คอลัมน์ » คุยกับ… ดร.ปรีชา

คุยกับ… ดร.ปรีชา

2 มีนาคม 2023
112   0

  1. ความกตัญญูรู้คุณผู้สูงอายุ

ความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาเป็นสิ่งที่คนใจสังคมไทยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม และถือเป็นคุณสมบัติของคนไทย ความกตัญญูรู้คุณแสดงออกด้วยการที่ลูกหลานปรนนิบัติเลี้ยงดูพ่อแม่ เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากจากที่สมาชิกในครอบครัวอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยายหรืออาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน กลายมาเป็นสังคมแบบใหม่ที่ลูกหลานบางส่วนต้องละทิ้งไร่นาและภูมิลำเนาออกไปทำงานต่างถิ่น ประกอบกับเด็กสมัยปัจจุบันได้รับการศึกษาสูงขึ้นได้รับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกมากขึ้น คณะผู้วิจัยต้องการทราบว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อค่านิยมเรื่องความกตัญญูรู้คุณหรือไม่จึงตั้งคำถามว่า “ท่านคิดว่าความกตัญญูรู้คุณบิดามารดายังเป็นคุณสมบัติของคนไทยหรือไม่” โดยให้ผู้สูงอายุอธิบายและยกตัวอย่าง ตามความคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นตามการรับรู้ของตัวผู้สูงอายุเอง

เมื่อขอให้ผู้สูงอายุแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ผลจากการสัมภาษณ์พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่านิยมในเรื่องความกตัญญูรู้คุณยังเป็นคุณสมบัติของคนไทย เป็นสิ่งที่ดี ที่ประเสริฐ สมควรอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีอยู่ต่อไป เพราะพ่อแม่เป็นผู้มีบุญคุณสูงสุด ลูกๆ ควรต้องให้ความเคารพ ช่วยเหลือ ดูแล และพูดจาด้วยดีๆ ผู้สูงอายุได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าความกตัญญูรู้คุณเป็นมงคลชีวิตช่วยให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง เป็นการแสดงถึงความรักที่มีต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นคุณธรรมและสิ่งประเสริฐหาอะไรมาเปรียบมิได้ เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้สูงอายุบางท่านเปรียบว่าพ่อแม่เสมือนพระผู้ประเสริฐ บางท่านเปรียบว่าพ่อแม่เสมือนพระพรหมของลูก ต้องเคารพกราบไหว้ บางคนพ่อแม่อยู่บ้านไม่สนใจ กลับไปไหว้พระไกลๆ แต่พระที่บ้านไม่เคยไหว้เลย คนที่ไม่กตัญญูพ่อแม่เปรียบเหมือนพวกฆ่าพ่อฆ่าแม่ เป็นคนเลว คนบาป ทำอะไรก็จะไม่ได้ดี

ผู้สูงอายุรายหนึ่ง ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจารีตประเพณีของสังคมไทยที่ยังคงยึดถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ผู้ที่ฝ่าฝืนจารีตดังกล่าวจะได้รับการลงโทษจากคนในสังคม “…คนเนรคุณพ่อแม่โดยมากจะมีอันเป็นไป ความเป็นอยู่ไม่ดี ทำมาหากินไม่รุ่งเรือง กรรมเดี๋ยวนี้ตามทันในชาตินี้ คนละแวกนี้ก็มี ถือตัวว่าข้าดี ผู้ใหญ่ตักเตือนไม่เชื่อฟัง ชาวบ้านรังเกียจ ไม่อยากพูดคุยด้วย”

เมื่อขอให้ผู้สูงอายุอธิบายและยกตัวอย่างเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาในสภาพเป็นจริง ตามการรับรู้ของผู้สูงอายุสามารถแบ่งคำตอบได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. ความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ยังคงมีอยู่แต่ลดน้อยลง

จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้สูงอายุเกือบครึ่งมีความเห็นสอดคล้องกันว่าปัจจุบันความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ยังคงมีอยู่แต่ลดน้อยลงเป็นบางคนเท่านั้นที่ยังกตัญญูรู้คุณ โดยประเมินจากครอบครัวตัวเอง ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและดูจากในโทรทัศน์ รวมทั้งเปรียบเทียบกับสมัยที่ตัวเองยังเป็นหนุ่มสาว โดยให้เหตุผลว่า

