ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับ พ.จ.ต.ฉลอง อ่อนนวน ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน และคุณจันทร์แสง พรมสี ผู้อำนวยการหน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ที่สอบเลื่อนระดับได้ในตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการต้น สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัด
พ.จ.ต.ฉลอง อ่อนนวน เป็นที่แน่ชัดว่าจะไปดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัดลพบุรี ซึ่งน่าจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่แล้ว ส่วนคุณจันทร์แสง พรมสี ก็จ่อคิวเลือกจังหวัดที่จะไปทำหน้าที่รองศึกษาธิการจังหวัดต่อไปในเร็วๆนี้
ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของทั้ง 2 ท่าน ครับ
ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็มีการขยับสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัดหลายคน คือ นายเกรียงศักดิ์ ยอดสาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย สพป.เชียงราย เขต 1 นายมรกต อนุเคราะห์ ย้ายจากสพป.เชียงราย เขต 4 มาแทนนายจรัญ แจ้งมณี ที่ย้ายไปสพป.เชียงราย เขต 2 ถิ่นเดิม
สพป.เชียงราย เขต 3 ยังคงเป็นนายวิเศษ เชยกระรินทร์ ส่วนเขต 4 นางกัญจนา สัตตรัตนำพร ที่เลื่อนชั้นมาจาก รองผอ.สพป.มหาสารคาม เขต 1
ที่ต้องเจาะรายชื่อมาเฉพาะผู้บริหารการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็เพราะเป็นหน่วยงานมีจำนวนนักเรียนระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตลอดจนสถานศึกษาอยู่ในสังกัด 582 โรง เป็นพลวัตรขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานของจังหวัดเชียงราย ที่ต้องทำหน้าที่อบรมกล่อมเกลาให้มีคุณภาพตามหลักสูตรก่อนส่งต่อในระดับสูงขึ้นต่อไป ในระดับวิชาชีพ อนุปริญญา อุดมศึกษา
ในที่นี้หมายรวมถึงการศึกษาในหน่วยงานสถานศึกษาสังกัดศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานพระพุทธศาสนา รวมไปถึงสถานศึกษาเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
โดยรวมๆแล้วจะเห็นว่าองคาพยพของขบวนการจัดการศึกษาเชียงรายบ้านเฮามีบริบทหน้าตักก้อนมหึมาพอสมควรทั้งจำนวนคนทั้งบุคลากรครู บุคลากรทางการศึกษา จำนวนนักเรียน จำนวนสถานศึกษา ในขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็หนักแน่นในสโลแกนการทำงานว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
แปลภาษาง่ายๆก็คือ ทุกหน่วยงานการศึกษาต้องให้ความร่วมไม้ร่วมมือกันในระหว่างหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เมืองชายแดนสามแผ่นดินที่มีปัจจัยและองค์ประกอบความเป็นพิเศษผิดแผกแตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ เช่น ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา วิถีชีวิตชาติพันธ์ สภาพภูมิทัศน์ ฯลฯ
ด้วยต้นทุนบริบทจังหวัดแบบนี้แหละ การจัดการศึกษาโดยมีจังหวัดเป็นฐานในภาคส่วนของจังหวัดเชียงรายทุกหน่วยงานจึงต้องออกแรงกันแบบเต็มคาราเบล ตามตัวชี้วัดและมาตรฐานการศึกษาระดับชาติจากกระทรวงศึกษาธิการ
จังหวัดเชียงรายนอกจากจะมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นมือประสานสิบทิศแล้วยังมีศึกษาธิการภาค กำกับ ดูแลจังหวัดในคอนโทรลอีก 4 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ซึ่งปัจจุบันมีนายกวิน เสือสกุล รองศึกษาธิการ ภาค 15 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการ ภาค 16 ซึ่งมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย บริเวณที่ตั้งอาคารสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายเดิม ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลเชียงราย ใกล้กาดหลวงเทศบาลนครเชียงราย
กระจายอำนาจบริหารงานการศึกษาตั้งแต่ระดับประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านภาคการศึกษาหรือกลุ่มจังหวัด ส่งตรงลงพื้นที่จังหวัด และหน่วยงานการศึกษาอีกประมาณ 13 หน่วยงานในส่วนของเชียงราย และสถานศึกษาในสังกัดหน่วยงานต่างๆ แบบ To Way
มีกระบวนการกำกับ ส่งเสริม ติดตาม นิเทศ ประเมินผล พัฒนา ครบวงจรเดมมิ่ง
ฟังแค่นี้ก็ชวนให้ท้าทายแล้วสำหรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาเชียงราย ให้ “เรียนดี มีความสุข” โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นกองหน้าสำคัญของกระบวนการจัดการศึกษาเชียงราย ที่เป็นเขตพื้นที่พิเศษ มีลักษณะเฉพาะที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับตรรกะและปัจจัยพื้นฐานนักเรียนด้วย
คงจะด้วยเหตุผลฉะนี้กระมัง นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ว่า สำนักงานปลัดกระทรงศึกษาธิการ ได้มี “โครงการนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษา” ภาษาอังกฤษว่า Innovation For Thai Education (IFTE)
โครงการนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว นัยว่าเพื่อให้อัพเดทและเดินหน้าศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศและนวัตกรรมและการวิจัยทางการศึกษาของจังหวัดเชียงราย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในส่วนของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา กระบวนการนิเทศภายในและภายนอก
ผลงานนวัตกรรม ซึ่งเป็นงานวิจัยและเผยแพร่นวัตกรรมก็จะมีคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นหน่วยพิจารณารางวัลตามหลักเกณฑ์ โดยน่าจะมีการลงลึกในรายละเอียดต่างอีกครั้งเร็วๆนี้ ทุกหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดเชียงราย ประมาณ 13 หน่วยงาน ที่มี “ของพร้อมปล่อย” ก็เตรียมตัวได้เลย หยิบจับประกาศปีที่แล้วมาศึกษาเรียกน้ำย่อยเป็นไตเติ้ลก่อนก็ได้
โครงการนี้มีรางวัลใหญ่ทั้งเงินรางวัล โล่ เกียรติคุณบัตร แต่สิ่งทีได้เห็นมากกว่านั้น น่าจะเป็นผลงานการศึกษาวิจัยและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดเชียงรายที่สอดรับกับองค์ประกอบและบริบทจังหวัด ตามที่กล่าวเกริ่นมายาวเหยียดในพารากราฟแรกๆ
โครงการนี้ถ้ามีการสรุปผลโครงการส่งตรงถึงคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดหรือกศจ.เชียงราย ที่มีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานแล้ว ก็คงตีปี๊บได้สนั่นเมืองถึงผลสำเร็จของการ “ไปด้วยกัน” ในภาคส่วนการบริหารจัดการศึกษา
นี่แหละ คือ มรรคผลและนิยามการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ใช้พื้นที่จังหวัดเป็นฐานแบบ “เกาถูกที่คัน” อย่างแท้จริง !