คอลัมน์ » “ความสุขที่แท้มีอยู่แต่ในงาน”

“ความสุขที่แท้มีอยู่แต่ในงาน”

2 เมษายน 2020
772   0

5:Humannized health care(5) / การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจบนพื้นฐานของความรู้(5)
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์
“ความสุขที่แท้มีอยู่แต่ในงาน”
“ความสุขที่แท้มีอยู่แต่ในงาน”เป็นคำของท่านพุทธทาสที่พร่ำสอนให้เรามีความสุขกับงานที่ทำ ทั้งยังสอนอีกว่า “ถ้าเราทำงานเพื่อเงิน ความสุขจะเกิดก็ต่อเมื่อได้รับเงินตอบแทน แต่ถ้าเราทำงานเพื่องาน ความสุขจะเกิดตั้งแต่เราเริ่มทำงาน”
วันก่อนมีน้องๆ พยาบาลมาขอพบเพื่อคุยเรื่องเงินเดือนและค่าล่วงเวลาโดยบอกว่าเข้าใจว่าตามที่ ผอ.บอกเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดแต่ก็ถือว่ามีความจำเป็นกับชีวิตเหมือนกัน โดยเฉพาะเงินที่ควรได้ตามสิทธิ ผมฟังแล้วก็ดีใจที่น้องๆทุกคนยังมีความสุขจากการทำงานใน รพ. เรื่องเงินนั้นจริงอยู่
ว่ามีความจำเป็นแต่เราก็คงต้องรู้จักใช้ให้เป็นจึงจะเกิดความสุข บางคนใช้จนเกินตัวทำให้เป็นหนี้ต้องเอาเงินอนาคตมาใช้เมื่อถึงสิ้นเดือนเหลือเงินไม่เท่าไหร่บางทีต้องไปกู้หนี้เพิ่มอีก ไม่มีวันสิ้นสุด วันนั้นผมฟังแล้วปัญหาเกิดกับระบบการจ่ายเงินและข้อมูลรายละเอียดในการได้รับค่าตอบแทน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ผมเห็นด้วยว่าความยุติธรรมและโปร่งใสนั้นสำคัญที่สุดโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน
ผมคิดอยู่เสมอว่าคนเราถ้าใจเป็นสุขเราก็พร้อมที่จะทำงานบริการให้คนอื่น ตรงกันข้ามเมื่อใจเราเป็นทุกข์การจะไปทำงานเพื่อให้บริการคนอื่นย่อมยากที่จะมีประสิทธิภาพเต็มที่ ผมจึงคำนึงถึงความสุขในครอบครัวต้องมาก่อนเสมอดังที่ผมมีความเชื่อมั่นว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี คนใดที่ไม่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่จะให้เชื่อว่าเป็นคนดีนั้นคงเป็นไปได้ยาก ผมจึงเน้นอยู่เสมอให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องดูแลพ่อแม่ให้ดีแม้ว่าจะอยู่ไกลกันก็ต้องหมั่นส่งข่าวสื่อสารถึงกันอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่รู้จะพูดอะไรเพียงบอกถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อท่านก็รู้สึกว่าเป็นสุขแล้ว เหมือนที่ผมโทรถึงคุณแม่ยายทุกเช้าได้รับพรที่ท่านให้ “good day” ทุกครั้งทำให้ใจเรามีความสุขพร้อมที่จะทำงานเพื่อคนอื่นทันที ทุกครั้งที่ผมถามว่าท่านต้องการอะไรหรือไม่คำตอบก็คือพอแล้วอายุพอถึง 80 ปี ก็รู้สึกว่าไม่อยากได้อะไรเพียงแต่ให้รู้ว่าลูกหลานมีความสุขก็พอแล้วและที่สำคัญที่สุดก็คือขอให้ตัวเองไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน แม้ผมจะพร่ำบอกทุกครั้งว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลานอยู่แล้วที่จะได้ตอบแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านก็ตาม ช่างเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ดังคำสอนที่ว่า “ความรักของแม่นั้นคือรักที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน”