  1. เด็กสมัยนี้ดื้อไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนไม่รู้จักเอาใจพ่อแม่
  2. เด็กสมัยนี้ชอบพูดจาดูถูกคนแก่ ปากจัด ด่าพ่อ ด่าแม่
  3. เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยช่วยเหลือพ่อแม่ไม่ช่วยทำงานบ้าน
  4. เด็กสมัยนี้ไปไหนไกลๆ ไม่คิดถึงพ่อแม่ ไม่กลับมาหามาเยี่ยม มีแต่พ่อแม่ที่เป็นฝ่ายคิดถึงลูก
  5. เด็กสมัยนี้หวังแต่สมบัติ บางคนพอพ่อแม่แบ่งสมบัติให้แล้วไม่ยอมเลี้ยงดู
  6. เด็กสมัยนี้บางคนก็กตัญญู บางคนก็เนรคุณ
  7. ลูกบางคนไม่บวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่

ผู้สูงอายุกลุ่มที่เห็นว่าเด็กสมัยนี้กตัญญูรู้คุณพ่อแม่ลดน้อยลงได้ให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาว่าเกิดจากประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. สภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับสังคมตะวันตกที่ตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกัน สมัยก่อนถ้าเป็นครอบครัวไทยลูกสาวจะอยู่บ้านคอยดูแลพ่อแม่ ส่วนครอบครัวจีนลูกชายคนโตจะให้สะใภ้ดูแลพ่อแม่ แต่สมัยนี้ทุกคนต้องออกไปทำงานนอกบ้านไม่ได้อยู่ใกล้ชิด ไม่ได้ดูแลกันเหมือนเดิม มีผู้สูงอายุรายหนึ่งให้เหตุผลว่า การที่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้เรื่องความกตัญญูเป็นเพราะไม่ได้กินนมคน กินแต่นมวัว นมกระป๋อง
  2. การศึกษาเปลี่ยนแปลงไป การที่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักความกตัญญูเป็นเพราะไม่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม ทำให้ไม่อยู่ในกรอบประเพณีที่ดี ประกอบกับเด็กสมัยนี้ถือว่าตนเรียนมากรู้มากกว่าพ่อแม่จึงไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งสอน ระบบการศึกษาจึงเป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมได้
  3. สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด ทำให้ลูกไม่สามารถส่งเงินมาให้หรือเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ เพราะเขามีภาระลูกเมียที่ต้องเลี้ยงดูนอกจากนี้บางครอบครัว สามี/ภรรยาของลูกก็ไม่เต็มใจที่จะแบ่งเงินมาให้
  4. ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู คนที่พ่อแม่สอนมาดี พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีก็จะรู้จักความกตัญญู ส่วนคนที่พ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอนหรือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ก็จะไม่รู้จักกตัญญูรู้คุณ
  5. ขึ้นอยู่กับนิสัยหรือจิตใจของแต่ละบุคคล บางคนก็ดีคอยดูแลพ่อแม่ บางคนไม่เคยดูแลเลย อาจเป็นเพราะคนสมัยนี้บวชเรียนไม่นาน แค่ 3 วัน 7 วัน หรือบางคนไม่ได้บวชเลยทำให้ไม่ซาบซึ้งเกี่ยวกับคุณธรรมในข้อนี้ โดยเฉพาะคนที่กินเหล้า กินยาม้า ติดยาเสพติดมักจะไม่ค่อยกตัญญูต่อพ่อแม่
  1. ความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ยังคงเป็นคุณสมบัติของคนไทยเช่นเดิม

            สำหรับผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งประมาณหนึ่งในสี่ เห็นว่าปัจจุบันความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะพ่อแม่เลี้ยงเขามาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย เขาก็ย่อมคิดถึงบุญคุณของพ่อแม่ ทำดีกับเราตอบแทน ผู้สูงอายุได้กล่าวถึงการกระทำที่แสดงถึงการกตัญญูรู้คุณไว้หลากหลาย สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ปีใหม่ สงกรานต์ลูกหลานจะมารดน้ำดำหัว มากราบไหว้พ่อแม่
  2. ลูกหลานเคารพยกย่องเชื่อฟังคำสั่งสอน มีเรื่องอไรก็มาปรึกษา มาขอคำแนะนำ
  3. ลูกหลานซื้อของกินของใช้มาฝาก ให้เงินใช้
  4. ลูกห่วงใย คอยดูแลเอาในใส่ ช่วยเหลือ
  5. ลูกบวชทดแทนคุณพ่อแม่ สมัยนี้ลูกผู้หญิงก็บวชชีพราหมณ์ให้พ่อแม่ได้

ผู้สูงอายุได้ให้ข้อแนะนำในการที่จะทำให้ลูกหลานยึดถือความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างโดยยกตัวอย่างประเพณีการรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ว่าผู้หลานเมื่อเห็นตัวอย่าง โดยยกตัวอย่างประเพณีการรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ว่าลูกหลานเมื่อเห็นตัวอย่างการรดน้ำดำหัวเป็นสิ่งที่ดี เป็นการแสดงความกตัญญูก็ทำตามกัน เป็นสัญลักษณ์ที่ดี นอกจากนี้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ควรต้องอบรมสั่งสอนปลูกฝังให้ลูกหลานยึดถือคุณธรรมข้อนี้ด้วย

ลักษณะท่าทีและการแสดงออกระหว่างลูกหลานที่กตัญญูกับไม่กตัญญู

ลูกหลานที่กตัญญู

  1. เคารพยกย่อง เชื่อฟังคำสั่งสอน พูดดีด้วย ยกมือไหว้
    2. ดูแลเอาใจใส่ มาดูแลยามเจ็บป่วย
    3. มาเยี่ยม ปีใหม่/สงกรานต์กลับมารดน้ำดำหัว
    4. บวชทดแทนคุณให้พ่อแม่
    5. ให้เงินใช้
    6. ซื้อของกินของใช้มาให้
    7. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว

ลูกหลานที่ไม่กตัญญู

  1. ไม่เคารพยกย่อง ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ด่าว่าพ่อแม่
    2. ไม่สนใจ ไม่ดูแลพ่อแม่
    3. ไม่มาเยี่ยมเลย ทอดทิ้ง
    4.ไม่บวชให้พ่อแม่
    5. ไม่ให้เงิน คิดแต่จะเอาสมบัติพ่อแม่ 

ผู้สูงอายุที่มีความเห็นแตกต่างไปจากข้างต้น ประมาณหนึ่งในสี่ของทั้งหมดเห็นด้วยว่าความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา ยังเป็นคุณสมบัติของคนไทยแต่ส่วนใหญ่จะไม่บอกเหตุผลหรืออธิบายเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมีเพียงบางคนที่อธิบาย แต่ไม่สามารถแยกออกได้อย่างชัดเจนว่าปัจจุบันความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ โดยให้คำตอบหลากหลายพอสรุปได้ดังนี้

  1. ความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาเป็นคุณสมบัติของคนไทยแต่ต่อไปในอนาคตไม่รู้แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร
  2. ที่บ้านของตนลูกหลานกตัญญูรู้คุณพ่อแม่แต่ไม่รู้ว่าครอบครัวอื่นลูกหลานเขาจะกตัญญูหรือไม่
  3. สังคมบ้านนอกยังยึดถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณ แต่ไม่รู้ว่าสังคมอื่นจะยังยึดถือหรือไม่

ผลจากการศึกษาในเรื่องความกตัญญูรู้คุณนี้ ส่วนใหญ่ยังตอบว่าความกตัญญูยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่อาจลดน้อยลงไปตามกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่มีความมั่นใจว่าในสังคมชนบทยังคงจะมีอยู่ต่อไป สังเกตจากประเพณีรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์หรือลูกหลานที่ยังคงเลี้ยงดูพ่อแม่ ที่อยู่ห่างไกลก็กลับมาเยี่ยมเยียน มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่มา อ้างว่ามีงานมากไม่มีเวลาต้องทำมาหากิน การส่งเสริมให้ลุกหลานมีความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดีเพราพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณที่จะต้องตอบแทนคนที่ไม่ทดแทนบุญคุณถือเป็นบาปและไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง