คอลัมน์ » เลาะเลียบข้างๆ ธรรมมาสพระศาสดา

เลาะเลียบข้างๆ ธรรมมาสพระศาสดา

11 ตุลาคม 2019
1013   0

กายกรรม 3. วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 กรรมน่าติเตียนอันใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้วต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งเจตนาและไม่เจตนา รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี โดยประมาทพลาดพลั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเจ้าและพระสงฆ์เจ้าได้โปรดอดโทษอโหสิกรรมให้แก่ข้าพระพุทธเจ้านับตั้งแต่บัดนี้ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเถิด

นั่นคือคำขอขมาพระรัตนตรัยที่พระคุณเจ้าหลวงพ่อฤๅษี หรือที่คนทั่วไปเรียกท่านว่าหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุงกล่าวว่า ให้ทำเป็นประจำ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะพลั้งเผลอจาบจ้วงกระทำไปเมื่อใด ที่สำคัญคือช่วยขจัดความกังวลให้กับใจของผู้กระทำได้

ในระยะนี้ ที่ข่าวที่เราชาวพุทธกล่าวขวัญถึงกันลั่นโซเซียล นั่นก็คือเรื่องที่นักศึกษาศิลปากรนำเศียรพระพุทธรูปมาแต่งชุดอุลตร้าแมน ว่าเหมาะสมไม่เหมาะสม บ้างก็สนับสนุน บ้างก็ติเตียน ถามว่าแล้วอันไหนถูกอันไหนผิด แน่นอนว่าทุกฝ่ายก็เชื่อในตรรกะของตนว่าถูกต้อง

นั่นเราจะไม่เข้าไปร่วมวิจารณ์ด้วย เพราะกรรมคือการกระทำ ทุกฝ่ายได้ทำสำเร็จไปแล้ว ล้วนถูกบันทึกไว้แล้วในสัญญาแห่งตน กรรมย่อมตามให้ผลแก่เขาเอง หากเราสามารถทำใจวางไว้ที่กรรมได้อย่างนี้ทุกข์ก็ดับ กรรมใหม่ก็ไม่เกิดอีก

กรรมหากกระทำแล้วย่อมให้ผลตามมา เรียกว่าวิบาก วิบากนั้นมีทั้งที่เป็นกุศล เรียกว่าบุญ และที่เป็นอกุศลเรียกว่าบาป ดังนั้น ถ้าพูดถึงกรรมจึงไม่ได้หมายถึงแค่เคราะห์ร้ายอย่างที่ใครๆถูกหลอกให้เข้าใจกัน

อย่างนั้นเราจะมีสิ่งใดเป็นบรรทัดฐานว่าสิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนควรเว้น โดยมากเรามักจะหมายเอาแค่ว่า ศีล 5 คือมาตรฐานในการดำรงชีวิต แค่รักษาศีล 5 ชีวิตก็ปกติสุข และศีล 5 ถ้ารักษาได้ครบถ้วนก็ปิดนรกได้ คือไม่มีกรรมที่จะทำให้ตกนรกได้อีก ซึ่งก็จริง แต่ปิดได้แค่ชาติที่รักษาเท่านั้น และยังมีกรรมที่ไม่ดีที่ทำแล้วไม่ถึงขั้นตกนรก แต่ก็ยังเป็นกรรมที่ติดตามทวงเจ้าของอยู่อีก เรียกว่ายังมีการกระทำที่แยกย่อยออกไปอีกที่ไม่นับเป็นกรรมหนัก แต่ก็กระทบกระเทือนใจตนเองและผู้อื่นอยู่ ท่านเรียกสิ่งนี้ว่า กรรมบถ 10

กรรมบถ 10 คืออะไร เราจะย้อนขึ้นไปดูข้างบน นั่นคือคำขอขมาพระรัตนตรัยนั่นเอง กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 รวมแล้วเป็น 10 พอดี นี่คือ กรรมบถ 10 ซึ่งเป็นข้อแยกย่อยออกมาจากศีล 5 ทำให้ได้สิ่งควรเว้นละเอียดลงไปอีก หากสามารถกระทำได้ ภัยในวัฏสงสารสำหรับผู้นั้นก็จะน้อยลงจนถึงไม่มีเลยในที่สุดได้

กายกรรม 3 มี ปาณาติบาต ไม่เบียดทำร้ายสัตว์ให้เดือดร้อน อทินนาทาน คือไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นเสียทรัพย์สิน กาเมสุมิจฉา คือไม่ลักลอบเป็นชู้กับลูกเขาเมียใคร
วจีกรรม 4 มีการพูดส่อเสียดให้ผู้คนแตกแยกผิดใจกัน การพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ พูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การพูดหยาบจาบจ้วง พูดคำด่าคำ ด่าลมด่าแล้งเรียกว่าผรุสวาท และพูดโกหกทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์

มโนกรรม 3 คือโลภอยากได้ของๆผู้อื่น แม้ไม่ได้ลงมือทำแต่กรรมได้เกิดแล้วที่ใจ ความมักโกรธ คิดแต่หนทางจะประทุษร้ายเขา แต่ไม่กล้าลงมือหรือยังหาโอกาสไม่ได้ก็ยังเกิดกรรมคือเดือดร้อนที่ใจอยู่ และสุดท้ายความหลงผิดหรือมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ความเห็นเมื่อตั้งต้นผิดสิ่งที่จะทำตามมาย่อมถูกไปไม่ได้

เหล่านี้คือข้อแยกย่อยของศีล 5 นั่นเอง แต่จากความละเอียดที่แยกออกมานี้เราจะเห็นกรรมที่แต่ละคนกระทำแล้วนั้น ว่า ล้วนมีผลต่อผู้กระทำทั้งสิ้น อย่างที่บอก แม้ไม่ถึงลงนรก แต่ก็ล้วนมีวิบากกรรมให้ต้องชดใช้ทั้งสิ้น

ดังนั้น ในกรณีของน้องนักศึกษา ผู้สนับสนุนและผู้ร่วมด่า ล้วนต้องรับกรรมของตนอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปร่วมด่าด้วย กรรมก็ยังเป็นของเขาอยู่ดี แต่ในฐานะพุทธศาสนิกชนเราคงอยู่เฉยไม่ได้อยู่ดี การทักท้วงในขอบเขตจึงเป็นสิ่งพึงกระทำยิ่ง



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า