คอลัมน์ » “กว่าจะมาเป็น…แพทย์” (ตอนที่1)

“กว่าจะมาเป็น…แพทย์” (ตอนที่1)

2 ธันวาคม 2020
1456   0

ในยุคสังคมทุนนิยม วัตถุนิยม อาชีพแพทย์ได้รับผลกระทบตั้งแต่ความศรัทธา ความเชื่อมั่นที่มีต่อแพทย์ลดน้อยลง ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่ากว่าที่จะเป็นแพทย์ได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมาย หวังว่าแพทย์และคนที่อยากเรียนแพทย์ได้ช่วยกันรักษาคุณค่าของวิชาชีพนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

บ่อยครั้งที่แพทย์รุ่นใหม่ซึ่งอายุรุ่นลูกหรือหลานถามผมว่าสมัยที่ผมเรียนแพทย์เรียนกันอย่างไง? และเมื่อจบแล้วทำงานกันอย่างไร?

ทำให้ผมคิดถึงสมัยที่เรียนแพทย์ในอดีต ผมเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี2515 ขณะนั้นเราใช้เวลาเรียนในคณะแพทยศาสตร์6ปีเต็มโดยเรียนเตรียมแพทย์ (premed.) 2ปี (ปี1, 2) ทางฝั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ ฟิสิคส์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ เรียนร่วมกับคณะต่างๆทั้งทันตแพทย์ เภสัช พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ การสอบวัดผลใช้วิธีตัดเกรดรวมกันทั้งชั้น จึงเห็นรุ่นพี่ๆจากคณะอื่นเช่นเกษตรศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯมาลงเรียนด้วยเพราะยังสอบไม่ผ่านเนื่องจากตัดเกรดเดียวกันกับแพทย์ พวกเราหลายคนรวมทั้งผมในเวลานั้นรู้สึกเบื่อไม่ตั้งใจเรียนเพราะคิดว่าบางวิชาไม่น่าเกี่ยวกับการเรียนแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามนักศึกษาแพทย์สอบผ่านเกือบทั้งหมด

จากนั้นข้ามฟากมาเรียนที่คณะแพทย์ (ฝั่งสวนดอก) เรียนพรีคลินิก (preclinic) 2ปี (ปี3, 4) เพื่อเป็นพื้นฐานก่อนขึ้นเรียนปฏิบัติจริงกับคนไข้ ได้แก่กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี สรีรวิทยา พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ปาราสิตวิทยา แม้ว่าจะเริ่มเกี่ยวกับการเรียนแพทย์แต่ก็ยังรู้สึกเบื่อเพราะไม่ได้เจอคนไข้

2 ปีนี้พวกเราตัดเกรดกันเอง ทำให้หลายคนต้องซ้ำชั้นหรือถูกรีไทร์ เนื่องจากสอบไม่ผ่านโดยเฉพาะวิชาชีวเคมีและกายวิภาค เป็นวิชา8หน่วยกิต ถ้าติดDก็ลำบากแล้ว ต้องสอบผ่านทุกวิชาและเกรดไม่ต่ำกว่า2 จึงจะสามารถเรียนต่อได้ จากนั้นเรียนวิชาคลินิก (clinic) อีก2ปี (ปี5, 6) ซึ่งต้องขึ้นวอร์ด (หอผู้ป่วย) เรียนกับคนไข้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทุกคนมีความกระตือรือร้นมากเพราะได้ดูแลรักษาคนไข้ เริ่มรู้สึกว่าได้เรียนแพทย์จริงๆสักที มีการแบ่งกลุ่มขึ้นวอร์ดตามภาควิชาต่างๆเช่นอายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรม กุมารเวชกรรม ตา หูคอจมูกนาสิก จิตเวช ศัลยกรรมกระดูก วิสัญญี เวชศาสตร์ชุมชน บางภาควิชาเช่นศัลยกรรมเราต้องเริ่มขึ้นวอร์ดตั้งแต่เช้าเพราะอาจารย์เริ่มสอน7โมงเช้า (มอร์นิ่งราวน์) ช่วงฤดูหนาวเจ้าหน้าที่หอพักต้องประกาศเสียงตามสายว่าอาจารย์มารอที่วอร์ดแล้ว นักศึกษาแพทย์ต้องรีบลุกจากที่นอนและวิ่งไปหอผู้ป่วยทันที บางภาควิชาเช่นอายุรกรรมพวกเราที่อยู่เวรถูกปลุกตั้งแต่ตี5เพื่อเจาะเลือดคนไข้ สมัยนั้นแสงไฟก็สลัวๆ บางครั้งต้องขอโทษคนไข้ที่ถูกเจาะหลายครั้ง ลุ้นกันทั้งหมอทั้งคนไข้ ยังจำได้ว่าคนไข้บางคนให้กำลังใจตลอด ทำให้เรามีความเข้าใจ เห็นใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ที่ต้องรับผิดชอบงานมากมายแม้ในยามที่คนอื่นหลับพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ คนงาน จำได้ว่าพวกเราทุกคนถูกเคี่ยวเข็ญกันอย่างมาก เพื่อให้มีความรู้ก่อนที่จะไปรักษาคนไข้จริง หลายคนถูกรีไทร์ให้ออกเนื่องจากผลการเรียนไม่ดี หลายคนจบช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นหลายปีเพราะต้องเรียนซ่อมวิชาที่สอบไม่ผ่าน

