ตอนที่ 25
ความต้องการและแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดเชียงราย
จากการรวบรวมข้อคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ สามารถสรุปความต้องการและแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดเชียงราย ได้ดังนี้
1) เทคโนโลยีและนวัตกรรม
การนำเทคโนโลยีใหม่ หรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถในกระบวนการผลิต และการเพาะปลูก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมทั้งการนำระบบเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศสำหรับการค้าภายในประเทศและต่างประเทศมาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย
2) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยจากส่วนภาคการศึกษามายังภาคเอกชน เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยจังหวัดมุ่งเน้นผลิตสินค้า ข้าว ชา กาแฟ และสับปะรด เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างสินค้าให้เป็นอัตลักษณ์ที่ดีให้ของจังหวัด รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและสวยงามซึ่งจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและประสิทธิภาพการรักษาคุณภาพของสินค้าด้วย
3) ระบบและมาตรฐานสินค้า
การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบในเรื่องการจัดทำระบบมาตรฐานที่จำเป็นในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป เช่น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การขอเลข อย. การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) และมาตรฐานอาหารฮาลาล (HALAL) เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า และเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
4) การตลาด การเงิน การบัญชี
การสร้างแบรนด์และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้า เพื่อพัฒนาการตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภค เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อกับลูกค้า อีกทั้งการสนับสนุนการลงทุนและขยายกิจการ รวมถึงการกู้เงินหมุนเวียนภายในกิจการโดยให้ผู้ประกอบการสามารถกู้เงินโดยปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ
5) การสร้างเครือข่าย
การสร้างความร่วมมือตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ รวมถึงการรวมกลุ่มความร่วมมือเป็นคลัสเตอร์อย่างเป็นรูปธรรม และความร่วมมือด้านวิชาการของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน และการประสานงานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
6) แรงงาน
การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีความรู้ ความชำนาญ และทักษะ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร โดยการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น สถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการส่งเสริมการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย
7) ระบบการขนส่งสาธารณะ
เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการขนส่งโดยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การขยายเส้นทางคมนาคมทางบก โดยการสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้จังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงผ่านถนนสาย R3A เชื่อมไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เวียดนาม และจีนตอนใต้
8) โครงการและงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ
การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่นสถาบันการศึกษา ส่วนราชการ และภาคเอกชนในการสนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าที่ได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าว ชา กาแฟ และลำไย เพื่อการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