ตอนที่ 26
(1) สถานการณ์อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดพะเยา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดพะเยาเพื่อหาแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหารในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ยุทธศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร ในปัจจุบัน จังหวัดพะเยามีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและการค้าการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้มีการกำหนดกลยุทธ์ แนวปฏิบัติ โครงการ และงบประมาณในแผนพัฒนาจังหวัดไว้แล้ว
- ผลิตผลทางการเกษตร จากข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดพะเยา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพต่อการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตข้าว ลำไย ลิ้นจี่ ที่มีปริมาณการผลิตมาก และอยู่ในระดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตบางส่วนมีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ มีการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างซึ่งมีปริมาณการใช้ค่อนข้างสูง เนื่องมาจากการดื้อยาของโรคระบาดทางด้านเกษตร รวมถึงการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรที่เพียงพอ และคุณภาพของดินที่เสื่อมคุณภาพอันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีและการขาดการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าของสินค้าและทำให้มีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
- สภาวะแรงงาน ข้อมูลด้านสภาวะแรงงานของจังหวัดพะเยา แสดงให้เห็นว่า ประชากรของจังหวัดอยู่ในวัยแรงงานกว่าร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่พบว่ายังมีปัญหาการว่างงานของประชากร โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ในขณะที่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมนั้นยังขาดแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ/ทักษะเฉพาะทาง
- อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมหลักของจังหวัดพะเยาเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของประชากร โดยจากข้อมูลพบว่า ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆ รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ผลิตประกอบธุรกิจโรงสีเป็นส่วนใหญ่ (การผลิตระดับต้นน้ำ) และเมื่อพิจารณาระดับการผลิตพบว่า ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารส่วนมาก เป็นระดับการผลิตในรูปแบบ OTOP และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งยังขาดกระบวนการในการวิจัย พัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีที่เอื้อต่อประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีมูลค่าไม่สูง
- มาตรฐานการผลิตและสินค้า จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งสามารถเห็นได้จากข้อมูลสินค้ากลุ่ม OTOP และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีส่วนแบ่งหลักเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นๆ ของจังหวัด อย่างไรก็ตาม การจะยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่การแข่งขันได้และมีความยั่งยืนต้องมีการพัฒนาและนำระบบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ เข้าไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้การยอมรับ นอกจากนั้น ภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าในจังหวัดพะเยายังต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การสร้าง brand หรือการสร้าง อัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น เป็นต้น
- ตลาดและช่องทางจำหน่าย ถึงแม้จังหวัดพะเยาจะมีศักยภาพเชิงพื้นที่ เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว ซึ่งหากสามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรได้ ก็จะช่วยยกระดับการค้าและการลงทุนให้สูงขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดพะเยายังมีพื้นที่เหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภูมิภาคและสามารถกระจายสินค้าทางรถไปยังกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการขนส่งภายในจังหวัดที่ยังเป็นปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ของสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร
(2) ความต้องการและแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดพะเยา
จากการรวบรวมข้อคิดเห็น ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการสัมภาษณ์ การสำรวจ และการเก็บข้อมูลเบื้องต้น สามารถสรุปประเด็นความต้องการและแนวทางการพัฒนาในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
- เทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในจังหวัดพะเยายังขาดกระบวนการในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิต ดังนั้น การให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมกับสภาวการณ์และความพร้อมของผู้ประกอบการจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ได้
- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควรสนับสนุนให้ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพะเยา เช่น ปลาส้มกว๊านพะเยา ผลิตภัณฑ์ข้าวสร้างสุข และกาละแมโบราณเชียงคำ เป็นต้น นอกจากนั้น ควรส่งเสริมการสร้าง Brand/ภาพลักษณ์ ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น
- ระบบและมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของจังหวัดพะเยาสู่การแข่งขันได้และมีความยั่งยืน ต้องมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำระบบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาประยุกต์ใช้ เช่น GAP GMP HACCP อย. และ มผช. เป็นต้น รวมถึงการปรับกระบวนการ/ขั้นตอนในการขอรับรองมาตรฐานต่างๆ ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- การสร้างเครือข่าย จังหวัดพะเยามีความพร้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งได้แก่ เกษตรกร ผู้ผลิต นักวิชาการในสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม พบว่ายังขาดการเชื่อมโยงและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น การสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียจึงจะสามารถ เพิ่มช่องทางการตลาดสินค้า สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดได้
- แรงงาน การผลิตในระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยังขาดแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ/ทักษะ ดังนั้น การให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะเฉพาะทางให้กับแรงงาน จะช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการใช้แรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย จะเป็นส่งเสริมการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย
- ระบบการขนส่งสาธารณะ เพื่อพัฒนาจังหวัดพะเยาให้เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดตามแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งยังต้องได้รับการพัฒนาโดยเร่งด่วนและได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาคอขวดในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอาหาร และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการด้านการส่งเสริมธุรกิจด้านเกษตรและอาหาร รวมถึงการขยายช่องทางการตลาด ดังนั้น การยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวกให้เป็นด่านชายแดนถาวร จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางหนึ่งที่ควรได้รับการพัฒนา
- โครงการและงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ จากยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาจังหวัดพะเยาซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรของจังหวัดพะเยาให้เป็นเกษตรปลอดภัยและแข่งขันได้ อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกิน ระบบการบริหารจัดการน้ำ และการส่งเสริมทักษะอาชีพ ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนโครงการและงบประมาณในด้านต่างๆ เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น