ช่วงกลางเดือน พ.ค.’63 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)มีนโยบายให้ทุกโรงเรียนในสังกัด ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม กศ.น.และอาชีวะ ทุกแห่ง เปิดการเรียน “ออนไลน์” (ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ออน(แอร์)ทีวี และ ออนไซต์ (ถิ่นที่ตั้งที่อยู่) ไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ด้านทีวีก็ออนแอร์ ในช่องฟรีดิจิทัลทีวี 17 ช่อง ที่เปิดขึ้นมาโดยเฉพาะ จาก ช่อง 37-53 เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV หรือ Distance Learning Television โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุมทุกระดับชั้นดังกล่าว เริ่มออกอากาศ 18 พ.ค.เป็นต้นมา ในระบบ SD ทางช่องหมายเลข 37-53 กสทช. ภายใต้สโลแกนที่บ่งบอกถึงความสำคัญว่า “โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” ซึ่งเป็นการใช้วิกฤติจาก “ภัยโควิด-19” นี้ให้เป็นโอกาส เพราะในปัจจุบันนี้ประเทศไทยกำลังมีประสบกับโรคระบาดร้ายดังกล่าว หากปล่อยให้มีการเปิดภาคเรียนเป็นแบบปกติแล้ว เกรงว่าทั้งนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อและระบาดใหญ่อีกต่อไป ซึ่งเป็นการสร้างพลังบวกทางปัญญาให้กับนักเรียน นักศึกษาและยาวชนทั่วไปด้วยในห้วงเวลา ขณะรอการเปิดเทอมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากรัฐบาลในการควบคุมโรคฯ
อย่างไรก็ตาม การเรียนทดลองเรียนทางออนไลน์ ออนทีวี ที่ว่านี้ทางรัฐบาลก็บอกว่าเป็น “การทดลองเรียนชั่วคราว” เท่านั้นในห้วงโควิดฯระบาดเวลานี้ โดยมีแผนจะเปิดเรียนจริงๆ อย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ก็จะเริ่ม 1 ก.ค.’63 เป็นต้นไป (รัฐบาลเชื่อว่าการระบาดของภัยโควิด-19 จะซาลงไปแล้วจนปลอดภัย) แล้วค่อยเลื่อนวันปิดภาคกันออกไป ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนครบเวลาตามหลักสูตร ผ่านครูผู้สอนที่ห้องเรียนเป็นปกติเหมือนเดิม
การเปิดเรียนทางออนไลน์ ออนทีวี วันแรก ทำเอาโกลาหล มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันระงมทั้งประเทศ ตามที่เป็นข่าวทางโซเชียลฯ ทำเอา ศธ.และทีมงานรับไปเต็มๆ กับคำครหา ต่างๆ จากปัญหาที่เกิดขึ้น มาถึงวันนี้ คิดว่าทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องคงจะปรับตัวกันได้แล้ว ซึ่งก็ต้องอดทนกันไปอีกสักระยะเชื่อว่าจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ทุกอย่างคงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
เหตุเพราะประเทศไทยผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่อยู่ในต่างจังหวัดเรายังโดยไม่คุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ ออนทีวี ไม่เหมือนเด็กๆ ในต่างประเทศ ที่เขาคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์และรายการทางทีวีที่ให้ความรู้ต่างๆ ในโลกกว้าง อาจตื่นเต้น ตื่นตูม ไปบ้าง เพราะต้องมีภาระในการใช้จ่ายและต้องลงทุนบางอย่างด้วย เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจตลอดจนมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงของสังคมไทยนั่นเอง…
คนเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่.. “มนุษย์เราทุกคนกลัวความเปลี่ยนแปลง..แต่หากเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแล้ว…สิ่งนั้นๆ ที่เรากลัว…มันก็จะมาบังคับให้เราเปลี่ยนแปลงตนเองในที่สุด” อย่างเช่น การลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จากรัฐ เป็นต้น เพราะทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต หรือ internet of things ( iot) ทั้งสิ้น
การเรียนรู้ผ่านออนแอร์ (ทีวี) ออนไลน์นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับ “ออนเรา” (ตัวผู้เรียน) เป็นสำคัญด้วย เพราะมันเป็นวิธีการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่ฝึกฝนให้ตัวเราเอง หรือผู้เรียน มีระเบียบ วินัย รับผิดชอบ ตรงต่อเวลา บริหารจัดการเวลาเป็น โดยอัตโนมัติอย่างไม่รู้ตัว เพราะทุกๆ อย่างย่อมจะเริ่มต้นจากวัยเยาว์ทั้งนั้น กว่าจะเติบโตเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ” ในอนาคตต่อไป…ผู้ปกครองและนักเรียนวันไหนๆ อย่าเพิ่งปฏิเสธโอกาสทองอย่างนี้เพื่อเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลในอนาคตเพราะทุกๆ อย่างมันถูกดิสรัปท์ด้วยเทคโนโลยีไปแล้ว….
การเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ในยุคแรกๆ ก่อนที่พัฒนามาเป็น “การเรียนออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต” ที่ปรากฏอยู่แพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งหลายในโลกยุคดิจิทัลขณะนี้นั้น ก็เริ่มต้นมาจาก การสอนที่เรียกว่า “การสอนผ่านคอมพิวเตอร์ช่วยสอน” หรือ “การเรียนการสอนแบบ ซี.เอ.ไอ.” (Computer- Assisted Instruction : CAI หรือ Computer – Aided Instruction ก็เรียก) ซึ่งเป็นแบบออฟไลน์ (off line – Stand alone) ผ่านการเรียนจากแผ่น CD DVD เป็นหลัก มี บทเรียน แบบฝึกหัด คำถาม คำตอบ มีการให้คะแนน วัดผล พร้อมในทันที มีกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว คลิป มัลติมีเดีย ประกอบ มีการโต้ตอบกับผู้เรียน (interactive) พร้อมโปรแกรมการเรียนการสอนที่เป็นพระเอกในช่วงนั้นชื่อ Macromedia Authorware ที่ผู้เรียน บรรดาครู อาจารย์ทั้งหลายในยุคเมื่อ 20 ปีที่ผ่านรู้จักกันดี การเรียนการสอนออนไลน์ที่บ้าน ที่ทำงาน จึงมิใช่เรื่องใหม่ที่น่ากังวล…แต่อย่างใด ผู้เขียนก็เคยสอนนักศึกษามาแล้วหลายยุค …หลายโปรแกรมฯ
มาจนปัจจุบัน ก่อนทีจะมีการพัฒนามาเป็น “ออนไลน์” บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไร้ขอบเขตอย่างทุกวันนี้และมีโปรแกรมต่างๆ พัฒนาให้ที่ทันสมัยกว่า แต่หลักการยังคงเดิม ที่ตามมาก็คือมีแหล่งความรู้สารพัด ที่หลากหลาย (Vareity) สุดคณาอย่างที่ทุกๆ คนที่มีสมาร์ทโฟนได้เข้าถึงในปัจจุบันที่หลายคนเรียกว่า ห้องสมุดโลก
จะกังวลและตื่นเต้น และเครียดไปไย..ในปัจจุบันแม้แต่ เด็กๆ 2 – 3 ขวบ และอนุบาล และนักเรียนนักศึกษา ส่วนใหญ่ ยังสามารถเข้าถึง “การเล่นฯออนไลน์” ได้แล้ว ผ่านสมาร์ทโฟนที่ผู้ปกครองซื้อให้เล่น ..เพียงแต่ว่าเราจะสามารถเลือก บริหารจัดการทรัพยากรทางปัญญาที่ล้ำเลิศเหล่านี้ที่อยู่ในโลกได้อย่างไร…ในอนาคตเราก็จะภาคภูมิใจ ปีติ ซาบซึ้งใจ (ออนซอน-ภาษาอีสาน)ในความเก่ง กับความสำเร็จของลูกหลานเราในอนาคตซึ่งมาจากการเริ่มต้นเรียนรู้ในทางที่ดี…
…นี่คือวิถีของคนรุ่นใหม่รุ่นลูกหลานของเราจะต้องเรียนรู้และต้องอยู่กับมันและ…นำมันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในโลกที่กำลังถูก “ดิสรัปท์” ในยุคดิจิทัล…อย่างทุกวันนี้… ที่แม้แต่การเรียน การสอน การทำงาน ก็มี การ “เวิร์ค ฟอร์มโฮม – เวิร์คฟอร์มหอฯ” กันทั้งนั้น…!!?