ในช่วงวิกฤติเราจะเห็นธาตุแท้ของคนปรากฏชัดเจนขึ้น ยุคทุนนิยม วัตถุนิยม คนส่วนใหญ่จะมองไม่พ้นตัวเอง ไม่เคยคิดว่าการกระทำบางอย่างของตัวเองจะมีผลกระทบต่อคนอื่นเช่นไร หลายคนเป็นไข้ไปรพ.ไม่ยอมบอกข้อมูลแท้จริงว่าเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแม้ว่าแพทย์จะถามย้ำหลายครั้งเพื่อให้แยกได้ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ จนเป็นเหตุให้บุคลากรไม่ได้ป้องกันตัวจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างเหมาะสม ทำให้ต้องถูกกักตัวไว้ 14 วันขาดบุคลากรที่จะมาทำงาน และทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยากมีการสัมผัสกับคนอื่นกระจายไปไกล หลายคนที่มีความเสี่ยงเดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยงหรืออยู่ในสถานที่มีคนติดเชื้อไม่ยอมแสดงตัวเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสหรือไม่ยอมกักตัวเองตามคำแนะนำเพื่อสังเกตอาการและลดการแพร่กระจายเชื้อ
หลายคนฉวยโอกาสหากำไรจากการจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ มีการกักตุนสินค้าเกิดความเดือดร้อนหาซื้อไม่ได้ และทำให้ราคาสินค้าแพงเกินจริง แม้แต่ในรพ.ทุกแห่ง บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันตัวเมื่อให้การรักษาคนไข้ยังขาดแคลน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้ผมคิดถึง 5ส. ของพ่ออุ้ยเสม (นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว) อดีตผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ (โฮงยาไทย) คนแรก ท่านได้สอนเจ้าที่รพ.ทุกคนให้มี 5ส. เพื่อใช้เป็นหลักในการทำงานรพ. ซึ่งรพ.เชียงรายฯได้นำมาเป็นค่านิยมร่วม (core value) ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนถือปฏิบัติมานานกว่า80ปี เหมาะที่จะนำมาเผยแพร่ให้ทุกคนนำไปปฏิบัติจะช่วยให้เราผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดี
5ส.ของพ่ออุ้ยเสม มีดังนี้
ส.1 สงบ ความสงบแห่งกายและจิตของเจ้าหน้าที่
การที่เราจะทำงานให้ได้ผลนั้นความสงบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะงานรพ.มีความเครียดทุกเวลา เป็นการทำงานเพื่อรักษาชีวิต เช่นเดียวกับในภาวะวิกฤติความสงบจะทำให้เราไม่ตื่นตระหนก พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆอย่างมีสติ ไม่ว่าจะพบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายเพียงใดความสงบของเราจะทำให้สามารถผ่านปัญหาต่างๆได้ ใช้ปัญญาในการแก้ไข ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ความศรัทธาปัญหาที่ใหญ่จะเล็กลงได้
ส.2 สามัคคี ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของเจ้าหน้าที่
ความรักความสามัคคีในหน่วยงานในองค์กรในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว พลังในการทำงานย่อมจะยิ่งใหญ่สามารถทำภารกิจที่ยากให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้คนไทยทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากัน มีความรับผิดชอบทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด มีการทำงานที่ประสานกันไปในทางเดียวกัน มีปัญหาอะไรก็หาทางแก้ไขด้วยกัน ปัญหาไม่ว่าจะใหญ่หลวงเพียงใดก็จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ ด้วยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ส.3 สร้างสรรค์ การพัฒนาการให้บริการโดยถือประโยชน์ของผู้ป่วยเหนือประโยชน์ตน การพัฒนาทางวิชาการและวิจัยด้วยมโนสำนึกพื้นฐาน
เป็นหัวใจของการทำงานอย่างแท้จริงโดยให้ถือเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานบริหาร บริการหรือวิชาการ หลายคนถือโอกาสในช่วงนี้หาประโยชน์ให้ตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาใหม่ซ้อนปัญหาเดิมมากมาย ใครจะไปคิดว่าท่ามกลางปัญหาการระบาดของโรค อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะควบคุมไม่ให้การระบาดกระจาย ยังมีคนกักตุนเพียงหวังผลกำไร หรือหลายคนที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ยอมกักตัวเอง ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่นที่อยู่ใกล้ตัวหรือคนในสังคม ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่คนอื่นมากมาย และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วมากล่าวคำว่า”ขอโทษ” ย่อมเป็นการสายเกินไป แม้แต่ด้านวิชาการหรืองานวิจัยต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ควรร่วมมือร่วมใจศึกษาวิจัยร่วมกันไม่ใช่แย่งชิงหรือแข่งขันกัน จะช่วยให้การศึกษาวิจัยสำเร็จอย่างรวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
ส.4 สันโดษ ความเห็นแก่นแท้ของชีวิต เมื่อเกิดมาก็มามือเปล่า การจากไปก็มือเปล่าเหมือนเมื่อมา
เป็นการเตือนใจตัวเองอยู่เสมอไม่ให้โลภ ใช้หลักความพอเพียง ไม่เบียดเบียนหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้อื่นกำลังเดือดร้อนเรายิ่งไม่ควรฉวยโอกาสเอาเปรียบโดยใช้อำนาจหน้าที่หรือมีกำลังทรัพย์มากกว่า สร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองเพราะเมื่อต้องจากโลกนี้ไปไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทองหรือสมบัติใดๆที่รักที่สุดก็ไม่อาจนำติดร่างไปได้ ควรหันมาช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากย่อมจะได้กุศลผลบุญที่จะติดตัวไปทุกที่แม้ยามไม่มีชีวิตแล้วก็ตาม
ส.5 สุจริต การไม่เอาเปรียบผู้อื่น เจริญพรหมวิหาร 4 รักษาความสุจริต ยุติธรรม ตลอดมา
เมื่อสันโดษแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทุจริต คดโกงไปเพื่ออะไร ประพฤติตนให้เป็นคนมีคุณค่า มีประโยชน์ที่สุดคนหนึ่งก็พอแล้ว นักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงพึงคำนึงถึงข้อนี้ไว้ให้ดี ต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องมีความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ
เช่นเดียวกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้อย่างดีที่สุดตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามคนไข้ยังเสียชีวิตก็ต้องอุเบกขา ปล่อยวางว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว
สิ่งที่ผมกังวลที่สุดก็คือถ้าโรงพยาบาลมีเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ใครจะเป็นคนตัดสินว่าคนไข้คนไหนควรได้ใช้เครื่อง คนไข้คนไหนควรเสียสละ จะใช้อายุ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน ฐานะ หรือเชื้อชาติมาเป็นตัวกำหนด ไม่อยากให้ถึงจุดนั้นสำหรับประเทศไทยของเรา
ถ้าเราไม่อยากให้ประเทศของเราเป็นอย่างที่ผมกังวล พวกเราคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่ง ฐานะ อาชีพหรือมีหน้าที่อะไรควรนำเอา5ส.ของพ่ออุ้ยเสมนี้มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโควิด19 ผมเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างสง่างาม ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมายนัก
พ่ออุ้ยเสมเคยบอกกับผมว่า แม่ของท่านสอนลูกๆเสมอว่า”ชีวิตที่ลำบาก เป็นชีวิตที่เจริญ” ผมขอนำมาเตือนสติพ่อแม่ทุกคนว่า ทุกวันนี้เราเลี้ยงลูกอย่างไร? เราเคยให้ลูกเราพบความลำบากบ้างไหม? แล้วลูกของเราจะเจริญได้อย่างไร?
ผมขอให้ทุกคนนำ5.ส ของพ่ออุ้ยเสมไปใช้เป็นคาถากำกับชีวิต จะทำให้ชีวิตของเราพบกับความสุขความเจริญอย่างแน่นอน
“ขอบคุณที่เป็นคนดี”
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์