จังหวัดน่านมีพื้นที่ 7,581,035.02 ไร่ พื้นที่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นระยะทาง 277 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุด และเป็นจุดผ่อนปรน 3 จุด คือ 1) จุดผ่านแดนถาวร บ้านห้วยโก๋น ต้าบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งตรงกับเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว 2) จุดผ่อนปรนบ้านใหม่ชายแดน ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ซึ่งตรงกับช่องทางบ้านเตสอง เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และ 3) จุดผ่อนปรนบ้านห้วยสะแตง ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ซึ่งตรงกับช่องทางบ้านป่าหว้าน เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว มูลค่าสินค้าการค้าชายแดนของจังหวัดน่านตามประเภทของสินค้าแสดงดังตารางที่ 45
ตารางที่ 45 สินค้านำเข้าและส่งออกหลักของจังหวัดน่าน ปีงบประมาณ 2557
ลำดับ | ส่งออก | ขาเข้า | ||
รายการสินค้า | มูลค่า (ล้านบาท) | รายการสินค้า | มูลค่า (ล้านบาท) | |
1 | น้ำมันปิโตรเลียม | 2,130.73 | ไม้แปรรูป | 7.86 |
2 | เหล็กโครงสร้าง | 658.28 | ลูกเดือย | 4.78 |
3 | เหล็กเส้น | 368.50 | ลูกต๋าว | 4.70 |
4 | ปูนซีเมนต์ | 165.30 | ดอกหญ้าทำไม้กวาด | 4.16 |
5 | ตู้ควบคุมกระแสไฟฟ้า | 122.84 | ผ้าทอทำด้วยฝ้าย | 1.63 |
6 | รถบรรทุกสิบล้อ | 118.00 | เศษเหล็ก | 1.05 |
7 | โครงสร้างเหล็กเครื่องบดถ่านหิน | 78.65 | ขิงสด | 1.47 |
8 | อลูมิเนียมเส้น | 76.04 | ปอสา | 0.92 |
9 | แผ่นฝ้า | 69.58 | เครื่องเกรดดิน | 0.20 |
10 | โครงสร้างเหล็ก | 62.84 | เศษกระดาษ | 0.15 |
ที่มา: ด่านศุลกากรทุ่งช้าง
ด้านสังคม
จังหวัดน่านมีประชากร ณ เดือน ธันวาคม 2558 จำนวน 479,518 คน เป็นชาย 241,282 คน คิดเป็นร้อยละ 50.31 เป็นหญิง 238,236 คนคิดเป็นร้อยละ 49.69 ความหนาแน่นของประชากรในจังหวัดน่านเบาบางเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (ประมาณ 41 คน ต่อตารางกิโลเมตร) มีชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ คนเมือง คนไทลื้อ คนไทพวน คนไทเขินและคนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ เช่น ชาวม้ง เมี้ยน ลัวะ ขมุ และชาวตองเหลือง
จังหวัดน่านได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมซึ่งมีมนต์เสน่ห์แตกต่างจากจังหวัดอื่น ทำให้มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางโบราณสถานประวัติศาสตร์ เช่น วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน วัดมิ่งเมือง หมู่บ้านไทยลื้อ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัฒนธรรมประเพณี เช่น งานประเพณีหกเป็งไหว้พระบรมธาตุแช่แห้ง งานประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น โดยจังหวัดน่านมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงทำให้จังหวัดน่านมีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยมีวนอุทยาน 1 แห่ง คือ วนอุทยานแห่งชาติถ้ำผาตูบ มีอุทยาน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน และอุทยานแห่งชาติขุนน่าน นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตกศิลาเพชร น้ำตกต้นทอง บ่อเกลือสินเธาว์ จึงทำให้จังหวัดน่านเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม และความสงบสุข
สภาวะแวดล้อมและปัจจัยภายใน (จุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา) และปัจจัยภายนอก (โอกาส ข้อจำกัด)
จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์และศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดน่าน และนำเอาข้อมูลเชิงประจักษ์มาวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา โอกาส และอุปสรรค สรุปได้ดังแสดงในตารางที่ 46
ตารางที่ 46 ปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดน่าน
ปัจจัยภายใน | ปัจจัยภายนอก | ||
จุดแข็ง | จุดที่ควรพัฒนา | โอกาส | ข้อจำกัด |
1. มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในจังหวัด เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น 2. เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ลิ้นจี่ ชา กาแฟ 3. สามารถใช้แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของจังหวัดเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารได้
| 1. ภูมิประเทศเป็นภูเขาทำให้มีพื้นที่ราบสำหรับเพาะปลูกน้อย 2. ภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และระบบผังเมืองยังไม่ชัดเจน 3. ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุน 4. การผลิตในระดับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการผลิตขั้นต้นเพื่อส่งสินค้าไปแปรรูปต่อในจังหวัดอื่น | 1. มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้ 2. มียุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน พ.ศ. 2559 – 2564 3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ OTOP ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 4. จังหวัดน่านมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ | 1. เส้นทางคมนาคมขนส่งไม่สะดวกต่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นภูเขา 2. ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม |