การวางความเห็นให้ถูกต้องเพื่อการพ้นไปจาการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น คือการเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้จริง ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในสังสารวัฏนี้จริง คำสอนของพระองค์สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ของการเวียนตายเวียนเกิดได้จริง การเวียนว่ายตายเกิดไปในภพภูมิต่างๆ 31 ภพภูมินั้นเป็นไปได้จริง และการปฏิบัติตามคำสอนในอริยมรรคหรือมรรคมีองค์ 8 ของพระองค์แล้วสามารถพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารไปสู่ความเป็นนิพพานคือไม่ต้องตายไม่ต้องเกิดอีกต่อไปได้จริง
ในคำสอนเรื่องนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงค้นพบว่า สัตตานัง คือผู้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น ไม่ได้มีอยู่แค่ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น แต่ในวัฏสงสารนี้ยังมีภพภูมิต่างมิติไปอีกหลายภพภูมิ เรียกว่าทาง 7 สาย คือเป็นอบายภูมิ 4 ภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกายและเดรัจฉาน ภูมิทั้ง 4 นี้เป็นที่เสวยทุกข์ล้วนๆเพราะผลของกรรมที่ทำไม่ดีของสัตว์ที่เรียกว่ามนุษย์ ส่วนภูมิที่เสวยผลของกรรมดีเรียกว่าฉกามาพจรสวรรค์ มี 6 ภูมิตามกำลังความดีที่ทำ ที่นี่เสวยสุขล้วนๆ สำหรับผู้ประพฤติธรรมเข้าถึงฌานในระดับต่างๆล้วนเข้าถึงสุขที่เรียกว่ารูปภพคือเป็นรูปพรหมมี 16 ภูมิ และอรูปภูมิอีก 4 ส่วนอีกหนึ่งภูมิคือมนุษยภูมิที่นี่ถือเป็นภพกลางเป็นทั้งที่พักและที่จะไปสู่ความพ้นไปจากวัฏสงสารนี้ได้ เป็นภูมิที่เสวยผลเศษของกรรมหลังจากที่ไปเสวยผลของกรรมในสุขคติภูมิคือสวรรค์และเสวยผลของกรรมในทุคติภูมิคืออบายภูมิแล้วจึงมาเกิดในภูมินี้จึงได้ทั้งสุขและทุกข์ปนกันไปแล้วสร้างกรรมใหม่ต่อไป หรือเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้รับคำสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามจนจิตบริสุทธิ์พ้นจากมลทินทั้งปวง ปล่อยวางซึ่งการหลงยึดในการเกิดได้แล้วก็เข้าสู่ทางสายที่ 7 คือนิพพาน ไม่ต้องกลับมาเวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป
กัมมัง สัตเต วิภัชชติ กรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ทรงสอนว่ากรรมคือการกระทำทุกการกระทำไม่ว่าดีหรือกุศลกรรม ชั่วหรืออกุศลกรรม หรือไม่ทั้งดีและชั่วคืออัพยากฤต ล้วนมีผลเป็นวิบาก คือต้องรับผลของกรรมนั้นๆ ดังนั้น คำว่ากรรมจึงเป็นคำกลางๆไม่ใช่แค่ดีหรือชั่วแต่อย่างใดอย่างเดียว วิบากก็ไม่ใช่แค่เสวยผลทุกข์อย่างเดียว กัมมัง สัตเต วิภัชชติ กรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์จึงเป็นตัวส่งให้คนและสัตว์ไปชดใช้ผลของกรรมให้ไปสู่ทางเดินทั้ง 6 สาย ให้ต่างเวียนตาย เวียนเกิดไปตามผลของกรรมคือทำดีก็ไปเสวยผลของความดีในสุคติภูมิ ทำชั่วผิดศีลผิดธรรมก็ไปเสวยผลของความชั่วในทุคติภูมิ จนกว่าจะสามารถปฏิบัติขัดเกลาจิตจนหมดจดปราศจากอาสวะทั้งหลายจึงสามารถพ้นจากทางเดินทั้ง 6 สายของวัฏสงสารนี้ไปสู่ทางสายที่ 7 ซึ่งพ้นไปจากวังวนของกรรมในวัฏสงสารได้ คือนิพพาน นิพพานจึงเป็นสภาวะพิเศษที่เรียกว่าเหนือโลกคือมีสภาวะเป็นโลกุตตระแปลว่าพ้นไปจากโลกหรือโลกียะนั่นเอง โลกหรือโลกียะหรือโลกีย์ตึงหมายถึงหนทางเดินของเหล่าสัตว์ทั้ง 31 ภพภูมินั่นเอง ในทางธรรมท่านจึงจำแนกหนทางออกเป็น 2 ทาง คือโลกุตระและโลกียะหรือโลกีย์นั่นเอง
