ปักหมุดการศึกษา
ผมว่าวงการศึกษาบ้านเราเชียงรายนี้ออกจะคึกคักนะครับ มีกิจกรรมขับเคลื่อนที่เป็นกลุ่มก้อนให้ได้จับต้องและชื่นชมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ฯลฯ
ล่าสุดหมาดๆ ผมได้รับหมายแจ้งจากคุณวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ว่า เทศบาลนครเชียงรายได้ลงนามใน MOU ร่วมกับเทศบาลเมืองระยอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองทางด้านการศึกษา การท่องเที่ยว และด้านอาหารปลอดภัย
ผลงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการศึกษา จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงรายได้รับมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะการันตีถึงวิสัยทัศน์และผลงานการบริหารการจัดการศึกษาที่จับต้องได้เป็นอย่างดี
เรียกว่าขึ้นชื่อโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ก็น่าจะติดแบรนด์ทันสมัยทันสมอง ถูกอกถูกใจบรรดาผู้ปกครองเด็กๆที่ส่งลูกหลานมาพัฒนาไอคิว อีคิว องค์ความรู้ และทักษะเสริมต่างๆในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลนครเชียงรายได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปจับไม้จับมือกับเทศบาลเมืองระยองขยายเพดานบินไปทางระเบียงจังหวัดกลุ่ม EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นการพัฒนากลุ่มจังหวัดทางตะวันออก ทั้งด้านกายภาพและสังคม โอกาสทองของเด็กเชียงรายที่จะหูตากว้างไกล มีองศาการกระจายแหล่งเรียนรู้กางปีกบินสูงใกล้ชิดแหล่งสร้างเสริมประสบการณ์จริงและชัดเจนก็ยิ่งมากแอเรียและหลากหลายเทคโนโลยีการเรียนรู้
ก็ต้องคารวะและซูฮกกันตรงๆ ใครว่าเชียร์กันแบบออกหน้าออกตาเกินไปก็ไม่สนใจครับ ศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นให้มากกว่านักการเมือง ยิ่งจับงานด้านการศึกษาเป็นวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองด้วยแล้ว มันหาได้ง่ายๆซะเมื่อไหร่ในสังคมผู้บริหารสายการเลือกตั้ง
ผมในฐานะคอการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศก็ต้องปรบมือให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะตามไปดูแบบหายใจรดต้นคอมารายงานประชาชนคนเชียงรายตามกรรมตามวาระต่อไป
เรื่องการมีส่วนร่วมทางด้านการศึกษาตามนโยบายของนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ซึ่งผมถือว่าเป็นต้นน้ำที่สำคัญของความสำเร็จสมบูรณ์ตามดัชนีชี้วัดการพัฒนาจังหวัดทางด้านสังคมและการศึกษา
ชั่วโมงนี้ การมีส่วนร่วมทางด้านการศึกษาในพื้นที่เชียงรายก็มีคำว่า“อส.ศธ.”ปรากฏขึ้น !
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของบุคลากรทางการศึกษาทุกหน่วยงานในสังกัดที่เกษียณอายุราชการหรือออกนอกระบบไปตามเหตุตามผลเฉพาะตน เพราะแค่ละคนต่างก็มีต้นทุน มีประสบการณ์ มีผลงานด้านการพัฒนาการศึกษาที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้
เรียกว่าเป็นคลังสมองที่ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนนอนก้นก็รังแต่จะตายซากสะสม เสียดายคุณค่าและฝีไม้ลายมือ ความคิดอ่านต่างๆที่ท่านเหล่านั้นสร้างสรรค์ ให้ลูกศิษย์ลูกหามาทั้งชีวิต
ชื่อของ “อาสาสมัคร กระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.)” จึงปรากฏขึ้นในเสมาพิภพ โดยนายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ได้ขยายความเล่าว่า บุคลากรเกษียณอายุราชการที่มีอายุอานามมากว่า 60 ปี ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์นั้น ในจังหวัดเชียงรายมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งหลังจากที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายได้กระจายข่าวรับสมัครออกไปและเปิดรับสมัครทั้งทางเอกสารกรอกใบสมัครและออนไลน์ ผลปรากฏว่า พากันมาสมัครอย่างคึกคักเหนือความคาดหมาย ตั้งเป้าไว้ในเฟสแรก 60 คน ผลปรากฏว่า ทะลุเป้าหมาย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้อาวุโสอดีตข้าราชการในวงการศึกษาของจังหวัดเชียงรายที่ประสงค์เข้ามามีส่วนร่วมทำงานพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีอยู่ไม่ใช่น้อย
ทั้งทีไม่มีเงินเบี้ยเลี้ยงอะไรเป็นค่าตอบแทน เรียกว่าจิตอาสานำพาการศึกษาเชียงรายสู่อนาคตตามที่ประเทศชาติพึงประสงค์อย่างแท้จริง
นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ขยายความต่อว่า โดยหลักการตามบทบาทของอส.ศธ. เบื้องต้นนี้ก็คือการช่วยสอนให้แก่นักเรียน หรือผู้คนในท้องถิ่นที่ยังมีความสามารถด้านการฟัง พูด อ่าน เขียนไม่ได้ตามมาตรฐาน หรือยังมีปัญหาอยู่ ไปจนถึงทักษะอาชีพเสริมต่างๆตามที่ผู้ประสงค์เรียนจะใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่ศึกษาเพิ่มเติม
บุคลากร อส.ศธ.เหล่านี้ก็จะเข้าไปช่วยต่อยอดและเติมเต็มตามความต้องการของประชาชนและผู้เรียนให้สามารถยกระดับได้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เป็นสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
อย่างนี้ไง…ผมถึงบอกจริงๆแล้ว การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของจังหวัดเชียงรายนั้นคึกคัก เข้มข้น เร้าใจ กระบวนการหลากหลาย เป้าหมายชัดเจน
ตัวอย่างการเกิดขึ้นของอาสาสมัคร กระทรวงศึกษาธิการ หรือ อส.ศธ.จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่างรูปแบบหนึ่งของการที่จะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของภาคประชาสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษานอกประจำการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในรูปแบบอาสามัคร กระทรวงศึกษาธิการ ในรูปแบบนี้ หากจังหวัดเชียงรายโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายจะชูธงให้เป็นนวัตกรรมการพัฒนาการศึกษาเฉพาะพื้นที่เชียงราย ขยายผลให้มั่นคงเป็นระบบ ยืนยาว เพราะครูเกษียณมีทุกปี ก็น่าจะรังสรรค์คุณูปการให้แก่วงการศึกษาเชียงรายได้อย่างโดดเด่น เป็นเกียรติภูมิงานด้านการศึกษาเชียงรายได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจะเกษียณอายุราชการไปในปี 2566 นี้ก็ตาม
แต่ อส.ศธ. จ.เชียงราย จะยังคงบทบาทกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงรายตลอดไป….ดีไหมครับท่าน !