คอลัมน์ » สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถาม (ต่อ 2)

สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถาม (ต่อ 2)

3 พฤศจิกายน 2021
685   0

5.2.8     สร้างสมุนรับใช้ทางการเมือง

พ่อค้านักธุรกิจและนายทุนที่ไม่ทำร้ายหรือกลั่นแกล้งข้าราชการ จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุน ผูกมิตร โดยใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือดึงข้าราชการมาเป็นพวกเสมือนสมุนรับใช้ข้าราชการที่หวังความก้าวหน้าของตนจะเข้ามาสวามิภักดิ์ ยอมรับนักการเมืองเป็นพ่อทูนหัวเอาใจและทุ่มเทให้ทุกอย่าง ทำให้สถาบันข้าราชการถูกก้าวก่ายเกินขอบเขตที่ควรเน้นงานด้านนโยบายแต่ครอบคลุมไปถึงระบบการบริหารของข้าราชการประจำส่วนล่าง การกระทำดังกล่าวจะทำให้ระบบการทำงานของข้าราชการแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลถึงการดึงงบประมาณไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะนักการเมืองจะใช้เงินไม่ได้แต่อาศัยมิตรภาพที่มอบให้แก่ข้าราชการดำเนินการแทน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลโครงการขนาดเล็กและใหญ่ ในที่สุดจะเกิดการประสานประโยชน์ร่วมกันในหมู่ของนักการเมืองและข้าราชการ

5.2.9     ใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อสร้างเกียรติและอำนาจ

พ่อค้านักธุรกิจและนายทุน เมื่อเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาแล้วบางกลุ่มจะประนีประนอมมากกว่าจะหักล้างเพื่อเอาชนะให้เด็ดขาดซึ่งอาจจะเป็นผลเสีย คือ ไม่มีใครได้ผลประโยชน์เลย แต่ถ้าหากร่วมมือกันก็จะสามารถแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโควต้า แบ่งเขต กรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่แบ่งปันมีผลประโยชน์เท่าเทียมกัน จึงเป็นการประสานผลประโยชน์และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจขึ้นมาใหม่ เช่น ธุรกิจคมนาคมธุรกิจการเงินการธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปคือสัมพันธ์ภาพระหว่างพ่อค้า นักธุรกิจ และนายทุน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ต้นเป็นไปตามตัวกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนสภาพแวดล้อม ความพร้อมของประชาชนอันเป็นปัจจัยภายในที่ต้องยอมรับว่า ความผันผวนทางการเมืองที่ผ่านมาแต่ละยุคมีเหตุผลสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แม้ลักษณะและรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองของสังคมไทยมีส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยและวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเอง แต่ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศต่างๆ หลายประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน ที่ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานให้ตรงกันว่า “ประชาธิปไตย” “นักการเมือง” คืออะไร และมีความหมายอย่างไร แม้ว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่อาจจะป้องกันและสร้างกรอบให้เกิดความตระหนักต่อไปได้ว่าต้องการให้ทิศทางการเมืองการปกครองของไทยเป็นไปในรูปแบบใด จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นักการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่นเดียวกับประชาชนเจ้าของประเทศจำนวนมากที่สนใจการเมืองและจับตาดูผู้ที่มี “โอกาส” ได้เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรว่ากำลังทำอะไรอยู่ แม้ว่าจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ภายนอก แต่ก็เป็นพลังประชาชนที่สามารถรวมตัวกันได้ยามคับขันที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้ที่มีอำนาจ และใช้ประเทศชาติเป็นเวทีของการห้ำหั่นทางความคิดและผลประโยชน์

