คอลัมน์ » เริ่มต้นจากตัวตนชวนทุกคนเป็นคนดี (2)

เริ่มต้นจากตัวตนชวนทุกคนเป็นคนดี (2)

3 สิงหาคม 2022
277   0

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นเนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่คิดถึงแต่ตัวเองอยากรวยง่ายอยากรวยเร็วและอยากรวยมากต่างดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อให้มีทัดเทียมกับคนอื่นในทางวัตถุชอบที่จะทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่คำนึงถึงคนอื่นแม้แต่พ่อแม่พี่น้องของตัวเองเอาความต้องการทางวัตถุของตัวเองเป็นใหญ่จนลืมคิดถึงคุณธรรมความดีงาม

หลายคนเกิดมาโชคดีได้เป็นแพทย์พยาบาลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีโอกาสสร้างคุณค่าให้ชีวิตในการดูแลรักษาคนไข้จากการทำงานหาเลี้ยงชีพทุกวันแต่บางคนละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีกับคนไข้จึงอยากเตือนสติให้ทุกคนคิดถึงความดีงามทางจิตใจที่ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่ากับคนไข้และคนทั่วไปซึ่งจะคงอยู่กับเราตลอดไปข้ามภพข้ามชาติ

เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆอาชีพที่มีหน้าที่บริการประชาชนขณะที่ทำงานหาเลียงชีพอย่าลืมสร้างคุณค่าให้ชีวิตด้วยการทำสิ่งที่ดีงามด้วยหัวใจให้ผู้มารับบริการด้วย

……………………………………………………….

ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์และเป็นผู้บริหารรพ.ผมมีความรู้สึกภูมิใจและมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึงในการทำหน้าที่แพทย์ผมไม่เคยละทิ้งเพิกเฉยละเลยหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนไข้ให้การดูแลรักษาคนไข้เหมือนเป็นคนในครอบครัวเมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดจะหาทางช่วยเหลือทุกวิถีทางและอยู่ร่วมด้วยจนถึงที่สุด

ในฐานะผู้บริหารผมทุ่มเทแรงกายแรงใจพร้อมทำทุกอย่างแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมาเพื่อให้คนไข้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รพ.ทุกคนมีความสุขผมเชื่อว่าที่ทำได้เนื่องจากผมมีศรัทธาในวิชาชีพแพทย์และมีศรัทธาในชีวิตผมอยากให้ทุกคนมีความรู้สึกดีดีเหมือนกับผมเริ่มต้นที่มีใจที่ดีงามก่อนคือมีใจที่ไม่ต้องการเบียดเบียนหรือเอาเปรียบใครและพร้อมให้ความช่วยเหลือคนอื่นดังนั้นมุมขวาล่างของสไลด์ที่ใช้เป็นสื่อในการบรรยายทุกภาพของผมจะต้องมีรูปหัวใจสีแดงที่มีคำว่าดีอยู่ตรงกลางเป็นเอกลักษณ์

จากประสบการณ์ผมพบว่ากายและใจพวกเรามีความสำคัญต่อการทำงานมากเมื่อเริ่มทำงานใจทุกคนจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อช่วยเหลือคนไข้กายแข็งแรงสู้งานหนักงานที่ออกมาเปรียบเป็นลูกศรขนาดใหญ่พุ่งขึ้นเวลาผ่านไป 3-5 ปีกายเริ่มเหนื่อยล้าแต่ใจยังคงมุ่งมั่นมีอุดมการณ์ลูกศรยังคงพุ่งขึ้นแต่ขนาดเล็กลง

เวลาผ่านไปอีก 5-10 ปีกายยังเหนื่อยล้าแต่ใจเริ่มท้อเพราะเปรียบเทียบกับคนอื่นๆทำไมทุ่มเททำงานหนักแต่รู้สึกว่าไม่ได้ดีไม่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าหรือผู้บริหารลูกศรเริ่มขึ้นๆลงๆบางคนบอกว่าทำงานเหมือนผีเข้าผีออกผีเข้าลูกศรพุ่งพรวดผีออกลูกศรลงวูบ

เมื่อเวลาผ่านไปอีก 5-10 ปีกายไม่สู้ใจไม่สู้แล้วลูกศรลงอย่างเดียวส่วนใหญ่รอครบ 25 ปี ได้บำนาญจะลาออกหรือรอเกษียณผมขอให้ทุกคนคิดเองว่าขณะนี้เราอยู่ในกลุ่มใดผมมีหน้าที่มาชวนให้ทุกคนกลับมาอยู่ในกลุ่มแรกเหมือนเมื่อเริ่มทำงานใหม่เพราะอะไรรู้ไหมครับ?

