ช่วงนี้มีน้องหมอหลายคนเรียนจบเป็นแพทย์เฉพาะทางกลับมาทำงานที่รพ. หลายคนถามผมว่าเมื่อไหร่จึงจะได้รับศรัทธาจากคนไข้และเพื่อนร่วมงาน ทำให้ผมคิดถึงตัวเองเมื่อจบมาทำงานใหม่ ก็เช่นกัน ศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลานานพอสมควร
ผมเขียนบทความเรื่องนี้เพื่อให้แพทย์ เจ้าหน้าที่รพ.และคนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับความศรัทธา จะได้ไม่ต้องเป็นกังวล ตั้งใจทำงานให้ดีแล้วความศรัทธาจะเกิดขึ้นเอง
ครั้งหนึ่งมีแพทย์รุ่นน้องซึ่งในสายตาของผมถือว่าเป็นแพทย์ที่ดีมากในการเอาใจใส่ดูแลคนไข้ได้ถามผมว่า”ทำอย่างไรเราจึงจะได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่ของเรา รู้สึกว่ามันช่างยากเหลือเกิน” ผมได้บอกให้คุณหมอท่านนั้นไปว่าเป็นธรรมดาที่เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเหมือนกันถ้าเราเป็นคนไข้ในยามที่เจ็บป่วยร้ายแรงก็ต้องอยากได้แพทย์ที่ไว้ใจได้เป็นผู้รักษา คงต้องอาศัยเพื่อนๆหรือคนรู้จักที่อยู่ในวงการแพทย์เป็นคนแนะนำ แต่มันก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะทำให้คนไข้เกิดความไว้ใจในตัวเรา โดยเราต้องให้ความจริงใจกับเขาก่อนว่าเราจะดูแลเขาให้ดีที่สุดเหมือนเป็นคนในครอบครัวของเรา ก็เหมือนกับที่เราไว้วางใจคนบางคน เป็นต้นว่าพ่อแม่ของเรา เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่าไม่มีวันที่ท่านจะทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อเราเนื่องจากเราได้เห็นท่านทำแต่สิ่งดีๆให้เรามาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะในยามที่เราเจ็บป่วย ท่านดูจะเป็นกังวลและเจ็บป่วยมากกว่าเราเสียอีก อดหลับอดนอน คอยเช็ดตัวยามไข้สูง ต้มข้าวต้มป้อนเรายามที่เราทานอะไรไม่ได้ ท่านได้ทำสิ่งต่างๆเหล่านี้มาโดยตลอดแม้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวแล้วก็ยังคงเป็นห่วงอยู่ไม่เสื่อมคลาย เราจึงไว้ใจท่านได้โดยสนิทใจ ผมเชื่อว่าในชีวิตความเป็นแพทย์ของเรา ถ้าเราทำให้คนไข้และญาติไว้วางใจเราเหมือนเป็นคนในครอบครัวก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในวิชาชีพ
แต่การที่เราจะทำให้ผู้อื่นโดยเฉพาะคนไข้ผู้ซึ่งกำลังมีความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเกิดความไว้วางใจพร้อมที่จะให้เราทำการรักษาก็ขึ้นกับว่าเราได้ทำให้เขาไว้วางใจหรือไม่โดยเฉพาะกรณีที่พบกันครั้งแรก เราคงจำได้ว่าในการตรวจคนไข้ด้วยตนเองครั้งแรกๆเมื่อจบแพทย์นั้นทุกคนก็คงมีความรู้สึกตื่นเต้นไม่ค่อยมั่นใจในตนเองนักแต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าคนไข้จะไว้วางใจในตัวเราก็คงอยู่ที่ว่าเรามีความตั้งใจในการที่จะดูแลเขาหรือไม่ท่าทีที่แสดงออกมีความจริงใจเพียงใด มีการเอาใจใส่ในตัวเขาอย่างไร ความรู้ความสามารถบางครั้งเขาอาจได้รู้มาก่อนแล้วแต่ความประทับใจนั้นขึ้นกับการแสดงท่าทีการเอาใจใส่การพูดจาอธิบายด้วยภาษาที่เรียบง่ายและใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เชื่อหรือไม่ว่าโดยส่วนใหญ่คนไข้ไม่ได้เลือกหมอที่เก่งที่สุดแต่เขาจะเลือกหมอที่ดูแลเอาใจใส่เขาดีที่สุด สมัยที่ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่รพ.เบตงใหม่ๆ มีคนไข้ในตลาดมารพ.ด้วยอาการเจ็บแน่นลิ้นปี่แบบเฉียบพลัน ผมตรวจดูเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารทะลุ ได้ส่งเอกซเรย์ยืนยันพบว่าภาวะเจ็บท้องเกิดจากกระเพาะอาหารทะลุจริง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน ผมได้อธิบายให้คนไข้และญาติฟังอย่างละเอียดแต่ทั้งหมดยืนกรานไม่ยอมรับการผ่าตัดซึ่งในขณะนั้นคนไข้รู้สึกดีขึ้นปวดท้องน้อยลง ผมจึงได้เรียนปรึกษาแพทย์รุ่นพี่(นพ.เกรียงศักดิ์ ภู่พัฒน์)ซึ่งท่านทำงานอยู่ที่รพ.เบตงมานานกว่า10ปีแล้ว เป็นที่นับถือของคนไข้ทั้งเบตงเนื่องจากเป็นแพทย์ที่เก่ง ดูแลคนไข้เหมือนญาติ ท่านรีบพาผมมาคุยกับคนไข้และญาติอีกครั้ง ท่านดูฟิลม์แล้วบอกคนไข้ว่าต้องรีบผ่าตัดทันที ทั้งยังให้คำยืนยันด้วยว่าผมมาจากรพ.