พ่อค้าและนักธุรกิจที่เข้ามาสู่ระบบรัฐสภามิใช่เป็นสิ่งเลวร้าย บุคคลที่มีอาชีพทางด้านธุรกิจการค้าย่อมได้เปรียบที่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งเพื่อหาเสียงให้ประชาชนทราบว่าตนจะอุทิศเวลา กำลังกาย กำลังใจ พัฒนาท้องถิ่นและเข้าไปสู่ระบบรัฐสภาในฐานะผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนในแง่การออกกฎหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด สำหรับพ่อค้านักธุรกิจที่มีทุนน้อย รวมทั้งนักการเมืองมืออาชีพ ได้พยายามในการหาเสียงและเข้าถึงประชาชน แต่สงครามการแย่งชิงประชาชนมิได้ขึ้นอยู่ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีแนวนโยบายทางการเมืองอย่างไร ความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองเป็นเหตุทำให้ประชาชนสับสนเพราะผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีจุดยืนของตนเอง มีการย้ายพรรค กันแทบทุกสมัยการเลือกตั้ง จึงไม่มีความมั่นใจว่านักการเมืองที่ตนเลือกคราวก่อนจะยังคงมีแนวคิดทางการเมืองเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ นักการเมืองบางคนเปลี่ยนขั้วจากแนวคิดแบบสังคมนิยมไปเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมหรือเสรีทุนนิยมได้โดยง่าย

พ่อค้าและนักธุรกิจที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้อุทิศตนให้แก่ประเทศชาติ โดยอาศัยความรู้ความสามารถจากอาชีพธุรกิจของตนช่วยเสริมสร้างรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงจนทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีกำลังส่งออกและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง พร้อมๆ กับการพัฒนาด้านการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย ค่อนข้างสมบูรณ์ในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การหลั่งไหลของกลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลผลักดันการค้าเสรีทำให้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมคือการส่งออกพืชผลการเกษตรลดน้อยลง ปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นคือสัญญาณอันตรายที่สำคัญ ที่ปรากฏในช่วงเวลาเดียวกันคือธุรกิจการเงินการธนาคาร อันเป็นต้นเหตุที่สำคัญของภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ยอมรับกันว่าเป็น “เศรษฐกิจฟองสบู่” จนส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอยู่ในขณะนี้

เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วจะเห็นว่า ระบบทุนนิยมมีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาธิปไตยเบ่งบานพร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระบวนการทางการเมืองในระบบรัฐสภาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง  โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร มาจากไหน หรือมีประวัติและเบื้องหลังอย่างไร ดังนั้นผู้ที่มี “เงินทุน” เพื่อการแข่งขันมากก็ย่อมมีโอกาสชนะคู่แข่งและเข้ามาสู่ระบบรัฐสภามากขึ้น จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพล แม้กระทั่งเจ้าพ่อสามารถเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาได้โดยไม่ยาก นักการเมืองรุ่นใหม่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ระบบ รัฐสภาพร้อมกับอำนาจเงิน ที่นำมาเป็นเครื่องมือและทุนในการสร้างเครือข่ายกับบุคคลที่มีอำนาจทางการเมือง ขณะที่ผู้มีอาชีพเป็นนักการเมืองหรือนักการเมืองประเภททุนน้อยค่อยๆ ถดถอย และหลุดพ้นไปจากกระบวนการทางรัฐสภา เพราะไม่อาจจะต้านกระแสเงินตราที่เริ่มมีการลงทุนทุกรูปแบบตั้งแต่วินาทีแรกเมื่อวันเลือกตั้ง เหตุผลที่กลุ่มผลประโยชน์ ทุนกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น และทุนกลุ่มนอกกฎหมายได้ให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือให้การสนับสนุนแก่พรรคการเมืองทั้งด้านกำลังเงิน กำลังคน และอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เพราะมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับเลือกตั้ง อิทธิพลของเจ้าพ่อท้องถิ่นที่ลงทุนไปในการเลือกตั้งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับมา เช่น เพิ่มศักยภาพของความสัมพันธ์กับกลุ่มนักการเมือง ตลอดจนข้าราชการระดับสูงทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เป็นการยกฐานะทางสังคมให้สูงขึ้น และยังเอื้ออำนวยให้มีโอกาสใช้กลไกของรัฐขยายธุรกิจและปกป้องผลประโยชน์ของตนรวมทั้งสิ่งที่ถูกหรือผิดกฎหมาย