อ.นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีต ผอ.โรงพยาบาลน่าน เคยบอกกับผมว่าพวกเราทำงานอยู่ใน “ธนาคารชีวิต ปกติเราฝากเงินไว้ในธนาคารเพราะเรามั่นใจว่าเขาสามารถดูแลรักษาเงินเราได้แต่นี่เขาเอาชีวิตของเขาหรือของคนที่เขารักที่สุดมาให้เราดูแลเพราะเขามั่นใจว่าเราสามารถดูแลรักษาชีวิตเขาได้จะทำอะไรก็ได้เขาไว้ใจเราถือว่าเป็นเกียรติไหมเป็นเกียรติอย่างที่สุดผมจึงอยากบอกว่าพวกเรานั้นมีบุญที่สุดที่ได้ทำงานในรพ.ซึ่งเปรียบเหมือนธนาคารชีวิตช่วยดูแลรักษาคนไข้ที่กำลังระทมทุกข์จากการเจ็บป่วยนอกจากทำมาหาเลี้ยงชีพแล้วยังได้สร้างบุญกุศลตลอดเวลาจึงเป็นเหตุผลที่อยากให้ทุกคนทำงานเหมือนตอนเริ่มงานใหม่ๆลูกศรตัวชี้วัดพุ่งขึ้นตลอดเวลา

เมื่อผมไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการรพ.น่านที่ซึ่งทำให้ผมตกผลึกคำว่าคนดีคนมีคุณค่าจากการที่ได้เห็นแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานหนักเพื่อดูแลรักษาคนไข้ขณะนั้นรพ.น่านมีขนาด 523 เตียง มีแพทย์ staff 42 คน พยาบาล 407 คน ผมไม่ทราบว่าทำงานกันได้อย่างไร? ที่สำคัญนั้นคนไข้ได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยมมีคนไข้คนหนึ่งเป็นอัมพาตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึงสองปีแต่ไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้นเลยทั้งๆที่ไม่มีพยาบาลพิเศษแสดงถึงการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีผมเชื่อว่าทุกคนทำงานด้วยหัวใจอย่างแท้จริง

ผมจึงเริ่มเขียนบทความ Humanized Health Care” ซึ่งหมอพัชรีแปลว่า “การดูแลคนไข้ด้วยหัวใจบนพื้นฐานความรู้ เดือนละตอนเพื่อพิมพ์ในวารสารรพ.น่าน  โดยเขียนจากประสบการณ์ตรงในชีวิตความเป็นแพทย์

เริ่มต้นตอนแรกชื่อตอนว่า “แล้วแต่หมอ เพราะมีแพทย์รุ่นน้องถามผมว่าทำไมคนไข้มักบอกว่า “แล้วแต่หมอ เมื่อถามความเห็นในการเลือกวิธีรักษาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรผมตอบไปว่าที่คนไข้พูดเช่นนั้นเพราะเห็นว่าเราเรียนแพทย์จึงน่าจะมีความรู้ดีที่สุดน้องถามต่อว่าแล้วเราควรทำอย่างไร? ผมก็บอกว่าผมมองคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าผมว่าถ้าเป็นแม่ผมน้องสาวผมผมจะดูแลรักษาอย่างไรผมก็จะรักษาคนไข้เช่นเดียวกันจึงไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากหรือลำบากใจสำหรับหมอในการรักษาคนไข้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับพวกเราในการทำงานต่อไปอย่างมีความสุข