นอกจากนี้ยังมีขบวนการเรียนรู้ที่จะต้องปฏิบัติกับตัวเองก่อนเช่นให้เพื่อนเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อตรวจหาความเข้มข้นของเลือด และผลัดกันเจาะเลือดจากหลอดเลือดที่ข้อพับแขน และที่ทรมานที่สุดก็คือให้กลืนสายยางทางปากเข้าไปในกระเพาะอาหาร หลายคนกลืนแล้วอาเจียนแต่ต้องฝึกทำให้ได้เพราะมีการสอบ ต้องกลืนต่อหน้าอาจารย์ด้วย ทั้งนี้จุดประสงค์เพื่อให้รู้ว่าคนไข้รู้สึกอย่างไรเมื่อเราสั่งการรักษา จะได้เข้าใจถึงความยากลำบากที่คนไข้ต้องเผชิญเช่นกัน

นอกจากเรื่องเรียนแล้วอาจารย์ยังเข้มงวดกับพวกเรามากเกี่ยวกับมารยาท การแต่งกาย การคำนึงถึงสิทธิของคนไข้ พวกเราจะใส่เสื้อปล่อยลอยชายหรือใส่รองเท้าแตะขึ้นวอร์ดไม่ได้อย่างเด็ดขาด เรื่องความประพฤติก็เช่นกันพวกเราถูกห้ามไม่ให้ส่งเสียงดัง เดินต้องสง่างามภูมิฐาน ไม่พูดเรื่องของคนไข้ในพื้นที่สาธารณะ จะเดินถือแก้วกาแฟดูดกินเหมือนปัจจุบันไม่ได้อย่างเด็ดขาด แต่พวกเราไม่รู้สึกอึดอัดหรือไม่พอใจในการเข้มงวดนี้เพราะได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากอาจารย์และรุ่นพี่ๆมาตลอด จึงค่อยๆซึมซับความดีงามเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว

ผมรู้สึกว่าเรามีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้นทุกปี อาจด้วยการเรียนหนัก ขึ้นเวรบ่อย มีการสอบทุกสัปดาห์ที่สำคัญคือความรับผิดชอบต่อชีวิตคนไข้ และยังต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องในการตรวจรักษาคนไข้และช่วยน้องเวลาที่มีปัญหาในการดูแลคนไข้ด้วย ทำให้เราดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเพื่อนๆคณะอื่นในรุ่นเดียวกัน หลังจากสอบปี6ผ่านจึงจะถือว่าเรียนจบแพทย์แล้ว ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ได้เป็นแพทย์เต็มตัวที่สามารถรักษาคนไข้ได้ เพราะยังไม่ได้ใบประกอบโรคศิลป์

เมื่อทบทวนแล้วผมพบว่าเวลา6ปีในการเรียนแพทย์พวกเราได้รับความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประสบการณ์ในการดูแลรักษาคนไข้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทัศนคติ คุณธรรมจริยธรรมที่เราได้รับรู้โดยไม่รู้ตัวจากการสัมผัสสิ่งดีงามที่อาจารย์ปฏิบัติให้เห็นเป็นประจำ ค่อยๆซึมซับทำให้เราเป็นแพทย์ที่ดีตามแบบอย่างต่อไป

