คอลัมน์ » “ราชภัฏชร.” ชุบชีวิต..คนยาก!

“ราชภัฏชร.” ชุบชีวิต..คนยาก!

2 สิงหาคม 2019
990   0

การแก้ปัญหาความยากจน…และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคสมัย รวมทั้งเป็น พระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ รัชกาลที่ 10 และการดำเนินรอยตาม “ศาสตร์ของพระราชา” รัชกาลที่ 9 ล้วนเป็นความห่วงใยของล้นเกล้าฯทั้ง 2 พระองค์ ที่ทรงมอบผ่านหน่วยงานของรัฐมายังพสกนิกรทั้งหลาย

โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ก็เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งที่น้อมนำพระราโชบายมาปฏิบัติจนได้ผลดีทุกโครงการ ซึ่ง  ผศ.ดร.ศรชัย ม่งไธสง อธิการบดี มร.ชร. กล่าวว่า โครงการที่มร.ชร.ได้ทำเพื่อประชาชนในเขตเชียงราย -พะเยา มากมายหลายโครงการด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาท้องถิ่น 2. ด้านการผลิตและพัฒนาครู 3. ด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา และ 4. ด้านระบบบริหารจัดการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยแต่ละโครงการนั้นได้ผลเลิศ ระหว่าง 95-100 %  การดำเนินการผ่านสำนักวิจัยและพัฒนา มร.ชร.ที่มี ผศ.ดร.จำรัส กลิ่นหนู รองอธิการบดี มร.ชร. เป็นผู้กำกับสนับสนุนในการดำเนินการ ในปี 2562 ในเขตเชียงราย-พะเยา 33 พื้นที่ตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่างๆใน 2 จังหวัด ขอยกตัวอย่างสัก 2 โครงการที่ได้ “ผลเลิศมีตัวชี้วัด” ที่ได้เสนอต่อหน้า ผู้อำนวยการจัดทำงบประมาณ (พัสฐาอรีย์  แสงเดือน ผอ.) และคณะ 5 คน เมื่อ 20-21มิ.ย. 62 พร้อมดูผลงานที่ปรากฏนอกสถานที่ด้วย

  1. โครงการ “เก๊กฮวย-อินทรีย์ สร้างชีวีใหม่” ของสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม (สพสล.) มร.ชร. ที่มี ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา เป็น ผอ. พร้อมทีมงานร่วมมือกับเครือข่าย ร.ร.สามัคคีพัฒนา และหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่สูงชายแดนไทย-เมียนมา ที่ บ้านหัวแม่คำ บ้านสันมะเค็ด ต.แม่สลองใน บ้านม้งแปดหลัง บ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมการปลูกดอก “เก๊กฮวยแบบอินทรีย์” แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจำหน่ายในท้องตลาดไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนในท้องถิ่นให้ยั่งยืน ลดการอพยพย้ายถิ่นลดการเผาป่า รักษาสภาพแวดล้อม (เดิมทำไร่ข้าวโพดและใช้สารเคมีเพื่อเกษตร) ผลปรากฏดังนี้คือชาวบ้านมีรายได้ 25,000บาท/ครัวเรือน/ปี – ผลตอบแทนต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 51 – มีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และฐานข้อมูลของ เกษตรกรผู้ปลูกเก๊กฮวย
  2. ส่วนที่ จ.พะเยา มีหลายโครงการอาชีพหลายโครงการ เช่น พบว่า  อาชีพเลี้ยงผึ้งโก๋น  กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งมีผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งโก๋นธรรมชาติ อย่างน้อย 200 ขวด คิดเป็นเงิน 50,000 บาท    อาชีพเครื่องจักรสานไม่ไผ่ พบว่าเป็นสินค้าขายได้ราคาสูงขึ้นจากเดิม และเป็นที่ต้องการ ของตลาด โรงแรมชั้นนำ และต่างประเทศและที่ ดอยหลวง-ดอยหนอก ทำการท่องเที่ยวชุมชน พบว่า พัฒนาเป็นเส้นทางเดินป่าระยะสั้นภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ระยะทางประมาณ 4 ก.ม. (ไป-กลับ) โปรแกรมทัวร์ 1 Day Trip ภายในชุมชนและผู้ด้อยโอกาสได้รับการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่าง ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.)  ช่วยเหลือประชาชนใน  2 จังหวัด ให้ผู้มีรายได้น้อยที่ลำบากยากจนในท้องถิ่น…ให้มีฐานะทางเศรษฐกิจและมี “คุณภาพชีวิตดีขึ้น” จริงๆ…

สุรพล เวียงนนท์