ผมได้ชี้ให้พวกเราทุกคนได้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นทุกวันคนไข้มารพ.เพื่อรอรับการตรวจรักษาทุกวันตั้งแต่เช้ามืดบางคนออกจากบ้านมาตั้งแต่ ตี 4 ตี 5 ผมใช้คำว่าบุญที่มองเห็นมาหาเราทุกวันแต่เราไม่สนใจมัวแต่ไปหาบุญที่มองไม่เห็นที่อื่น

แม่ชีเทเรซ่าเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเรายังรักคนที่เรามองเห็นไม่ได้จะไปรักพระเจ้าที่มองไม่เห็นได้อย่างไร ผมต้องการที่จะสะกิดให้พวกเราได้เห็นว่าคนไข้เขาลำบากแค่ไหนในการมาหาเราเพื่อให้เราช่วยดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยถ้าเราทำด้วยความมีเมตตากรุณาจะเกิดบุญกุศลขึ้นมากมายเพียงใดแต่ทุกวันนี้เราไล่บุญออกไปทุกวันโดยไม่รู้ตัวคนไข้มากก็บ่นทำท่าทีเบื่อหน่ายพูดจาไม่เหมาะสมถ้าเราเป็นคนไข้เราจะคิดอย่างไร? อุตส่าห์เดินทางมาไกลด้วยความลำบากเพื่อให้พวกเราช่วยเหลือ

ผมเห็นพวกเราหลายคนในวันหยุดเดินทางไปไกลเพื่อทำบุญตามสถานที่ต่างๆละเลยบุญที่มาหาเราอยู่ทุกๆวันผมจำได้ว่าทุกวันพฤหัสที่รพ.น่านจะมีคนมาตัดผมให้คนไข้เป็นประจำทำให้คนไข้สดชื่นขึ้นตัดให้คนไข้เสร็จก็ตัดให้ญาติและเจ้าหน้าที่ด้วยและบ่อยครั้งที่มีคนจากภายนอกเข้ามาแสดงละครย่อยหรือร้องเพลงให้คนไข้ฟังเพื่อให้คนไข้มีความสุขผมบอกทุกคนได้เลยครับว่าเขาเหล่านั้นล้วนแต่มาเอาบุญในรพ.ของเราบุญมีอยู่ทุกหนแห่งในทุกรพ.เพียงแต่ว่าใครจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น

มีหลายคนถามผมว่าทำไมถึงยังทำงานภาครัฐทั้งๆที่งานหนักคนไข้มากมายแน่นไปหมดความสะดวกสบายก็น้อยแอร์ก็ไม่มีหรือมีก็ไม่เย็นเพราะคนไข้มากรายได้ค่าตอบแทน(ปัจจุบันดีกว่าในอดีตมาก)ก็น้อยเมื่อเทียบกับภาคเอกชนผมยังจำได้ว่าเมื่อ 30 ปีก่อน อาจารย์ท่านหนึ่งเคยชวนไปอยู่ รพ.เอกชน ที่กรุงเทพ รับรองรายได้ขั้นต่ำ 200,000 บาท ขณะนั้นผมได้เงินเดือน 7,500 บาท รวมค่าเวรอีกราว 2,500 บาท รวมได้เดือนละหมื่นบาทแตกต่างกันถึง 20 เท่า

ที่แตกต่างกันมากคือที่รพ.เอกชนตรวจรักษาคนไข้วันละไม่เกิน 20 คน ผมอยู่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ตรวจคนไข้วันนึงเป็นร้อยผมรู้สึกว่าคุ้มกับที่เรียนมานานร่วม 10 ปีกว่าจะเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ผมบอกกับทุกคนที่ทำงานในนพ.รัฐว่า ต้องไม่มองว่าการดูแลรักษาคนไข้เป็นภาระให้มองว่ามันคือความสุข เราจึงจะทำงานอย่างมีความสุขคนไข้ก็มีความสุขที่เห็นรอยยิ้มของพวกเราที่สำคัญนั้นงานที่เราทำคือการช่วยชีวิตคนยิ่งทำมากก็ยิ่งมีคุณค่ามากนี่แหละคือความแตกต่างระหว่างภาครัฐกับเอกชน “คุณค่าของชีวิต ที่ต่างกัน

ขอบคุณที่เป็นคนดี

นพ.พิษณุ ขันติพงษ์



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า