ที่กทม. เก่งมากเป็นหมอผ่าตัดมือหนึ่ง ทำเอาผมตัวลอยเชียวล่ะ คนไข้เริ่มมีท่าทีเชื่อว่าเป็นโรคนี้จริงแต่ยังคงไม่ค่อยเชื่อในตัวผมนัก พี่เกรียงศักดิ์บอกว่าจำเป็นต้องผ่าตัดถ้าทิ้งไว้จะอันตรายถึงชีวิตได้ คนไข้ถามว่าโอกาสตายมีไหมผมยังคงจำได้ว่าพี่หมอบอกกับคนไข้ว่าการที่เรานั่งรถจากเบตงไปยะลาปลอดภัยไหม(เนื่องจากเส้นทางคดเคี้ยวต้องขึ้นเขาลงเขามากอีกทั้งยังมีขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดนคอยดักจี้ ปล้นหรือยิงลงมาจากบนเขาระหว่างทางอยู่บ่อยๆ) มีใครกล้ารับประกันว่าปลอดภัย100%หรือเปล่า แต่พวกเราก็เดินทางกันบ่อยๆไม่เห็นเป็นอะไร คนไข้จึงเริ่มเชื่อและพี่หมอยังบอกด้วยว่าจะเข้าไปช่วยผมผ่าตัดด้วย คราวนี้คนไข้และญาติยิ้มเลย วันรุ่งขึ้นพี่หมอไปพูดกับคนไข้ว่าผมผ่าตัดได้ดีมากผ่าเร็วและเสียเลือดน้อย โชคดีของคนไข้ที่ได้ผมเป็นคนผ่าตัดให้ ผมไปเยี่ยมคนไข้วันละ2-3ครั้งจนออกจากรพ.ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาคนไข้เที่ยวไปคุยให้ทุกคนในตลาดฟังถึงความเก่งของผมทำให้ผมไปทานก๋วยเตี๋ยวในตลาดไม่ต้องจ่ายเงินอีกเลยมีแต่คนออกเงินให้และทุกคนไว้ใจให้ผมเป็นคนผ่าตัดรักษาในกรณีที่มีความจำเป็น บางครั้งผมแนะนำให้ไปผ่าตัดที่รพ.หาดใหญ่คนไข้ก็ไม่ไปขอให้ผมผ่าตัดให้ที่รพ.เบตง
ผมจึงคิดว่ารุ่นพี่มีส่วนสำคัญในการที่จะสร้างความมั่นใจในตัวเราในฐานะหมอใหม่ไม่ว่าจะจบใหม่หรือมาอยู่ใหม่ให้กับคนไข้และญาติ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในรพ.ของเราก็สำคัญเช่นกัน การที่เขาจะแนะนำคนไข้ให้เราเป็นผู้รักษา เราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน ให้เกียรติกับทุกๆคนทำงานเป็นทีมเดียวกันและสำคัญที่สุดก็คือรักษาคนไข้ด้วยหัวใจบนพื้นฐานของความรู้ มีความปรารถนาดีต่อคนไข้อย่างจริงใจ ทุกคนจึงจะไว้วางใจเรา คนไข้จะมีความมั่นใจและวางใจในตัวเรา ไม่มีความคลางแคลงใจและในกรณีที่ผลการรักษาไม่เป็นไปดังที่หวัง เหมือนกับที่ผมได้เขียนในบทความครั้งก่อนว่าคนไข้จะยังคงเชื่อถือ และวางใจในตัวเราแม้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คาดไม่ถึง ขอเพียงแต่เราต้องไม่ปิดบังปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่หนีหน้าปล่อยให้ทีมแพทย์ท่านอื่นรักษาแทน ต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาและหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิดคอยอธิบายอาการที่เปลี่ยนแปลง เพียงเท่านี้เราก็ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้และญาติและไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาเหล่านี้จะยังคงมาให้เรารักษาตลอดไป
ผมจึงขอให้รุ่นพี่ๆไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดต้องทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้รุ่นน้องจนกว่าจะมั่นใจว่าน้องสามารถทำงานได้ด้วยตนเองโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เนื่องจากถ้าเกิดความผิดพลาดอาจเป็นผลให้คนไข้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้เหมือนที่โฮงบาลน่านอ.นพ.บุญยงค์ วงค์รักมิตรได้สร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานกว่า๕๐ปีที่ว่า”สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ผมเชื่อในคำสามคำนี้ว่าจะสร้างความมั่นใจให้น้องใหม่ตลอดจนคนไข้และญาติในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความระมัดระวังและด้วยความปรารถนาดีต่อคนไข้และญาติ คำว่า”อยู่ให้เห็น”นั้นสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยามวิกฤตินั้นบางครั้งต้องการรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ช่วยออกความคิดเห็นหรือร่วมรักษาคนไข้ จึงต้องสามารถตามตัวรุ่นพี่ได้ทุกเวลา
ผมมักพูดอยู่บ่อยๆว่า”รุ่นพี่มีหน้าที่เตือนเมื่อรุ่นน้องทำในสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ควรทำ และที่สำคัญที่สุดรุ่นพี่จะต้องมีหน้าที่ในการเป็นตัวอย่างทำในสิ่งที่ถูกที่ควรด้วย”
ผมขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ แพทย์รุ่นพี่หรือแม้แต่แพทย์รุ่นน้องบางคนที่ได้เป็นตัวอย่างในการทำสิ่งดีๆให้เห็น เป็นต้นแบบในการเป็นแพทย์ของผมจวบจนทุกวันนี้ และผมจะถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องๆสืบต่อไป
“ขอบคุณที่เป็นคนดี”
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์