ข่าวหน้าหนึ่ง » 50 ปี ม.ราชภัฏชร. จัดใหญ่ให้ดูฟรี! โขนหลวงพระราชทาน ครั้งแรกในชร.พลาดแล้วจะเสียใจ

50 ปี ม.ราชภัฏชร. จัดใหญ่ให้ดูฟรี! โขนหลวงพระราชทาน ครั้งแรกในชร.พลาดแล้วจะเสียใจ

7 กุมภาพันธ์ 2023
296   0

50 ปี ม.ราชภัฏชร. จัดใหญ่อลังการ “โขนหลวงพระราชทาน” – รามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ชี้เป็นครั้งแรกที่คณะจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง กทม.ยกคณะจัดแสดง”โขนฯ”นอกสถานที่และครั้งแรกของชาวเชียงราย-ใกล้เคียงจะได้ชมนาฏศิลป์-ศิลปะชั้นสูง มรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ยูเนสโกรับรองแล้ว นับเป็นบุญตาคนเชียงรายจะได้ดูฟรีๆ! ที่ลานกลางแจ้งศาลากลางเชียงราย 14-15 ก.พ.นี้ เริ่มแสดง 1 ทุ่ม ชวนแต่งชุดไทยย้อนยุค, พื้นเมืองล้านนา, ชาติพันธุ์, หรือ เอาที่สบายใจ เผยภูมิหลังย่อๆ 50 ปี มหา’ลัยในอดีต-วันนี้ ที่น่าทึ่ง!

            ผศ.ดร. ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ มร.ชร. มีอายุครบรอบ 50 ปี หรือ “กึ่งศตวรรษ มร.ชร.” โดยทางมหาวิทยาลัยฯมีกำหนดการในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี ตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง “กึ่งศตวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” และเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติภูมิต่างๆที่มีต่อประชาชนภาคเหนือและภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกลุ่มประเทศในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ เขต GMS

            “ในห้วง 50 ปีที่ผ่านมา มร.ชร.มีบทบาทในการพัฒนาในด้านการศึกด้วยในบางเมืองที่สำคัญๆ ของเขต GMS นี้ กิจกรรมเฉลิมฉลองครั้งนี้ของ มร.ช. มีทั้ง นิทรรศการ ประชุมทางวิชาการ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชน การพบปะสังสรรค์ศิษย์เก่า และงานการกุศลต่างๆ บางอย่างก็ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่สำคัญคือ ในวันที่ 14 และ 15 ก.พ.’66 นี้ ทาง มร.ชร.จะจัดแสดงละครกลางแจ้ง โดยคณะจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง กทม. คือ การแสดง ‘โขนหลวงพระราชทาน’ เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ที่เป็นศิลปะชั้นสูง และยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ยูเนสโกรับรองแล้ว ณ ลานบริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย (หลังใหม่) ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยจะจัดให้ชม “ฟรี” ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่อยู่ในตัวเมืองเชียงรายและใกล้เคียงได้รับชมเป็นขวัญตา และเป็นครั้งแรกของไทย ที่คณะจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง กทม. จะได้จัดการแสดงนอกสถานที่เป็นครั้งแรกของไทยที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการแสดงที่ประชาชนทั่วไปหาดูได้ยาก จึงขอเชิญชวนชมการแสดง ‘โขนหลวงพระราชทาน’ ดังกล่าวโดยทั่วกัน” อธิการบดี กล่าว

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ภูริพัฒน์ แก้วศรี และ ผศ.ดร.นาวิน พรมใจสา ผช.อธิการบดี ฐานะผู้ประสานงานและรับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ ในงาน ครบรอบ 50 ปี มร.ชร. ครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า การที่ มร.ชร.นำ ‘โขนหลวงพระราชทาน’ เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” มาแสดงให้ชาวเชียงรายชมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ รัชกาลที่ 9 และด้วย ซึ่งพระองค์เป็นผู้พระราชทานชื่อ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ให้แก่ มร.ชร.ด้วย เมื่อปี 2535 การแสดง “โขนหลวงฯ” นี้จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในหลายๆกิจกรรมของจัดขึ้นในการเฉลิมฉลอง 50 ปี มร.ชร.ครั้งนี้ ผศ.ดร.ภูริพัฒน์ กล่าว

            อนึ่ง ปี พ.ศ.2552 มูลนิธิศิลปาชีพฯ ระบุในเว็บไซต์ ว่า ได้จัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ ขึ้นอีกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนขึ้นทุกปี จึงเป็นที่มาให้คนทั่วไปเรียกชื่อการแสดงโขนนี้ว่า “โขนพระราชทาน” ในปีต่อๆ มา การอนุรักษ์ ‘โขน’ เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความสำคัญด้วย

เผยผู้จัด “โขนหลวงฯ” ครั้งแรกที่เชียงราย

           ผศ.ดร.ภูริพัฒน์ ฐานะผู้กำกับสนับสนุน “หอปรัชญา รัชกาลที่ 9” ซึ่งตั้งอยู่ใน มร.ชร.และผู้ประสานงานงานนี้ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.คณะกรรมการจัดงาน ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการแสดงโขนฯไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด ก. มหาดไทย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดี มร.ชร. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบ.จ. เชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คุณนฤมล ล้อมทอง กก.ผจก.โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง และ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้กำกับการแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง โดยการแสดง ‘โขนหลวงพระราชทาน’ เรื่อง รามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ที่ลานบริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย ครั้งนี้นับได้ว่าเป็นงานสำคัญครั้งแรกของจังหวัดเชียงราย และ มร.ชร.เป็นอันมาก ในรอบ 50 ปี 

เปิดปูม 50 ปี ม.ราชภัฏชร…น่าทึ่ง !

            เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2516 รัฐบาล สมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ และ ครม.ยุคนั้นประกาศจัดตั้งวิทยาลัยครู(วค.) ใหม่เพิ่มอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย วค.เชียงราย วค.เพชรบูรณ์ วค.กำแพงเพชร วค.เลย วค.สุรินทร์ วค.กาญจนบุรี และวค.สุราษฎร์ธานี และยังแต่งตั้งให้ อาจารย์ บัณฑิต วงษ์แก้ว จาก วค.มหาสารคาม เป็น ผู้อำนวยการ(ผอ.) คนแรก ของวค.เชียงรายด้วย ซึ่งได้นำ แรงงานนักการภารโรงชายชุดแรก จาก จ.มหาสารคาม 9 คน เดินทางมายังจ.เชียงราย เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2516 ซึ่งเป็นชุดบุกเบิกในปี 2517 ต่อมามีนักการฯมาเพิ่มอีกรวมทั้งอาจารย์ที่มาช่วยราชการอีก 7 คน มาร่วมบุกเบิกรวมทั้งผอ.เป็น 8 คน มาร่วมบุกเบิกสถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ปัจจุบันของ ม.ราชภัฎเชียงราย มาร่มวางแผน จัดโซนนิ่งต่างๆ พร้อมประสานงานขอความร่วมมือจากผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านรวมทั้งส่วนราชการมาช่วย บุกเบิก ตัดถนน หลายสายบนพื้นที่แห่งนี้ที่ชาวบ้านเรียกชื่อใหม่กันว่า “ดอย วค.” พร้อมมีการสร้างเพิงชั่วคราวมุงด้วย “หญ้าคา” เพื่อเป็นสถานที่เรียนหนังสือ ชาวบ้านเรียกว่า “ผามควาย” หรือ “ตูบ” ซึ่งมีพื้นที่ ราว 1,850 ไร่ ที่ได้จากการบริจาคของชาวบ้านอีกหลายส่วนเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นพื้นที่ภายใน และถนนสายหลักหน้าป้ายทางเข้า วค. (มร.ชร.)ที่เชื่อมกับถนนสาย อ.เมือง-อ.แม่จัน-แม่สาย ในปัจจุบัน 

3 ยุคจาก วค.-สถาบัน-ม.ราชภัฏชร.

(1.) ยุควิทยาลัยครูเชียงราย (2516 – 2527) ปี 2528 ได้รวมกลุ่มร่วมมือทางวิชาการ กับวค.4 แห่งในเขตภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย วค.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และ วค.อุตรดิตถ์ เรียก “สหวิทยาลัยล้านนา” (โดยให้วค.แต่ละแห่งต่อท้ายป้ายชื่อของวค.ต่างๆ ด้วย เช่น สหวิทยาลัยล้านนา เชียงราย (ตามข้อบังคับสภาฯ 2528) สามารถเปิดสอน ป.ตรี สาขาต่างๆ ได้ตามศักยภาพแต่ละวค.

(2.) ยุคสถาบันราชภัฏเชียงราย เริ่มมีตึกเรียนใหญ่ๆ และตึกสำนักงานต่างๆ มากขึ้น วันที่ 14 ก.พ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ‘ร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้เป็น “สถาบันราชภัฏ” เปิดสอนป.ตรี-เอก (เริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล) และในปี 2538- 2539 รัฐบาลสมัย นายบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกรัฐบมนตรี ครม.มีมติให้ยกระดับ สถาบันราชภัฏเชียงราย เป็น “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าฯหลังจากได้สวรรคตไปแล้ว ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยมีการเตรียมการต่างๆที่ราชภัฏเชียงราย … แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนตาม ในที่สุด ม.แม่ฟ้าหลวง ก็แยกไปตั้งที่ใหม่ ดังที่ทราบกันแล้ว

(3) ยุคมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในปัจจุบัน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือ เมื่อ 10 มิ.ย. 2547 ประกาศให้ “สถาบันราชภัฏ” เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล มีภารกิจหลักสืบทอดมาจากวค.และ สถาบันราชภัฏ.ที่ต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ ปัจจุบัน เปิดสอน ป.ตรี โท และเอก หลายสาขา จาก 15 คณะ/สำนักวิชา ล่าสุด 2566 รับสมัครและ จะเปิดสอน “คณะพยาบาลศาสตร์” สนใจสมัครได้ สนใจดูที่ www.crru.ac.th