ทุกคนต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก1ปี โดยจะฝึกงานอยู่ในรพ.มหาวิทยาลัย รพ.ทหารและตำรวจและรพ.ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ผ่านการรับรองจากแพทยสภาให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด ทุกคนถือว่าเป็นแพทย์แล้วสามารถเขียนใบสั่งยารักษาคนไข้และทำหัตถการ ผ่าตัดรักษาคนไข้บางอย่างได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ยังไม่ได้ใบประกอบโรคศิลป์ต้องทำงานภายใต้การดูแลและรับผิดชอบจากแพทย์รุ่นพี่ในรพ. ยังเขียนใบรับรองแพทย์ไม่ได้เพราะไม่มีเลขที่ใบประกอบโรคศิลป์ เมื่อเป็นแพทย์ฝึกหัดครบ1ปีแล้วจึงจะได้ใบประกอบโรคศิลป์จากแพทยสภาโดยไม่ต้องสอบ ยกเว้นกรณีที่จบแพทย์จากสถาบันต่างประเทศจำเป็นต้องสอบ ซึ่งหลายคนสอบไม่ผ่านไม่สามารถทำงานเป็นแพทย์ได้ด้วยตนเอง

แพทย์ทุกคนไม่ว่าจะเรียนกี่ปีจบก็ตามถือว่าได้รับทุนจากรัฐบาลเพราะให้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุนมหาวิทยาลัยเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตแพทย์ มีสัญญาตั้งแต่เข้าเรียนว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องทำงานใช้ทุนให้กับราชการ เป็นเวลา3ปี(นับรวมเวลาเป็นแพทย์ฝึกหัด) ถ้าไม่ทำงานใช้ทุนจะต้องชดใช้เงินเป็นจำนวน 4 แสนบาทให้กับราชการ (เงินจำนวนนี้จะให้กับมหาวิทยาลัยคู่สัญญา) โดยคิดลดหย่อนไปตามเวลาที่ได้ทำงานใช้ทุนแล้วแต่ไม่ครบ3ปี

พวกเราเกือบทั้งหมดจะเข้ารับราชการ ซึ่งจะให้เลือกปฏิบัติงานในรพ.ต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กลาโหม รัฐวิสาหกิจ ตามความต้องการที่จะไปปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่จะเลือกกทม.และปริมณฑล หรือจังหวัดใหญ่ ซึ่งแต่ละจังหวัดแต่ละรพ.จะได้โควต้าไม่เท่ากันแล้วแต่ความขาดแคลน ถ้ามีคนเลือกมากกว่าจำนวนที่กำหนดก็ให้จับสลากกันเอง คนจับไม่ได้ก็เลือกรอบสองรอบสามต่อไปจนกว่าจะได้ครบทุกคน ผมยังจำบรรยากาศในวันนั้นได้ดีหลังจากที่จับฉลากรอบแรกไม่ได้ ทุกคนจะรู้สึกเคว้ง เดินดูตามผนังห้องประชุมที่มีรายชื่อรพ.ต่างๆที่ยังว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลเช่นแม่ฮ่องสอน หรือสามจังหวัดชายแดนทางใต้ ในตอนนั้นรอบแรกไม่มีใครเลือกเลย ผมตัดสินใจเลือกรพ.เบตง ในขณะที่เพื่อนรักเลือกรพ.ยะลา ทั้งนี้เลือกเพราะไม่ต้องการจับฉลากอีกและชื่อแปลกดี(คุณพ่อของผมเคยบอกว่าเป็นแพทย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้ช่วยเหลือคนไข้ ยิ่งถ้าที่ห่างไกลที่ขาดแคลนแพทย์ยิ่งมีคุณค่า) เมื่อไปปฏิบัติงาน2ปีเต็มที่รพ.เบตง รู้สึกว่ามีความสุขและมีคุณค่ามากจริงๆ

ทุกคนจะเริ่มนับอายุราชการตั้งแต่วันที่บรรจุ เมื่อทำงานครบ2ปี ถือว่าได้ใช้ทุนครบตามสัญญาแล้ว สามารถเลือกที่จะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางหรือลาออกไปอยู่รพ.เอกชนหรือจะเปิดคลินิกส่วนตัวเพื่อรักษาคนไข้ก็ได้ บางคนเลือกทำงานอยู่รพ.ชุมชนหรือรพ.จังหวัดต่อ ทำงานจนเกษียณอายุก็มี  อย่างไรก็ตามแพทย์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้เงินชดใช้ทุนเพื่อไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่จบแพทย์ฝึกหัด

จะเห็นได้ชัดเจนว่าในอดีตนั้นแพทย์ทุกคนจะซึมซับคุณธรรม จริยธรรม และทัศนคติในความเป็นแพทย์ที่ดีของคนไข้อย่างไม่รู้ตัว จากการได้เห็นตัวอย่างของคณาจารย์ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติให้เห็นทุกวัน เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า”ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” แม้แต่ที่มหาวิทยาลัยฉือจี้ ไต้หวัน ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคนให้มีหัวใจเป็นมนุษย์ พระอาจารย์เจิ้งเหยียน ภิกษุณีผู้ก่อตั้งเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “Good teachers bring up good doctors.”

