ข่าว มฟล. » ม.แม่ฟ้าหลวง ตั้งศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร

ม.แม่ฟ้าหลวง ตั้งศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร

2 มีนาคม 2023
274   0

ณ เรือนริมน้ำ ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีฯ เป็นประธาน นำผู้สื่อมวลชนพร้อมเครือข่าย ร่วมกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร กับการขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสมุนไพร นำเสนอบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานและผลงานของศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรฯ นำสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมพื้นที่โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ โรงแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร และโรงงานผลิตยาสมุนไพร โดยมี ดร.พรรณรวี พรหมนารท รองอธิการบดี, ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี ร่วมกิจกรรม ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

โดยมีวัตถุประสงค์ ในการยกระดับมาตรฐาน พัฒนานวัตกรรมและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้นำการส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนการใช้และการสร้างอาชีพจากสมุนไพร โดยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีพันธกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสมุนไพร ตลอดจนสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย และงานพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประกอบด้วย 8 ห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการทางอณูพันธุศาสตร์พืช, ห้องปฏิบัติการทางเชลล์วิทยา, ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา,ห้องปฏิบัติการทางชีวภาพ, ห้องปฏิบัติการทางเคมี, ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร, ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพยาสำเร็จรูป (ยาสมุนไพร) และห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาสารสกัดสมุนไพร
  2. ด้านบริการวิชาการ ให้บริการตรวจคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร บริการตรวจวิเคราะห์ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา บริการพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ประชุมวิชาการและให้บริการวิชาการแก่สังคมด้านสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือกและ
  3. ด้านการผลิตยาสมุนไพร กำกับดูแลการปฏิบัติงานของโรงงานผลิตยาสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562) ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี GMP/PICs ครอบคลุมด้านการส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพสูง การรับซื้อวัตถุดิบ การแปรรูปวัตถุดิบ การผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร การควบคุมคุณภาพและรับรองคุณภาพยาสมุนไพรสนับสนุนการเรียนการสอนภาคปฏิบัติและการฝึกปฏิบัติงานด้านการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของนักศึกษา ตลอดจนการให้บริการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเป็นแหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในแบรนด์ “เจ้าคุณวัน” ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้แบรนด์ฯ จำนวน 13 ทะเบียนยา ได้แก่ ยาแคปซูล ตรีผลา, ยาธาตุบรรจบ, ยาแคปซูล ฟ้าทะลายโจร, ยาแคปซูล ขมิ้นชัน, ยาเขียว ชนิดแคปซูล, ยาบัวบก ชนิดแคปซูล, ยาชิง ชนิดแคปซูล, ยาประสะไพล ชนิดแคปซูล, ชาชงชุมเห็ดเทศ, ยาหม่อง บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย สูตร 2, ยาประคบ ชนิดสมุนไพรแห้ง,น้ำมันบรรเทาอาการคัดจมูกเนื่องจากหวัด สูตร 3 และ น้ำมันบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย สูตร 9

นอกจากนี้ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดเชียงราย ยังได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการปลูกขมิ้นชันปลอดโรคและให้สารสำคัญสูงในระบบชับสเตรท (Substrate culture) ภายใต้โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิต และปริมาณสารสำคัญของขมิ้นชัน พบว่าขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง 84-2 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำมาปลูกในวัสดุทดแทนดินคือกาบมะพร้าวสับ และจัดการธาตุอาหารให้เหมาะสม ทำให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่ปลอดโรค ปราศจากโรคพืช (โรครากเน่า) และให้ปริมาณสารสำคัญที่สูง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกดังกล่าวรวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีArtificial Intelligence Platform (AI Platform) ในการควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร (Smart Farmer Incubator) ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถปลูกและควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกขมิ้นชันคุณภาพสูง ตามความต้องการของตลาดได้ โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เริ่มมีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกสมุนไพรโดยเฉพาะอย่างยิ่งขมิ้นชันให้แก่เกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ และติดตามการเพาะปลูกขมิ้นซันสายพันธุ์ตรัง 1 และตรัง 84-2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร และมีคุณภาพของผลผลิตสูง เหมาะสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมยาต่อไป

ณ ปัจจุบันเกษตรกรที่ได้รับหัวพันธุ์และกำลังเพาะปลูกขมิ้นชัน จำนวน 117 ราย ซึ่งในปี พ.ศ.2566 จะมีผลผลิตคาดการณ์ประมาณ 23 ตัน เพื่อรับเข้าเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญ ในการผลิตของโรงงานผลิตยาสมุนไพร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตลอดจนผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมุนไพรต่อไป