบาย
  3. คนชราต้องใช้ชีวิตคล้ายคนป่วย
  4. ความชรากับความเจ็บป่วยเป็นสิ่งเดียวกัน

จากการให้ผู้สูงอายุอธิบายเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดว่าความชราเปรียบเสมือนความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรคพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ มองในแง่สุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตอบว่าคนชราสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยบ่อย ร่างกายทรุดโทรม จิตใจไม่ดี ท้อแท้ต่อชีวิต อ่อนเพลีย ซึ่งสมัยหนุ่มสาวไม่เป็นเช่นนี้ โรคกับคนชราเป็นของคู่กันดังที่เรียกว่า “โรคชรา” ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ มองว่าความชรา คือ อาการที่มีโรคแทรกแวงระบบการทำงานของร่างกาย หูตาฝ้าฟาง ร่างกายหมดสภาพ ไม่สามารถต้านทานโรคต่างๆ ที่รุมเร้าได้ รู้สึกว่าตนเองอยู่ได้อีกไม่นาน

ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า  ความชราเปรียบเสมือนความเจ็บป่วยหรือการเป็นโรค โดยมองในแง่เรี่ยวแรงและความสามารถในการทำงาน โดยให้เหตุผลว่าคนชรา คือ คนแก่จนทำอะไรไม่ไหว จะมีลักษณะเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ทำอะไรไม่ได้ ไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยลูกหลานเช่นเดียวกับเวลาไม่สบาย  ดังนั้นความชราจึงไม่ต่างอะไรกับความเจ็บป่วย

สำหรับผู้ที่ให้เหตุผลอื่นๆ ต่างไปจากนี้จะมองในด้านการใช้ชีวิต โดยได้ตอบว่าคนชรามักจะป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องไปหาหมอ ต้องกินยาบ่อยๆ บางคนต้องกินวิตามินตลอดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้คนชราจะช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องมีคนช่วยเหลือดูแล หาข้าวหาน้ำให้เหมือนคนป่วยความชราจะเปรียบเสมือนการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล

ผู้สูงอายุบางคนมีความเห็นว่าการจะเปรียบความชราว่าเสมือนการเป็นโรคหรือความเจ็บป่วย  หรือไม่ต้องประเมินจากภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล คนชราสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ก็ไม่เปรียบเสมือนการเป็นโรค แต่ถ้าสุขภาพไม่ดี ป่วยกระเสาะกระแสะ ก็เปรียบเสมือนการเป็นโรค เพราะไปไหนมาไหนไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จะมีสภาพเหมือนกับคนป่วยไข้



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า