ปัจจุบันการเรียนแพทย์ต่างไปจากเดิมเนื่องจากสมัยหนึ่งรัฐบาลต้องการเพิ่มแพทย์ให้เพียงพอในการดูแลสุขภาพประชาชน แพทยสภาและคณะแพทย์จึงปรับหลักสูตรแพทย์ใหม่ ให้มีการเรียนเพียง5ปี ปีสุดท้ายถือเป็นexternซึ่งปีนี้ไม่มีตารางเรียน เป็นการฝึกปฏิบัติตามแผนกต่างๆ (อย่างไรก็ตามจะไม่ได้ทำหัตถการเหมือนสมัยก่อนขณะเป็นแพทย์ฝึกหัด) เมื่อจบexternแล้วจะมีการสอบของคณะแพทย์แต่ละสถาบันซึ่งเมื่อสอบผ่านจะถือว่าจบแพทย์แล้ว ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัย แต่จะทำการตรวจรักษาคนไข้ได้ด้วยตนเองจะต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์ของแพทยสภาให้ได้ก่อน แพทย์ทุกคนไม่ว่าจะจบจากสถาบันผลิตแพทย์ภาครัฐหรือเอกชน จะในประเทศหรือต่างประเทศจะต้องผ่านการสอบ(มีทั้งหมด3ส่วน) เมื่อสอบผ่านจึงจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากแพทยสภา จึงจะถือว่าเป็นแพทย์โดยสมบูรณ์ หลายคนเรียนจบแพทย์แล้วแต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ได้ เมื่อเข้ารับราชการจะได้รับอัตราเงินเดือนเทียบเท่าพนักงานวิทยาศาสตร์และในการทำงานจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์รุ่นพี่อย่างใกล้ชิด กรณีที่สอบใบประกอบโรคศิลป์ผ่าน เมื่อรับราชการจะเริ่มนับอายุราชการได้ทันทีที่ได้บรรจุ

ทำให้ดูเหมือนว่าปัจจุบันแพทย์ที่จบใหม่มีวุฒิภาวะน้อยกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักศึกษาแพทย์สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาก แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมรุ่น ครูอาจารย์ เพื่อนร่วมงานแม้แต่กับคนไข้ไม่ดีเหมือนในอดีต

การเรียนแพทย์นั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะความรู้และวิทยาการทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทัศนคติที่ดี คุณธรรมจริยธรรมก็ต้องอยู่คู่กับความเป็นแพทย์ที่ดีตลอดไปเช่นกัน

ปัจจุบันเป็นยุคของทุนนิยม วัตถุนิยม ทำให้ตัวอย่างดีๆจากครูอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์มีให้เห็นน้อยลง เพราะครูแพทย์จำนวนมากออกไปประกอบวิชาชีพในรพ.เอกชน ไม่มีเวลาให้นักศึกษาแพทย์เหมือนในอดีต มีแต่ความเร่งรีบตลอดเวลาความสัมพันธ์กับศิษย์จึงไม่แนบแน่นเหมือนอดีต ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กับคนไข้และญาติหรือกับชุมชนก็จืดจางไป  ภาพลักษณ์ของการเป็นแพทย์ในสายตาคนไข้และคนทั่วไปเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้นเมื่อผลการรักษาไม่เป็นดังคาด

ในอนาคตอันใกล้แพทย์ก็คงเหมือนกับอาชีพอื่นๆทั่วไป ไม่ได้รับความเคารพ ความไว้วางใจจากคนไข้และประชาชนเหมือนก่อน ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการปฏิบัติตัวของแพทย์เอง ที่ทำให้ความรักความศรัทธาเสื่อมไป ผมหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงกลับมาเหมือนในอดีต ซึ่งต้องเริ่มจากอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ก่อน เพราะจะต้องเป็นเบ้าหล่อหลอมสร้างแพทย์รุ่นใหม่ต่อไป

“ขอบคุณที่เป็นคนดี”

นพ.พิษณุ ขันติพงษ์



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า