กัมมัง สัตเต วิภัชชติ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมที่จำแนกสัตว์ให้ไปเกิดตามภพภูมิต่างๆแล้ว แม้ในภูมิมนุษย์เอง กรรมก็ยังตามมาจำแนกให้ต้องเสวยผลของกรรมต่างๆกันไปด้วย ภพภูมิที่ได้กายอันหยาบและอยู่ในมิติเดียวกันคือภูมิของมนุษย์และเดรัจฉาน ภพคือภาวะที่เป็น ภูมิคือที่อยู่ มนุษย์และเดรัจฉานคือภพภูมิที่เสวยเศษของกรรมที่เราเห็นได้ ล้วนรับทุกข์และสุขให้เห็นอยู่เนืองนอง คนก็รับทุกข์อย่างคน เดรัจฉานก็รับทุกข์อย่างเดรัจฉาน คนบางคนเสวยผลของการให้ทานไว้ก็อยู่ดีมีทรัพย์มาก คนบางคนเสวยผลของการละเมิดศีลก็รับผลของศีลที่ตนละเมิดไป แม้สัตว์เดรัจฉานเองก็ไม่ต่างบางตัวอยู่สุขสบายเพราะเคยทำกุศลทานไว้ แต่สัตว์บางตัวทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสเพราะขาดผลของกุศลทานนั่นเอง กรรมยังจำแนกสัตว์ให้ได้รูปกายอันสวยงาม อันขี้เหร่ สูงหรือต่ำ ดำหรือขาวและยังจำแนกให้ไปเกิดในเขตที่เจริญหรือกันดาร ร่ำรวยหรือยากจนล้วนมาจากผลของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วตามมาส่งผลทั้งสิ้น
ในเรื่องผลของกรรมและหนทางเดินที่เรียกว่าคตินี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคือสอนไว้เป็นอเนกปริยายในอนุปุพพิกถา สำหรับอนุปุพพิกถานี้ทรงแสดงตั้งแต่เริ่มเผยแพร่คำสอนเป็นต้นมา ที่กล่าวถึงชัดเจนก็คือตอนที่ทรงสอนพระยสกุลบุตรและบิดาจนพระยศกุลบุตรสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสาวกและบิดาท่านสามารถเข้าความเป็นพระโสดาบัน และเบื้องปลายเมื่อพระองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานก็จะทรงเน้นสอนแต่อนุปุพพิกถาทั้งสิ้น แต่หากใครมีวิสัยจะบรรลุธรรมพระองค์จึงทรงต่ออริยสัจให้
หากเราผู้เห็นภัยของการที่ต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ของวัฏสงสารจนไม่ปรารถนาจะมาวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป จึงน้อมนำเอาคำสอนในอริยมรรค คือมรรค 8 มาปฏิบัติตามมรรคคือหนทาง มรรค 8 จึงเป็นทางเดินเพื่อเข้าถึงความพ้นไปจากวัฏสงสารนี้ มีองค์ 8 ทรงเรียกมันว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางในการปฏิบัติ ที่ไม่ต้องปฏิบัติให้ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป สัมมาทิฏฐิ ซึ่งทรงวางไว้เป็นข้อแรกของอริยมรรคนี้ เพราะหากวางความเห็นไว้ผิดทางเดินที่จะไปถึงปลายย่อมผิดไปด้วย ดังนั้น ข้อปฏิบัติแรกที่กล่าวมาจึงเริ่มที่วางศรัทธาในคำสอนก่อน ข้อที่กล่าวมานี้จึงเป็นการล้างอัตตาของตัวเองแล้วเชื่อตามว่ากรรมและผลของกรรมนี้มีจริง หนทางเดิน 7 สายนี้มีจริง ก็จะล้างความสงสัยหรือวิจิกิจฉาซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องต้นได้ แล้วการปฏิบัติตามองค์ของมรรค 8 ได้อย่างราบรื่นต่อไปได้ง่ายขึ้นและไม่ผิดทางนั่นเอง