ผมยังจำได้แม่นเมื่อคราวที่คุณย่ายังมีชีวิตอยู่และป่วยเป็นอัมพาต ทุกเช้าตี5คุณพ่อผมจะตื่นเพื่อเช็ดตัวให้คุณย่าพร้อมประแป้งแต่งตัวให้เสร็จป้อนข้าวแล้วอุ้มนั่งรถเข็นรอใส่บาตรที่หน้าบ้านทุกเช้า เมื่อผมกลับไปเยี่ยมบ้านคุณพ่อจะบอกเสมอให้รักษาหรือทำทุกอย่างให้ย่ามีชีวิตอยู่ คุณพ่อไม่ถือว่าเป็นภาระแต่รู้สึกเป็นสุขที่ได้ปรนนิบัติท่าน แต่ทุกครั้งที่ได้คุยกับย่าท่านจะบอกผมทุกครั้งว่าไม่ต้องรักษาหรือช่วยอะไรท่านอีก ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วรู้สึกสงสารที่เป็นภาระให้พ่อผม เห็นไหมครับว่าสองความรู้สึกที่แตกต่างแต่ก็เป็นความรักความผูกพันของแม่ลูกที่ยิ่งใหญ่
ครั้งหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้พาแม่ชีศันสนีย์ไปเยี่ยมคนไข้ตามหอผู้ป่วย ระหว่างทางพบคุณยายอายุราว70กว่าปีนอนอยู่บนเปลหน้าห้องฟอกไต ใบหน้าบ่งบอกถึงความทุกข์ความกังวลไม่มีความสุข มีลูก2คนชายหญิงยืนอยู่ข้างๆอายุน่าจะ50ปีเศษแล้ว แม่ชีเข้าไปจับมือแล้วถามไถ่อาการต่างๆและถามถึงความเจ็บป่วยว่าเป็นอย่างไรกังวลเรื่องใด ปรากฏว่าคุณยายไม่มีความสุขเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้ลูกๆต้องพามาฟอกเลือดสัปดาห์ละ2ครั้งเสียทั้งเวลาและเงินทอง แม่ชีจึงถามลูกๆทั้ง2คนว่ารู้สึกเป็นภาระหรือไม่ ลูกๆตอบพร้อมรอยยิ้มว่าไม่รู้สึกเช่นนั้นและรู้สึกว่ายินดีที่จะพาแม่มารักษาตามหมอนัดทุกครั้ง แม่ชีจึงจับแขนคุณยายและพูดว่าเห็นไหม คุณยายกำลังทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ให้ลูกหลานได้แสดงความกตัญญูรู้คุณปรนนิบัติแม่ยามเจ็บป่วย คุณยายควรมีความสุขที่ได้ให้ลูกหลานมีโอกาสได้ทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าจากคำพูดนี้จะทำให้ใบหน้าคุณยายคลายความกังวลลงและมีรอยยิ้มให้ลูกทั้งสอง เป็นภาพประทับใจที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมอยู่เสมอ
ผมมักจะเล่าประสบการณ์ดีๆเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่ฟังเช่นเมื่อตามแม่ชีศันสนีย์ไปเยี่ยมคนไข้ผมจะเห็นภาษากายที่ท่านแสดงออกต่อคนไข้ ด้วยสายตาที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาความปรารถนาดีและการสัมผัสที่อ่อนโยนแม้ในคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวหรือคำพูดที่กล่าวให้กำลังใจญาติผู้ดูแลพร้อมแววตาที่แสดงถึงความเห็นใจที่แสดงออกด้วยความจริงใจเป็นการกระทำด้วยหัวใจที่ปราศจากการเสแสร้งทำให้ญาติๆรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นและมีกำลังใจที่จะต่อสู้ดูแลคนไข้ด้วยความปรารถนาดี
ดังนั้นทุกครั้งที่เราปฏิบัติต่อคนไข้ต้องทำเสมือนว่าเป็นญาติพี่น้องของเราอยู่เสมอ ทำจนเป็นนิสัยเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามซึ่งจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นให้เป็นที่เลื่องลือว่ารพ.น่าน ประเทศไทยนั้นดูแลคนไข้ด้วยใจไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือเชื้อชาติสัญชาติใดๆ
ผมต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่รพ.ทุกๆระดับทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ยังคงรักษาสิ่งที่ดีงามนี้ให้สืบเนื่องต่อกันตลอดกาลนาน