 

  1. พ่อค้าและนักธุรกิจกับระบบรัฐสภาไทย: จุดอ่อนและจุดแข็ง

ในสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของสังคมไทยปัจจุบันมีความผูกพันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคข้อมูลข่าวสารและระบบทุนนิยมโลก ระบบการพึ่งพาเพื่อการอยู่รอดมิใช่เป็นเรื่องของบุคคลต่อบุคคลเท่านั้น แต่ขยายออกไปในระดับชุมชน สังคม ประเทศ และกลุ่มประเทศ แนวทางหนึ่งที่จะสามารถนำประเทศชาติให้ทัดเทียมกับประเทศต่างๆ ได้ จำเป็นต้องอาศัยการสร้างพลังทางเศรษฐกิจขึ้นมาเพื่อใช้เป็น “อำนาจ” เพื่อต่อรองการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้พ่อค้าและนักธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นพลังในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การขยายตัวของระบบการค้าและธุรกิจ จำเป็นต้องมีการลงทุนและมีรากฐานที่ใหญ่ขึ้น เพื่อความมั่นคงและความมั่นใจในการลงทุน พ่อค้าและนักธุรกิจได้สร้างสัมพันธภาพร่วมกับผู้นำทางการเมืองการปกครองมาโดยตลอดทั้งช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือพ่อค้าและนักธุรกิจได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภามากขึ้นจากการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในวุฒิสภา การเข้ามาดำรงตำแหน่งในระบบรัฐสภานี้สามารถวิเคราะห์ให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็ง ได้ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งของพ่อค้าและนักธุรกิจกับระบบรัฐสภา

จุดอ่อน

จุดแข็ง

·  พ่อค้าและนักธุรกิจที่มีอำนาจนอกระบบสภาสามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจ(การเงิน) ครอบงำนักการเมือง และร่วมมือกับนักการเมืองที่มีรากฐานเป็นพ่อค้าและนักธุรกิจในการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติ

·    พ่อค้าและนักธุรกิจมิได้มีเครือข่ายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น การร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติจะทำให้ฐานะทางการเงินของพ่อค้าและนักธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้นถ้ามีการทุ่มทุนให้แก่พรรคการเมืองในการแข่งขันเลือกตั้งจะเป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย

·    การให้การสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการบริจาคเงินโดยเจตนาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจจะส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นพฤติกรรมที่พ่อค้าและนักธุรกิจต้องการซึ่งนักการเมืองหรืออาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจครอบงำระบบการเมือง

·  หากการประสานประโยชน์ระหว่างพ่อค้าและนักธุรกิจกับระบบรัฐสภาเป็นไปเพื่อพรรคพวกและกลุ่มผลประโยชน์ จะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ประชาชน และสังคม

·    พ่อค้าและนักธุรกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการประมูลสัมปทานของรัฐด้านสาธารณูปโภค หากเข้ามาบริหารประเทศอาจให้คุณให้โทษได้ เช่น โรงเหล้า วิทยุ การคมนาคม ฯลฯ พ่อค้าและนักธุรกิจจึงกล้าลงทุนทั้งการใช้เงินหรือสนับสนุนกลุ่มนักการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และขณะเดียวกันกับการป้องกันผลประโยชน์ธุรกิจของตนด้วย

·    การมีตำแหน่งในระบบรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิก ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติและได้รับการยกย่องจากสังคม  แต่อาจถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มี “อำนาจ” อันเนื่องมาจากตำแหน่ง ถ้าพ่อค้าและนักธุรกิจได้รับเลือก หรือได้รับการแต่งตั้งเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาแต่มีความประพฤติมิชอบตามหลักคุณธรรมและกฎหมายแล้วจะนำความเสื่อมเสียมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

·  งบประมาณแผ่นดินที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้งไม่พอเพียงที่จะรณรงค์ให้ประชา-ชนได้ทราบผลเสียหายจากการซื้อสิทธิขายเสียงจึงเปิดโอกาสให้ผู้หวังคะแนนเสียงทุ่มเงินแจกเงินในการเลือกตั้ง

·    ถ้าพรรคการเมืองใดตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักธุรกิจ พรรคการเมืองนั้นก็จะสูญสิ้นอุดมการณ์ของพรรค ขณะเดียวกันการเพิ่มทุนอาจสูงขึ้นจนพรรคต้องโอนอ่อนและในที่สุดจะกลายเป็นพรรคของนักธุรกิจ โดยใช้เงินจากการทำธุรกิจข้ามชาติ และใช้ระบบการเมืองดำเนินเศรษฐกิจระดับนานาชาติและระดับโลก

·    ระบบธุรกิจภายใต้อำนาจการบริหารงานของพ่อค้าและนักธุรกิจ  จะเป็นอันตรายหากปล่อยให้ธุรกิจเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศเพียงอย่างเดียว  เพราะผู้ประกอบการค้าย่อมหวังผลกำไรมากกว่าที่จะหวังให้เกิดความเป็นธรรม ประชาชนและผู้ยากไร้จะกลายเป็นเหยื่อของระบบการเมืองที่มีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น

·    พ่อค้าและนักธุรกิจเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและการเมืองในยุคปัจจุบัน เพราะรากฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจคือรากฐานมั่นคงทางสังคม พ่อค้าและนักธุรกิจที่เข้าไปมีบทบาทในระบบรัฐสภาจะช่วยให้การบริหารประเทศก้าวหน้าเชิงการแข่งขันกับนานาประเทศได้

·    การที่พ่อค้าและนักธุรกิจให้การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย ประชาชน รวมทั้งพ่อค้าและนักธุรกิจได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

·    ในอดีตธุรกิจการค้าพึ่งพาระบบการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรัฐบาลเผด็จการทหาร ปัจจุบันพ่อค้าและนักธุรกิจมีรากฐานมั่นคง มีเครือข่ายกับต่างประเทศไม่ต้องพึ่งพาระบบการเมือง

·    พ่อค้าและนักธุรกิจที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ เมื่อมีโอกาสเข้ามาสู่ระบบรัฐสภา จะช่วยให้การพัฒนาประเทศเดินไปถูกทิศทางตามกระแสหลักของการพัฒนาประเทศ  โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นความชอบธรรมที่ผู้นำธุรกิจควรเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาภายใต้กรอบการพัฒนาตามกระแสทุนนิยมโลกที่ภาคธุรกิจจะต้องเดินเคียงคู่กับกระแสทางการเมืองในลักษณะที่มีดุลยภาพเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน

·    พ่อค้าและนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในทางธุรกิจและต้องการอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองจะช่วยทำให้การเมืองมีความก้าวหน้า  เพราะไม่ต้องมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจากอำนาจทางการเมือง

·    การเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาของกลุ่มนักธุรกิจ ทำให้ภาพพจน์ของนักการเมืองดีขึ้น เพราะคุณสมบัติของสมาชิกในรัฐสภาจะต้องมีความหลากหลายอาชีพ พ่อค้าและนักธุรกิจในปัจจุบันเป็นชนชั้นผู้นำ มีการศึกษาและมีประสบการณ์สูงจึงไม่ยิ่งหย่อนไปจากนักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการ และอื่นๆ

·    นักการเมืองที่มาจากพ่อค้าและธุรกิจรุ่นใหม่เป็นผู้ที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลจะนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้มากกว่านักการเมืองที่มีเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองรุ่นเก่าๆ

·    ระบบธุรกิจเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ระบบทุนนิยมโลก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีระบบความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง ผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางเศรษฐกิจจะต้องมีจุดยืนร่วมกันโดยใช้ “การอยู่รอดของชาติ” เป็นเดิมพัน ดุลยภาพและการตรวจสอบโดยระบบรัฐสภาสามารถควบคุมฝ่ายบริหารที่อาจเอนเอียงไปอยู่ฝ่ายพ่อค้าและนักธุรกิจที่หวังประโยชน์จากแผ่นดินเพียงอย่างเดียว

 

 

 



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า